Autism

Autism

        ประวัติของออทิซึมเริ่มขึ้นโดยบังเอิญ ในปี ค.ศ. 1943 ลีโอ คานเนอร์ (Leo Kanner, ค.ศ. 1894-1981)
จิตแพทย์เด็กชาวออสเตรียที่แปลงสัญชาติเป็นอเมริกัน จากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ บาลติมอร์สหรัฐอเมริกา
สังเกตเด็กหลายคนมีอาการผิดปกติซึ่งเขาใช้คำ “early infantile autism  ที่สำคัญในเด็กทุกรายก็คือ ติดต่อด้วย
ไม่ได้ (contact disorder) ในปีเดียวกัน ฮันส์ อัสแพร์เกอร์ (Hans Asperger, ค.ศ. 1906-1980) กุมารแพทย์
ที่เวียนนา ออสเตรีย รายงานผลการศึกษาวิจัยของเขา โดยทั้งสองคนไม่เคยพบกัน ทั้งคู่ขอยืมคำ “ออทิซึม”
ที่จิตแพทย์ชาวสวิส เพาล์ ออยเกน บลอยเลอร์ (Paul Eugen Bleuler, ค.ศ. 1857-1939) ใช้  เด็กที่คานเนอร์และ   
อัสแพร์เกอร์ศึกษามีลักษณะอาการคล้ายกันจนแม้ในปัจจุบันแพทย์เป็นจำนวนไม่น้อยยังสงสัยว่าเป็นโรคเดียวกัน

        ราชบัณฑิตยสภาไทยบัญญัติคำ autism ว่า ภาวะอัตตาวรณ์ แต่คำนี้ไม่ “ติดตลาด” ผู้เขียนสันนิษฐานว่า
คนทั่วไปรวมทั้งผู้รู้คิดถึงคำ “อาวรณ์” ที่เป็นคำกริยาที่หมายถึง ห่วงใย อาลัย คิดกังวลถึงซึ่งเด็กที่มีภาวะนี้คงไม่มี
ความรู้สึกเช่นนั้นแน่ แต่ถ้าดูคำ “อาวรณ์” เป็น นาม (ซึ่งน่าจะเป็นเช่นนั้นมากกว่าเพราะเอามาสนธิกับ “อัตตา”)
หมายถึง เครื่องกัน เครื่องกำบัง ก็จะเข้าได้ดีกับภาวะนี้

        ผู้เขียนจะขอเริ่มด้วยการเล่าประวัติเด็กชายซี.บี. (C.B.) อายุ 15 ปีที่มีปัญหาทางพฤติกรรมมานาน
เขามีสติปัญญาดี เก่งเลขคณิตเสียด้วยซ้ำ แต่ข้อเสียของเขาก็คือ ขาดการหยั่งรู้ ความรู้สึก อารมณ์และเจตนา
ของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันหรือผู้ใหญ่รอบข้าง ทำให้บางครั้งเขามีข้อขัดแย้งกับเพื่อน
เขาขาดอารมณ์ขัน ความประพฤติของเขาเป็นคนเอาจริงเอาจังและเป็น “พิธีการ” มาก เช่น เขาจะกินอาหาร
เมื่อสิ่งที่อยู่ในจานจัดมาไม่ติดกัน  สีของสิ่งต่าง ๆ มีความหมายและทำให้เกิดอารมณ์มาก เช่น สิ่งสีแดงจะดี
ในขณะที่เหลืองหรือสีน้ำตาลเลวหมด ทำให้เขาไม่ยอมรับประทานขนมปังสีน้ำตาล ของรอบตัวจะต้องอยู่คงที่
ถ้าใครขยับหรือเปลี่ยนที่โต๊ะหรือเก้าอี้ก็จะรีบจัดให้เหมือนเดิม เป็นต้น
 
        เรื่องที่เล่าไม่ใช่ประวัติผู้ป่วยของคานเนอร์หรืออัสแพร์เกอร์ แต่เป็นตัวละครในนวนิยายของนักเขียน
ชาวอังกฤษ มาร์ค แฮดดอน (Mark Haddon, ค.ศ. 1962-) เรื่อง The Curious Incident of the Dog in the
Night-time ซึ่งเป็นหนังสือที่เป็นที่นิยมในโลกตะวันตก ผู้เขียนเรื่องนี้สามารถถ่ายทอดเด็กที่มีอาการดังที่
อัสแพร์เกอร์บันทึกเกี่ยวกับผู้ป่วยของเขาไว้

        นักวิจัยในอดีตที่มักอ้างว่าคานเนอร์และอัสแพร์เกอร์พบกลุ่มอาการของโรคนี้เป็น 2 โรคที่ต่างกัน
มักจะชี้ไปที่ลักษณะอาการที่ ฟาน ครีเวเลน (Van Krevelen, ค.ศ. 1914-2001) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1971 บรรยายไว้
โดยไม่เอ่ยชื่อเขา  ครีเวเลนเป็นจิตแพทย์ชาวดัทช์ผู้ใช้ชื่อ “กลุ่มอาการอัสแพร์เกอร์” เป็นคนแรกแต่ไม่มีใครยอมรับ
ในเวลานั้น  เด็กที่คานเนอร์รายงานไว้เป็นเด็กเล็กอายุไม่กี่เดือน เด็กไม่พูด ส่วนที่อัสแพร์เกอร์รายงานสังเกตได้
เมื่ออายุ 2-3 ขวบโดยเด็กเดินได้ก่อนพูด เมื่อพูดจะเป็นการสื่อความข้างเดียว เลือกใช้คำที่ติดจะโบราณและ
เหมือนผู้คงแก่เรียนพูด จนบางครั้งแพทย์ผู้ฟังล้อว่าเป็นยุวศาสตราจารย์ (Little Professor)  ส่วนเรื่องการสบตา
(eye contact) คนไข้เด็กของคานเนอร์ทำดูประหนึ่งว่าคนรอบข้างไม่ได้อยู่ที่นั่น ในขณะที่คนไข้เด็กของอัสแพร์เกอร์
เพียงเลี่ยงการสบตา  ฟาน ครีเวเลน ให้ข้อสังเกตไว้ว่าคนไข้ของคานเนอร์อยู่ในโลกของเขาเองในขณะที่ของ
อัสแพร์เกอร์อยู่ในโลกของเราแต่ในวิถีทางของเขา !

        สิ่งที่ตามมาจากที่กล่าวจะเรียกว่าโชคชะตาก็คงได้  ในขณะที่หลังจากรายงานการศึกษาของคานเนอร์
จิตแพทย์และกุมารแพทย์ในซีกโลกตะวันตกพบเด็กที่มีอาการออทิซึมกันเป็นจำนวนมาก ในขณะที่เกือบจะไม่มี
แพทย์อ้างถึงอัสแพร์เกอร์จนกระทั่ง ค.ศ. 1981 แพทย์หญิงลอร์นา วิง (Lorna Wing, ค.ศ. 1928-2014)
กุมารจิตแพทย์ชาวอังกฤษซึ่งสนใจภาวะนี้มากเพราะบุตรสาวของเธอชื่อ ซูซี (Susie) มีอาการเช่นกันตั้งแต่
อายุ 3 ขวบ เธอเป็นผู้ใช้คำกลุ่มอาการอัสแพร์เกอร์ ทำให้ชื่อติดตลาด นัยว่าเมื่อสิงหาคม ค.ศ. 2004
จำนวนผู้ค้นหาโรคนี้มี 183,000 และ 4 ปีต่อมา (สิงหาคม ค.ศ. 2008) จำนวนที่ “ฮิต” มีเกิน 2 ล้าน 5 แสนครั้ง

        ณ วันนี้เชื่อว่ากลุ่มอาการทั้งสองเป็นความผิดปกติทางประสาทชีววิทยาถึงแม้จะยังไม่มีข้อยุติเรื่องสาเหตุ
ของความพิการ

        ในข้อเขียนของอัสแพร์เกอร์เกี่ยวกับเด็กชื่อ เฮลล์มูทธ์ แอล (Hellmuth L) ซึ่งเป็นคนไข้เด็กคนที่ 4
ของเขา  เขาเชื่อว่าอาการบางอย่างของออทิซึมเป็นผลเนื่องจากสมองได้รับการกระทบกระเทือนระหว่างคลอด
ซึ่งไม่พบในผู้ป่วยเด็กสามคนแรก การศึกษาวิจัยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาก็มีผู้พบว่า โดยเฉลี่ยเด็กออทิซึมมีปริมาตร
ของสมองโตกว่าธรรมดา บางรายงานเชื่อว่ามีพื้นฐานทางพันธุกรรม แม่และพ่อมักมีระดับสติปัญญาสูง

        ปัจจุบันแนวคิดเรื่องออทิซึมและอัสแพร์เกอร์เป็นความผิดปกติกลุ่มเดียวกัน (autistic spectrum
disorder, ASD) องค์การอนามัยโลกเชื่อว่า ASD มีความชุก 1 ใน 160 หรือมากกว่าโรคลมชัก เด็กกลุ่มนี้มี
เปลือกสมอง (cerebral cortex) เจริญเร็วกว่าปกติขณะมีอายุ 6 เดือนและ 1 ปี ซึ่งเทคโนโลยีการถ่ายภาพสามารถ
ทำได้และใช้เป็นตัวพยากรณ์การวินิจฉัยถูกต้องถึงร้อยละ 80  กุมารประสาทแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญภาวะจิตตาวรณ์
ในโลกก็มีศาสตราจารย์อิสาแบล ราพิน (Isabelle Rapin, ค.ศ. 1928-2017) แห่งวิทยาลัยแพทยศาสตร์อัลเบิร์ต
ไอน์สไตน์ มหานครนิวยอร์ก  อิสาแบลเกิดที่เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์  พ่อเป็นชาวสวิส แม่เป็นอเมริกัน
อยากเป็นแพทย์ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 10 ขวบ จบแพทย์ที่โลซานน์ และต้องการจะเป็นกุมารประสาทแพทย์จึง
ไปใช้เวลาศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลซาลเปตริเอ (Salpêtrière) และโรงพยาบาลเด็กที่ปารีสด้วย สามีเป็นชาวอเมริกัน
เมื่อฝึกเป็นแพทย์ประจำบ้านและเฟลโลที่สถาบันประสาทวิทยาที่โคลัมเบียจึงได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์ที่นิวยอร์ก
รู้จักคุ้นเคยกับศาสตราจารย์นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วิสุทธิพันธ์ (ค.ศ. 1938-) และเคยเป็นปาฐกคนสำคัญใน
การประชุมกุมารประสาทวิทยาโลก (World Congress of Child Neurology) ที่เชียงใหม่ซึ่งอาจารย์พงษ์ศักดิ์เป็น
ประธานเมื่อ พ.ศ. 2543

        ถ้ามองย้อนหลังแพทย์และผู้สนใจโรคทางระบบประสาทอาจจะให้การวินิจฉัยภาวะนี้ในเด็กและแม้แต่
ผู้ใหญ่ที่สูงอายุ ชราและถึงแก่กรรมไปแล้วได้  ในประเทศไทยแพทย์ที่ผู้เขียนยกย่องว่าเป็นผู้รู้และมีประสบการณ์
เรื่องเด็กออทิสติกเพราะใช้ชีวิตการแพทย์เกือบตลอดชีวิตอุทิศให้เด็กและผู้ใหญ่ภาวะนี้มองเห็นอยู่คนเดียวก็คือ
ศาสตราจารย์พิเศษเพ็ญแข ลิ่มศิลา (พ.ศ. 2480-) แห่งโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ที่สมุทรปราการ
ก็เป็นที่หวังว่าแพทย์รุ่นใหม่และในอนาคตจะมีผู้เสียสละ อุทิศตนเพื่อภาวะนี้เช่นอาจารย์

        เรื่องสำคัญที่ควรทราบอีกเรื่องก็คือ เรื่องทฤษฎีเกี่ยวกับจิตใจ (Theory of Mind, ToM) ซึ่งนักจิตวิทยา
ชาวอังกฤษ ไสมอน บารอน-โคเฮน (Simon Baron-Cohen, ค.ศ. 1958-) เป็นผู้เสนอ  ขณะที่ผู้คนสนใจว่า
ออทิซึมเป็นความผิดปกติของการติดต่อสื่อความ เขาเสนอเพิ่มว่าเด็กออทิสติกไม่มี “จิตใจ” จึงไม่รู้จิตใจของผู้อื่น
อยู่ในสังคมโลกที่ประกอบด้วยคนซึ่งจะไม่เป็น “ฉัน” แต่จะเป็น “เขา” เสมอ  โคเฮนเสนอวิธีช่วยโดยออกแบบ
โปรแกรมอ่านใจ (mind-reading) ซึ่งแพร่หลายใช้อยู่จนทุกวันนี้

        เมื่อเริ่มต้นศตวรรษที่ 21 ที่คลินิกที่ซานโฮเซ แคลิฟอร์เนีย (San Jose, California) สหรัฐอเมริกา
แพทย์พบเด็กที่เป็นกลุ่มอาการอัสแพร์เกอร์มักจะเป็นลูกวิศวกรหรือมีปู่หรือตามีอาชีพทาง STEM
(Science, Technology, Engineering, Mathematics) มักเป็นเด็กที่คงแก่เรียน ไม่เข้าสังคม จึงใช้คำแสลง “geek”
ซึ่งบางคนสันนิษฐานว่ามาจากภาษาดัทช์ (Dutch) แปลว่า บ้าหรือ “บ๊อง” หรือไม่ฉลาดเป็นกลุ่มอาการกี๊ค
(geek syndrome)  คำแสลงอีกคำคือ “nerd” ซึ่งมีใช้ในสหรัฐฯ มาก่อนตั้งแต่ ค.ศ. 1950’s ความหมายเกือบจะ
เหมือน “geek” คนที่มีสติปัญญาแต่ไม่เข้าสังคม อยู่แต่ในโลกของตนเอง ในปัจจุบันก็มักจะหมายถึงโลกไซเบอร์
(cyberspace)  โคเฮนซึ่งเป็นศาสตราจารย์และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยออทิซึม มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
สหราชอาณาจักร มีทีมงานวิจัยในเด็ก หนุ่มสาวอายุเฉลี่ยไม่เกิน 30 ปีเป็นจำนวนมากกว่า 450,000 คน
ศึกษากลุ่มโรคออทิซึม (Autism Spectrum Disorder) โดยวัด Autism Quotient จากคำถาม 50 ข้อว่าผู้ได้รับ
การตรวจมีอาการของออทิซึมหรือไม่ ซึ่งผลพบชายมากกว่าหญิงและในคนที่มีอาชีพทาง STEM  โคเฮนและคณะ
ยังศึกษาพบระดับของ testosterone ในทารกแรกคลอดสูงทำให้มีโอกาสเป็นภาวะนี้มากขึ้น

        เมื่อเร็ว ๆ นี้นักวิจัยชาวนอร์เวย์พบว่า ถ้าแม่มีไวรัส herpes simplex, HSV-2 ที่อวัยวะเพศในระยะเริ่ม
ตั้งครรภ์มีโอกาสที่ลูกจะเป็นออทิสติกมากขึ้นสองเท่า โดยสันนิษฐานว่าการตอบสนองทางอิมมูนต่อเชื้อโรคนี้
ไปกระทบการพัฒนาการของสมองทารก ซึ่งอาจจะอธิบายถึงอุบัติการณ์ 1 ใน 68 คน ในสหรัฐอเมริกาซึ่งพบหญิง
1 ใน 5 คนมี HSV-2 ที่รักษาไม่หาย !


แนะนำเอกสาร
1)  Kanner L.  (1943).  Autistic disturbances of affective contact.  Nerv Child.  2 : 217-250.

2)  Draaisma D.  (2009).  Little professors: Asperger syndrome.  In: Disturbances of the Mind. 
     Translated by Barbara Fasting.  U.K. Cambridge University Press.  Pp. 298-325. 

3)  พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน  (พ.ศ. 2556)  ดู “อาวรณ์”  พิมพ์ที่ บริษัทศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์ จำกัด
     (มหาชน)  กรุงเทพฯ  หน้า 1410 

4)  Haddon M.  (2003).  The Curious Incident of the Dog in the Night-time.  New York.  Doubleday. 
     226 pp. 

5)  Jeste SS, Schor NF.  (2017).  Autism today.  Have we put the cart before the horse? 
     Neurology.  88 : 1303-1304. 

6)  Graf WD, Miller G, Epstein LG, et al.  (2017).  The autism “epidemic”.  Ethical, legal and social
     issues in a developmental spectrum disorder.  Neurology.  88 : 1371-1380.  

7)  van Krevelen AA.  (1971).  Early infantile autism and autistic psychopathy.  J Autism and Childhood
     Schizophrenia.  1 : 82-86.
 
8)  Lorna Wing MD.  (2014).  Obituary.  The Telegraph.  9th June. 

9)  Isabelle Rapin MD.  (2017).  Wikipedia.  May 2017. 
 
10) Mahic M, Mjaaland S, B?velstad HM, et al.  (2017).  Maternal immunoreactivity to Herpes
      Simplex Virus 2 and risk of autism spectrum disorder in male offspring.  mSphere-American Society
      for Microbiology  (Mailman School of Public Health มหาวิทยาลัยโคลัมเบียและสถาบันสาธารณสุข
      แห่งนอร์เวย์) 
 
11) Baron-Cohen S, Leslie AM, Frith U.  (1985).  Does the autistic child have a “theory of mind”? 
      Cognition.  21 : 37-46.

12) Sacks O.  (2001).  Henry Cavendish: an early case of Asperger’s syndrome.  Neurology.  57 : 1347.

13) Fitzgerald M.  (2004).  Autism and Creativity: is there a link between autism in men and exceptional
      ability?  New York, Hove.

14) Buchen L.  (2011).  Scientists and autism: When geeks meet.  Nature.  479 : 25-27.

 

[ back ]