Sarcopenia

Sarcopenia

        ภาวะกล้ามเนื้อพร่องได้รับความสนใจจากแพทย์มากขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยกว่าแต่ก่อน
เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น

        ปกติเมื่อเด็กเจริญเติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาว กล้ามเนื้อจะมากขึ้นและแข็งแกร่งจนอายุ 30 ปีและ
เริ่มน้อยลงหลังอายุ 50 ปี โดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 0.5-1 ต่อปี ภาวะนี้เป็น “โรค” ผู้สูงอายุและอาจเกิดขึ้นเอง
โดยไม่มีโรคร้าย เช่น มะเร็ง

        เกณฑ์การวินิจฉัยภาวะนี้จำเป็นมากในเวชปฏิบัติ ขั้นตอนในการคำนวณโดยกลุ่มผู้ศึกษาวิจัย
สำหรับผู้สูงอายุในยุโรปเมื่อ ค.ศ. 2010 ถือเอาระยะเวลาในท่าเดินช้าหรือแรงบีบด้วยมือ  และจากการศึกษา
ในสหราชอาณาจักรเมื่อ ค.ศ. 2013 พบชายร้อยละ 4.6  หญิงร้อยละ 7.9 อายุเฉลี่ย 67 ปี  ที่มีภาวะ
กล้ามเนื้อพร่องมีจำนวนเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น  ในประเทศไทย รองศาสตราจารย์ ดร. พงษ์จันทร์ อยู่แพทย์
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
ในผู้สูงอายุสามช่วงอายุคือ 50-59 ปี  60-69 ปี และมากกว่า 70 ปี  ชายและหญิงจำนวน 477 คน
โดยให้กลุ่มตัวอย่างออกแรงกำมือผ่านเครื่องวัดแรงบีบมือทั้งข้างซ้ายและขวาในท่าแขนเหยียดตรงข้างลำตัว
พบว่าค่าแรงบีบมือจะลดลงอย่างมากเมื่ออายุกว่า 70 ปี  อัตราการลดลงของค่าแรงบีบมือข้างขวาจากช่วงอายุ
50-59 ปีถึงช่วงอายุ 60-69 ปี มีค่าลดลงร้อยละ 10-15 และจากช่วงอายุ 60-69 ปีถึงช่วงอายุมากกว่า 70 ปี
ค่าแรงบีบมือลดลงร้อยละ 15-40

        ในกล้ามเนื้อลายของคนปกติจะมีเซลล์ที่มีนิวเคลียสเดียวเล็ก ๆ อยู่เป็นเซลล์บริวารเชื่อมใยกล้ามเนื้อ
ซึ่งเมื่อเวลามีการบาดเจ็บหรือเวลาออกกำลังกายจะถูกกระตุ้น และเซลล์เหล่านั้นจะเปลี่ยนและหลอมเป็น
ใยกล้ามเนื้อเพื่อรักษาหน้าที่ไว้อย่างเดิม ภาวะกล้ามเนื้อพร่องส่วนหนึ่งเกิดจากเซลล์บริวารเหล่านั้นไม่ทำงาน

        คนที่น้ำหนักตัวแรกเกิดน้อยซึ่งเป็นตัวชี้วัดถึงภาวะสิ่งแวดล้อมแรกเริ่มไม่ดีก็มีโอกาสมี
ภาวะกล้ามเนื้อพร่องเมื่ออายุมากบ่อยขึ้น

        การบำบัดรักษาเพื่อช่วยผู้สูงอายุเหล่านี้ที่มีการศึกษากันมาก ได้แก่ การฝึกออกกำลังกายและ
การให้อาหารซึ่งประกอบด้วยโปรตีน วิตามิน D และสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants)  ผู้สูงอายุควรบริโภค
โปรตีนวันละ 1.2-1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมและกรดอมิโน ลิวซีน (leucine)  อาจช่วยร่างกาย
สังเคราะห์โปรตีน

        จนถึงปัจจุบันยังไม่มียาที่เป็นที่ยอมรับที่แนะนำให้ใช้รักษาภาวะกล้ามเนื้อพร่อง การใช้ Growth
Hormone (GH) เพิ่มมวลกล้ามเนื้อจริงแต่ไม่แน่ชัดว่าได้ผลเช่นเดียวกับ Testosterone ซึ่งเพิ่มทั้งมวลและพลัง
กล้ามเนื้อแต่มีผลเสียต่อหัวใจและหลอดเลือด  ยาห้ามเอนไซม์เปลี่ยน angiotensin เช่น ยา perindopril อาจช่วย
เพิ่มสมรรถนะได้แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป  และล่าสุดมีรายงานว่าสารเบต้า-ไฮดรอกซี-เบต้า-เมทิลบิวทีเรต
ซึ่งเป็น metabolite ของกรดอมิโน ลิวซีน ก็ได้ผลดีและ เป็นสารที่ควรได้รับการศึกษาเพิ่มเติม

        เมื่อเขียนถึงภาวะกล้ามเนื้อพร่องแล้วก็เลยถือโอกาสพูดถึงวิทยากล้ามเนื้อเวชกรรม (clinical myology)
ซึ่งเมื่อ ค.ศ. 2009 ที่สหราชอาณาจักรได้มีการรวมตัวของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคกล้ามเนื้อนานาชนิดตั้งสมาคมขึ้น
(British Myology Society, BMS)  ล่าสุดมีการจัดการประชุมเพื่อการสอนเรียก BMS Teaching Day
เมื่อ 6 กันยายน ค.ศ. 2016 ที่วิทยาลัยวูลฟสัน (Wolfson) มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แต่การจัดการของสมาคม
เป็นการรวมตัวกันของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ลอนดอน นิวคาสเซิล ออกซ์ฟอร์ดและสถาบันอื่นในสหราชอาณาจักร 
และเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่าน วารสารประสาทวิทยาของ American Academy of Neurology ได้ตีพิมพ์บทความ
เขียนโดยบรรณาธิการ Robert C. Griggs และประสาทแพทย์ชาวอังกฤษ David Hilton-Jones ซึ่งทั้งสองคนเป็น
ผู้เชี่ยวชาญโรคประสาทและโรคกล้ามเนื้อ สดุดี Lord Walton of Detchant, MD (ค.ศ. 1922-2016) ว่าเป็น
“บิดา” ผู้วางรากฐานวิทยากล้ามเนื้อเวชกรรม  ดร. สมศีล ฌานวังศะ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญภาษาไทย
เป็นราชบัณฑิตที่ผู้เขียนยกย่องนับถือมากแนะนำว่า myology อาจจะลองใช้ภาษาบาลีว่า เปสิวิทยา ซึ่งเหมาะและ
ตรงกว่ามังสวิทยา ต่อไปคำนี้อาจจะ “ติดตลาด” เป็นที่ยอมรับ เช่น ตัจวิทยา (Dermatology) !! 

 
แนะนำเอกสาร
1)  Dodds R, Sayer AA.  (2016).  Sarcopenia and frailty: new challenges for clinical practice. 
     Clinical Medicine.  16 : 455-458.
 
2)  Cruz-Jentoft AJ, Baeyens JP, Bauer JM, et al.  (2010).  Sarcopenia: European consensus on definition
     and diagnosis: Report of the European Working Group on Sarcopenia in Older People.  Age Ageing. 
     39 : 412-423.

3)  Patel HP, Syddall HE, Jameson K, et al.  (2013).  Prevalence of sarcopenia in community-dwelling
     older people in the UK using the European Working Group on Sarcopenia in Older People (EWGSOP)
     definition: findings from the Hertfordshire Cohort Study (HCS).  Age Ageing.  42 : 378-384.

4)  พงษ์จันทร์  อยู่แพทย์ และคณะ  (พ.ศ. 2558)  แรงบีบของผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพและจังหวัดใกล้เคียง 
     วารสารคณะพลศึกษา  18 : 42-52 

5)  Ryall JG, Schertzer JD, Lynch GS.  (2008).  Cellular and molecular mechanisms underlying
     age-related skeletal muscle wasting and weakness.  Biogerontology.  9 : 213-228. 

6)  Wu H, Xia Y, Jiang J, et al.  (2015).  Effect of beta-hydroxy-beta-methylbutyrate supplementation
     on muscle loss in older adults: a systematic review and meta-analysis.  Arch Gerontol Geriatr. 
     61 : 168-175.
 
7)  Griggs RC, Hilton-Jones D.  (2016).  In Memoriam: Lord Walton of Detchant MD (1922-2016). 
     Neurology.  87 : 1196-1197.


 

 

[ back ]