ใช้ภาษาไทยดีกว่า

 ใช้ภาษาไทยดีกว่า

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การเขียนทับศัพท์ภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการเพิ่มมากขึ้นถึงแม้   
รัฐบาลรักษาความสงบแห่งชาติ (ค.ส.ช.) ที่มีความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ก็กลับใช้คำขวัญเป็น     
ภาษาอื่น  ผู้เขียนขอยกตัวอย่าง 2 คำที่ผู้นำประเทศใช้  1) smart city  2) start up ในที่ประชุม  
สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา เมื่อเร็ว ๆ นี้ผู้เขียนลองเสนอคำภาษาไทยเพื่อถามความเห็นของ
ราชบัณฑิตและภาคีสมาชิกในสำนักฯ พิจารณาแทนคำ “smart” ว่า แจ๋ว แจ่มหรือเจ๋ง ซึ่งทั้ง 3 คำ   
เป็นคำไทยในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 โดย

แจ๋ว  หมายถึง  มีเสียงดังกังวาน แจ่มชัด ใสมาก เช่น น้ำใสแจ๋ว
         และ แจ๋วแหวว  คือ  มีประกายสดใส
แจ่ม  คือ  กระจ่าง ไม่มัวหมอง
เจ๋ง  คือ  ยอดเยี่ยม ดีเลิศ  

ส่วนคำภาษาอังกฤษ  smart (สฺมาทฺ) พจนานุกรมที่ผู้เขียนใช้เป็นประจำ แปลว่า แต่งตัวดี      
ดูใหม่ สะอาด โก้เก๋ แต่งตัวตามสมัยนิยม ฉลาด มีความสามารถ หลักแหลม มีไหวพริบดี และยังมี 
ความหมายว่า ฉลาดแกมโกง เร็ว คล่องแคล่ว รุนแรงหรือเจ็บปวดมากก็ได้ !

คำ city คือ เมืองใหญ่ มหานคร  ซึ่งในประเทศอังกฤษ คือ เมืองที่มีมหาวิหาร (cathedral)
หรือวิหาร (Abbey) ที่มีหลายอาคารและมีบาทหลวงหรือแม่ชีประจำอยู่ด้วย  ส่วนคำ town คือ     
เมืองที่ไม่มีมหาวิหารเหล่านั้น มีสื่อมวลชนใช้ “เมืองอัจฉริยะ”บ้าง  ที่จริงถ้าใช้คำที่มาจาก            
ภาษาสันสกฤต “อัศจรรย์” ชาวบ้านอาจจะเข้าใจง่ายกว่าแต่การใช้เรียก smart money ว่าเงินอัจฉริยะ
ให้ระวัง

ในที่ประชุมสำนักฯ มีราชบัณฑิต ภาคีสมาชิกและบุคคลภายนอกที่สนใจเมื่อทราบได้ติดต่อ  
ร่วมสนุกด้วยเป็นจำนวนมากเสนอใช้ว่า “เมืองสมัยใหม่”(ศ. ดร.ชิดชนก สินเหลือทรัพย์ ราชบัณฑิต) 
เมืองทันสมัย  เมืองสมัยนิยม  เมืองนำสมัย  เมืองล้ำสมัย  เมืองเลิศ  เมืองยุคเลิศ  เมืองล้ำยุค     
เมืองฉลาดล้ำและเมืองอัศจรรย์ (ศ. นพ.สมพล พงศ์ไทย ราชบัณฑิต เสนอให้เลือก !) เมืองเท่       
(ศ. ดร. นพ.สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิต และ ศ. พญ.เยาวลักษณ์ สุขธนะ มหิดล)  เมืองแจ่ม         
(ศ. ดร. นพ.วิศิษฏ์ สิตปรีชา ราชบัณฑิต)  เมืองเก่ง (รศ. ดร.วงจันทร์ วงศ์แก้ว ภาคีสมาชิก)       
เมืองฉลาด (ศ. นพ.สุรพล อิสรไกรศีล ราชบัณฑิต) เมืองอัจฉริยะ (ศ. นพ.บูรณะ ชวลิตธำรง ราชบัณฑิต) 
และ เมืองเจ๋ง (นายอภิสิทธิ์ ว. นักการเมือง) ทั้งหมดล้วนแต่เป็นคำไทยแท้

เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ผู้เขียนเคยเป็นประธานการประชุมของราชบัณฑิตทั้ง 3 สำนัก พิจารณา
คำภาษาไทยเพื่อใช้หมายถึง “โทรศัพท์มือถือ” ราชบัณฑิตนักภาษาศาสตร์บางคนยืนกรานไม่รับคำ 
“มือถือ” และว่าถ้าไม่ใช้มือถือแล้วจะใช้อะไรถือ !จำได้ว่าผู้เขียนได้ขอให้งามพรรณ (บุตรสาว) 
นักเขียน ลองศึกษาดู เธอพบว่าทุกประเทศในกลุ่มอาเซียนจะใช้คำในภาษาของตนที่มีคำภาษาอังกฤษ 
“phone” อ่าน (ฟอน, ฟน, โฟน ฯลฯ) มีเพียงคนไทยเรา (ชาวบ้าน) เรียกกันว่า “มือถือ” กันอยู่แล้ว         
กรมหมื่นนราธิปพงษ์ประพันธ์ นายกราชบัณฑิตยสถานคนแรกและเป็นเอตทัคคะในเรื่อง              
การบัญญัติศัพท์ ทรงกล่าวไว้ว่า คำใดถ้าชาวบ้านทั่วไปเขาใช้อยู่และนิยมใช้ก็ควรเอาตามนั้น ผมอ้าง  
ในที่ประชุมดังนั้นคำ “มือถือ” จึงเป็นที่ยอมรับและใช้กันมาจนทุกวันนี้ !

เมื่อวันภาษาไทยแห่งชาติ 29 กรกฎาคม 2544 ขณะดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสถาน 
ผู้เขียนได้รับเชิญไปให้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ภาษาไทย คือ หัวใจของชาติ” จากคณะกรรมการจัดงาน  
วันภาษาไทยแห่งชาติ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งดังนี้                  
“ทุกคนคงทราบดีว่าในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ความเจริญก้าวหน้าทางด้านโทรคมนาคมและ         
ทางเทคโนโลยีสารสนเทศมีส่วนทำให้การติดต่อระหว่างกันในโลกมีมากขึ้น กระแสโลกาภิวัตน์ดังกล่าว
ทำให้คนเกือบทั้งหมดในโลกนี้จำเป็นต้องใช้ภาษาสากล คือ ภาษาอังกฤษ และแน่นอนเพราะเหตุนี้จึงมี
ผลกระทบต่อภาษาต่าง ๆ ในโลกรวมทั้งภาษาไทยของเรา ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะความสะดวก 
ความรวดเร็วนั่นเอง คนไทยที่ติดต่อและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศจึงใช้คำภาษาอังกฤษปนกับภาษาไทย 
แต่ก็มีคนไทยเป็นจำนวนไม่น้อยมีค่านิยมที่ผิดคิดว่าการใช้ภาษาอังกฤษแสดงออกถึงการมีการศึกษาสูง
เช่นเดียวกับคนชาติอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก”  นักภาษาศาสตร์ชาวออสเตรเลียผู้หนึ่งถึงกับกล่าวไว้ว่า 
“ที่ออสเตรเลียก่อนที่จะมีชาวตะวันตกหรือชาวยุโรปไปตั้งรกรากถิ่นฐานที่นั่นมีภาษาท้องถิ่นที่พูดกันอยู่
ประมาณ 250 ภาษา แต่ในปัจจุบัน 200 ภาษานั้นสูญหายไปแล้ว”ในโลกนี้ภาษาที่มนุษย์พูดใช้กันอยู่มี
ประมาณ 10,000 ภาษา นักภาษาศาสตร์ท่านนั้นกล่าวว่าอีกประมาณ 100 ปีข้างหน้าภาษาเหล่านั้น   
จะสูญหายไปหมด คงจะเหลือเพียง 5 หรือ 6 ภาษาเท่านั้น ภาษาที่น่าจะเหลืออยู่ ได้แก่ ภาษาอังกฤษ 
สเปน เยอรมัน ฝรั่งเศส จีนกลางและบางทีอาจจะมีภาษาบาร์ฮาซาเหลืออยู่ด้วย !

ส่วนคำ start-up ยังไม่ได้อภิปรายกัน เพียงคำ start (สฺทาทฺ) ก็มีความหมายหลายอย่างแล้ว  
หมายถึง ออกเดินทาง เริ่ม เริ่มต้น ทำให้เริ่ม ตั้งต้น ติดเครื่องรถ สะดุ้งตกใจ กระโดด เกิดหรือ   
ปรากฏขึ้นอย่างฉับพลัน แยกออก ปริออก  ส่วน start-up คือ ลุกหรือกระโดดขึ้นอย่างเร็ว เริ่มเกิดขึ้น
ในยุคเทคโนโลยีเชิงเลข (ดิจิทัล) ทำให้สิ่งที่เริ่มขึ้นกระจายไปทั่ว คณะผู้นำประเทศที่ใช้คำนี้ 
ท่านหมายถึงอะไร? ถ้าท่านไม่แน่ใจหรือไม่ทราบภาษาไทยคงหายนะแน่ !

จะรู้จริงหรือไม่รู้จริง เลิกใช้คำทับศัพท์แบบนั้นแล้วหันมาใช้ภาษาไทยดีกว่า ยืนยัน             
(ไม่ใช้คอนเฟิร์ม) นะครับ !

แนะนำเอกสาร
1)  พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2556

2)  จุฬาฯ พจนานุกรม  พจนานุกรม อังกฤษ-ไทย  ม.ร.ว. สฤษดิคุณ กิติยากร พิมพ์ครั้งที่ 4        
     (ฉบับปรับปรุงใหม่) พ.ศ. 2550

3)  อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ  การบรรยายพิเศษเรื่อง ภาษาไทย คือ หัวใจของชาติ คณะกรรมการรณรงค์
     เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิมพ์เผยแพร่เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ
     29 กรกฎาคม 2545

 

[ back ]