ย้ำคิดย้ำทำ


Obsession & Compulsion  (O&C)


        “ย้ำคิดย้ำทำ” คือ คำแปลเป็นภาษาไทยทางจิตเวชศาสตร์ที่กระชับ กะทัดรัด และคนทั่วไป เข้าใจดี ! 

        ทั่วโลกมักจะมีผู้กล่าวกันว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางประสาทวิทยานั่นแหละมักจะ O&C !

        ผู้เขียนที่เป็นประสาทแพทย์คนหนึ่งเห็นด้วย !  ยังจำได้เพื่อนประสาทแพทย์ชาวอังกฤษว่า ครูของผู้เขียน
ท่านหนึ่งขนาดมัวแต่ง่วนอยู่กับการตรวจผู้ป่วยที่แผนกตรวจผู้ป่วยนอกจนไปโบสถ์ช้าในวันแต่งงานของท่าน !

        ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมักจะมีดีและด้อยหรือ “ไม่ดี” ปนกันไป ถ้ามีปัญญาคิดมีจิตสงบก็เลือกได้  
แต่เมื่อถึงจุดที่ตนเองมีเรื่องคิดเหลวไหล พยายามหยุดแต่เลิกคิดไม่ได้ก็เข้าขั้นเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ 
(Obsessive Compulsive Disorder, OCD) ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นโรคขี้กังวล (Anxiety Disorder) อยู่ในอาณัติ
ของจิตแพทย์

        นักศึกษาแพทย์ทั่วไป และโดยเฉพาะประสาทแพทย์คงอดคิดไม่ได้ว่าแล้วสมองส่วนไหนเล่าที่ทำให้เกิด
กลุ่มอาการทางจิตพิสัยเหล่านี้ ?

        ในช่วงระยะเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ประสาทแพทย์พบผู้ป่วยที่มีอาการพาร์กินสันในผู้ป่วยที่เคยเป็น
โรคสมองอักเสบและมีอาการย้ำคิดย้ำทำจากรอยโรคที่ striatum และยังมีผู้ป่วยกลุ่มอาการยิลล์ เดอ ลา ตูแรตต์ 
(Gilles de la Tourette syndrome)  โรคโคเรียซิดน์แนม (Sydenham’s chorea, SC)  และโรคฮันติงตัน 
(Huntington disease) อีกด้วยที่มี OCD

        ความก้าวหน้าในวิทยาการถ่ายภาพสมองในระดับอณูได้ชี้ให้เห็นความผิดปกติในเปลือกสมองส่วนหน้า
เหนือลูกตา (orbitofrontal cortex) และกลุ่มเซลล์ประสาทคอเดท (caudate) ในผู้ป่วย OCD  ทางด้านประสาทเคมี
ก็พบว่าระบบเซโรโทนิน (serotonin) เป็นตัวการสำคัญ ดังที่ยา clomipramine ซึ่งเป็นยาต้านอาการซึมเศร้ายับยั้ง
การดึงเซโรโทนินกลับเข้าเซลล์ทำให้ผู้ป่วยดีขึ้น  ในขณะที่ปริมาณของสาร 5-hydroxyindoleacetic acid 
ในน้ำหล่อไขสันหลังของผู้ป่วย OCD ก็ลดลงเช่นกัน  นอกจากนี้โดพามีน (dopamine) ซึ่งเป็นสื่อนำประสาท
อีกตัวหนึ่งก็ทำให้อาการ OCD เลวลง

        การค้นพบทางอิมมูนวิทยาเกี่ยวกับระบบประสาทถึงความสัมพันธ์ระหว่าง SC และ OCD ในเด็ก
ทำให้สันนิษฐานว่า ผู้ป่วยด้วยโรคจิตประสาทเหล่านี้ที่เรียก PANDAS (Paediatric Autoimmune Neuropsychiatric
Disorders Associated with Streptococcal infections) เป็นโรคภูมิแพ้ตนเองชนิดหนึ่ง

        ความรู้ใหม่ ๆ ด้านประสาทพันธุกรรม (neurogenetics) ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมากโดยเฉพาะ
โรคระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสันซึ่งมีอาการทางจิตร่วมด้วยโดยเฉพาะอารมณ์หุนหันไม่ยั้งคิด (impulsive) 
และย้ำทำเพราะอดไม่ได้ (compulsive) อาการเหล่านี้พบได้มากในผู้ป่วยพาร์กินสันที่มียีน PRKN โดยเฉพาะ PARK2

        การรักษาผู้ป่วย OCD ด้วยการกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation, DBS) ที่นิวเคลียสใต้ทาลามัส 
(Sub-Thalamic Nucleus, STN) ให้ผลดีมากไม่แพ้การรักษาผู้ป่วยโรคประสาทที่มีโรคเคลื่อนไหวผิดปกติ 
(movement disorder) !
 
 
แนะนำเอกสาร
1)  จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี ฉบับเรียบเรียงครั้งที่ 4  Using DSM 5  มาโนช หล่อตระกูล  ปราโมทย์ สุคนิชย์ 
     บรรณาธิการ  กุมภาพันธ์ 2558  กรุงเทพฯ  ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี 
     มหาวิทยาลัยมหิดล  625 หน้า

2)  Stein DJ.  (2002).  Obsessive-compulsive disorder.  Lancet.  360 : 397-405.

3)  Cheyette SR, Cummings JL.  (1995).  Encephalitis lethargica: lessons for contemporary 
     neuropsychiatry.  J Neuropsych Clin Neurosci.  7 : 125-135. 

4)  Lynch T, Fujioka S.  (2016).  Impulsive and compulsive parkin disease.  87 : 1426-1427.
     
5)  Polosan M, Chabardes S, Bougerol T, et al.  (2016).  Long-term improvement in obsessions and 
     compulsions with subthalamic stimulation.  Neurology.  87 : 1843-1844.

6)  Mallet L, Polosan M, Jaafari N, et al.  (2008).  STOC Study Group.  Subthalamic nucleus stimulation 
     in severe obsessive-compulsive disorder (erratum 2009; 361:1027).  New Engl J Med.  359 : 
     2121-2134. 
 
7)  Krack P, Hariz MI, Baunez C, et al.  (2010).  Deep brain stimulation: from neurology to psychiatry?  
     Trends Neurosci.  33 : 474-484. 

 

[ back ]