Onuf & Perlia

O & P : Onuf & Perlia

        เมื่อเห็น O & P หลายคนจะนึกถึง Oysters & Pearls (หอย & ไข่มุก) แต่ในที่นี้จะพูดถึงโอนุฟ (Onuf)
และเพอเลีย (Perlia) แพทย์ทั้งสองคนที่มีชื่อเป็นอนุสรณ์ในระบบประสาทอยู่นานแต่มีจุดจบต่างกัน !

        นิวเคลียสโอนุฟ (Onuf nucleus) เป็นกลุ่มเซลล์ประสาทในบริเวณด้านหน้าของประสาทไขสันหลัง
บริเวณกระเบนเหน็บปล้องที่ 1-2 หรือ 2-3 (sacral segments) มีหน้าที่ควบคุมท่อปัสสาวะ (urethra) 
ทวารหนัก (anus) และกล้ามเนื้อหดตัวเมื่อมีความรู้สึกเสียวสุดยอดทางเพศ (orgasm)  เซลล์ประสาทสั่งการ
ผ่านเส้นประสาทอวัยวะเพศภายนอก (pudendal nerve)

        เมื่อ ค.ศ. 1899 โบรนิสลาฟ โอนุฟ-โอนุโฟรวิคซ์ (Branislaw Onuf-Onufrowicz, ค.ศ. 1863-1928)
ประสาทแพทย์ชาวรัสเซียค้นพบเซลล์พิสดารนี้ขณะทำงานอยู่ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา  แพทย์ผู้นี้เกิดในรัสเซีย
แต่จบการศึกษาเป็นแพทย์ที่มหาวิทยาลัยซูริก (Zurich) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นศิษย์ของออกุสต์ อองรี
ฟอเรล (Auguste Henri Forel, ค.ศ. 1848-1931) ศาสตราจารย์ประสาทกายวิภาคผู้มีชื่อเสียงและถือกันว่า
เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพศวิทยา (sexologist) ชาวสวิสคนแรก !  โอนุฟเคยดำรงตำแหน่งอุปนายกสมาคม
ประสาทวิทยาแห่งนิวยอร์ก
 
        ประสาทแพทย์ชาติอื่น ๆ ที่สนใจนิวเคลียสโอนุฟโดยเฉพาะในโรค Amyotrophic Lateral Sclerosis (ALS)
ก็มีศาสตราจารย์โยชิโร ยะเส (Yoshiro Yase) เพื่อนของผู้เขียนและเป็นศาสตราจารย์ทางประสาทวิทยา
ที่มหาวิทยาลัยวากายามา (Wakayama) ประเทศญี่ปุ่น  ยะเสและคณะเชื่อว่าในผู้ป่วย ALS นิวเคลียสโอนุฟอาจ
เสื่อมได้แต่การดำเนินของโรคจะช้ากว่าที่เกิดในเซลล์ประสาทสั่งการอื่น ๆ ในประสาทไขสันหลัง  ผู้เขียนขอถือ
โอกาสบันทึกให้ทราบว่าผู้ป่วยด้วย ALS จะไม่เป็นแผลกดทับ (bed sore) ถึงแม้แขนขาจะลีบมากและนอน
อยู่ในเตียงตลอดเวลาเพราะเซลล์ประสาทรับรู้ (sensory neuron) ปกติ  เป็นที่น่าเสียดายที่แพทย์ไม่ค่อยรู้จัก
นิวเคลียสโอนุฟ  ผู้เขียนเคยอ่านตำรายูโรวิทยาของผู้เชี่ยวชาญไทยที่ขอตำแหน่งศาสตราจารย์ ระดับ 11 ก็ไม่เคย
กล่าวถึงชื่อนี้ไว้ !

        เมื่อเขียนถึงนิวเคลียสเพอเลีย (Perlia nucleus) ยิ่งน่าสนใจใหญ่ !

        แพทย์ ประสาทแพทย์รวมทั้งนักกายวิภาคระบบประสาทแต่ไหนแต่ไรมาเชื่อกันว่าลูกตาของคนเรา
ทั้ง 2 ข้างเวลามองเบนเข้า (convergence) อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มเซลล์ประสาทที่มีชื่อว่า นิวเคลียสเพอเลีย
ที่อยู่ในสมองส่วนกลาง (midbrain) ด้านหลัง (dorsal)  ริชาร์ด เพอเลีย เป็นจักษุแพทย์ชาวเยอรมันที่ศึกษาและ
รายงานไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 1889  ทุกคนเชื่อตามนั้นมาตลอดจนศาสตราจารย์นายแพทย์โรเจอร์ วอริกค์
(Roger Warwick, ค.ศ. 1912-1991) ขณะเป็นอาจารย์อาวุโส (senior lecturer) ทางกายวิภาคศาสตร์ที่
มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ได้เวลาศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียดในลิงและเป็นเวลานานกว่า 20 ปี
พบว่าไม่มีกลุ่มเซลล์ประสาทเพอเลีย  เมื่อปี ค.ศ. 1955 โรเจอร์ วอริกค์ ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์
ทางกายวิภาคศาสตร์ที่โรงพยาบาลกายส์ มหาวิทยาลัยลอนดอน ขณะที่ผู้เขียนกำลังเรียนวิชานั้นอยู่พอดีจึงสนิทสนม
กับท่านเพราะศรัทธาอาจารย์ท่านนี้ และนายแพทย์ปีเตอร์ แอล วิลเลียมส์ (Peter L. Williams, ค.ศ. 1926-1994)
ซึ่งขณะนั้นเป็นอาจารย์ผู้ช่วย  วิลเลียมส์เรียนปรีคลินิกจากวิทยาลัยเซนต์แคทรีน มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
แล้วมาจบแพทยศาสตร์ที่กายส์ เป็นอาจารย์ที่สอนดีมาก ทั้งสองคนต่อมาเป็นบรรณาธิการและบรรณาธิการร่วม
ของตำรา Gray’s Anatomy ที่โด่งดัง เมื่อพิมพ์ครั้งที่ 35 36 และ 37  ต่อมาปีเตอร์ วิลเลียมส์ ได้เป็น
ศาสตราจารย์และหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ที่กายส์ และเป็นแพทย์ผู้มีชื่อเสียงมากเช่นกัน 
ตำรากายวิภาคศาสตร์ที่ว่านี้นายแพทย์เฮนรี เกรย์ (ค.ศ. 1827-1861) และเพื่อนแพทย์ผู้เขียนภาพประกอบ
ชื่อ เฮนรี แวนไดค์ คาร์เตอร์ (Henry Vandyke Carter, ค.ศ. 1831-1897) ร่วมกันจัดทำเป็นครั้งแรก
เมื่อ ค.ศ. 1858 เฮนรี เกรย์ อายุสั้นเสียชีวิตด้วยฝีดาษ  และปัจจุบันเป็นการพิมพ์ครั้งที่ 41 เมื่อ ค.ศ. 2015


แนะนำเอกสาร
1)  Onufrowicz B.  (1899).  Notes on the arrangement and function of the cell groups of the sacral region
     of the spinal cord.  J Nerv Men Dis.  26 : 498-504. 

2)  Mannen T.  (2000).  Neuropathological findings of Onuf’s nucleus and its significance. 
     Neuropathology.  20 : S30-S33.

3)  Kihira T, Yoshida S, Yoshimasu F, Wakayama I, Yase Y.  (1997).  Onuf’s nucleus is frequently
     involved in motor neuron disease/amyotrophic lateral sclerosis.  J Neurol Sci.  129 : 141-146.

4)  Fowler CJ.  (1999).  Neurology of Bladder, Bowel and Sexual Dysfunction.  Blue Book of Practical
     Neurology Vol 23.  Second Edition.  Butterworth-Heinemann, USA.

5)  Warwick R.  (1955).  The so-called nucleus of convergence.  Brain.  78 : 92-114.

6)  Warwick R.  (1956).  Oculomotor organisation.  Brain.  79 : 36-52.

7)  Bowden REM.  (1992).  Obituary.  Professor Roger Warwick (1912-1991).  J Anat. 
     180 : 553-554.

8)  Obituary Professor Peter Williams (1926-1994).  The Independent.  Monday 10 October 1994.

9)  Pearce JMS.  (2009).  Henry Gray’s Anatomy.  Clinical Anatomy United States.  22 : 291-295.

 

[ back ]