C (ชุดที่ 1) - CREATINE KINASE (CK)

        เป็นเอนไซม์ที่พบเป็นส่วนใหญ่ในกล้ามเนื้อลาย กล้ามเนื้อหัวใจและสมอง  สำหรับผู้ที่ไม่รู้เคมีเอนไซม์เป็นสารที่อยู่ในเซลล์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสารอื่นโดยตัวมันเองไม่เปลี่ยน ทั้งกล้ามเนื้อลาย หัวใจและสมองเป็นอวัยวะที่ต้องใช้พลังงาน adenosine triphosphate หรือ ATP อย่างรวดเร็วโดยพึ่ง ATP ที่สังเคราะห์จากการย้ายหมู่ phosphate จาก Creatine phosphate ไปยัง adenosine diphosphate หรือ ADP โดยปฏิกิริยาที่เร่งโดยเอนไซม์ CK จะหวังพึ่ง ATP
ที่ได้จากการเติมออกซิเจน (oxidation) เข้าอาหารโดยผ่านปฏิกิริยาหลายขั้นตอนซึ่งเป็นกระบวนการที่ช้าคงไม่ทันการ

        CK ในกล้ามเนื้อลาย กล้ามเนื้อหัวใจและสมองมีลักษณะต่างกันแต่มีคุณสมบัติและหน้าที่เหมือนกันจึงเรียก
ไอโซเอนไซม์ (isoenzyme)   CK ทุกตัวประกอบด้วย polypeptide 2 เส้น  ในกล้ามเนื้อลายโซ่ทั้งสองคล้ายคลึงกันเรียกว่า โซ่เอ็ม (M)  CK เอนไซม์ในกล้ามเนื้อลายจึงเรียก MM ในสมองเรียก BB   ส่วนในกล้ามเนื้อหัวใจเรียก MB (โซ่หนึ่งเส้น
เป็น M  อีกเส้นเป็น B)

        ซีรั่มคนปกติจะมี CK-MM เล็กน้อยแต่ไม่มี CK-BB หรือ CK-MB เลย  ระดับ CK ในกล้ามเนื้อลายสูงกว่าในกล้ามเนื้อหัวใจ 10 เท่า  ในภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและกล้ามเนื้อบางส่วนเสีย  ระดับ CKMB ในซีรั่มจะสูงขึ้นภายใน 4 ชั่วโมง สูงสุดในเวลาอันสั้น และกลับสู่ระดับปกติภายใน 72 ชั่วโมง

        การตรวจหาระดับ CK ในซีรั่มที่มาจากกล้ามเนื้อลายเป็นประโยชน์มากในการวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อชนิดต่างๆ  เช่น
โรคกล้ามเนื้อจากพันธุกรรม (Muscular Dystrophy)  และโรคกล้ามเนื้ออักเสบ (Polymyositis)  กล้ามเนื้อผิดปกติ (myopathy) จากสาเหตุต่างๆ เช่นจากยา อาทิ statin จากโรคพร่องฮอร์โมนไทรอยด์  จากโรคบาดทะยัก แม้กระทั่งโรคที่พบยาก เช่น neuroacanthocytosis และ Macleod syndrome

        ในคนปกติหลังออกเล่นกีฬาที่ต้องออกแรงหนัก เช่น ตีกรรเชียงเรือ หรือเล่นรักบี้ ระดับ CK ในเลือดสูงขึ้นได้บ้าง  
ถ้ากล้ามเนื้อลายบาดเจ็บแม้กระทั่งจากการฉีดยาเข้ากล้าม CK ก็สูงผิดปกติได้แต่ไม่สูงเหมือนในภาวะ rhabdomyolysis หรือในภาวะที่เรียก malignant hyperthermia


แนะนำเอกสาร
1.  Percy ME, Thompson MW.  Creatine  kinase - no phospho please.  Muscle Nerve  1981; 4: 271-73.
2.  Walker RH, Peters JJ, Jung HH, Danek A.  Diagnostic evaluation of clinically normal subjects with
     chronic hyperCKemia.  Neurology  2007; 68: 535-36.

3.  Vejjajiva  A, Teasdale GM.  Serum creatine kinase and physical exercise.  Br Med J  1965; 1: 1653-54. 

 

[ back ]