Vitamins

Vitamins

        วิตามินเป็นสารที่จำเป็นต่อชีวิตเพราะร่างกายของมนุษย์ไม่สามารถสังเคราะห์ได้เองพอต้องได้จาก
อาหาร ประวัติศาสตร์จะต้องจดจำชื่อบุคคล 3 คนคือ คริสตียาน ไอก์มัน (Christiaan Eijkman,
ค.ศ. 1858-1930) พยาธิแพทย์ชาวดัชท์  เซอร์ เฟรเดอริค กาวแลนด์ ฮ็อปกินส์ (Sir Frederick Gowland
Hopkins, ค.ศ. 1861-1947) บัณฑิตแพทย์ชาวอังกฤษผู้เกิดที่เมืองอิสต์บอร์น (Eastbourne) เมืองเกิดที่เดียวกับ
ของเทเรซา เมย์ (Theresa May, ค.ศ. 1956-) นายกรัฐมนตรีของอังกฤษคนปัจจุบัน !  ฮ็อปกินส์จบแพทย์ที่กายส์
(Guy’s) ต่อมาสนใจชีวเคมีจึงไปประจำอยู่ที่วิทยาลัยทรินิติ (Trinity College) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ 
และบุคคลที่ 3 นักชีวเคมี คาสิเมอร์ ฟังค์ (Casimir Funk, ค.ศ. 1884-1967) ชาวโพล (Polish) เกิดที่
เมืองวอร์ซอ (Warsaw) แปลงสัญชาติเป็นอังกฤษ  ไอก์มันและฮ็อปกินส์ได้รับรางวัลโนเบลร่วมกันเมื่อ ค.ศ. 1929
ส่วนฟังค์ค่อนข้างอาภัพ เป็นคนตั้งชื่อวิตามิน เป็นคนที่หาโครงสร้างทางอณู (โมเลกุล) ของ thiamin
(และเสนอเอาอีที่ thiamine ออกเพราะสารนี้ไม่มีไนโตรเจนไม่ใช่ amine !) แต่ไม่ใช่คนแรกที่แยก thiamin
จากข้าวกล้อง (unpolished rice) และไม่ได้รางวัลโนเบลด้วย

        ในช่วงระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านที่ผู้เขียนได้เข้าศึกษาแพทย์จนปัจจุบันมีวิตามิน 13 ตัว (A, B1, 2, 3, 5,
6, 7, 9 และ 12, C, D, E, K) ได้มีความก้าวหน้าจากการวิจัยในหลายด้านที่นำมาใช้ประโยชน์ได้มากซึ่ง
ขอกล่าวถึงทีละตัวไป

        วิตามินเอ  
        ผลงานที่เด่นมาจากนายแพทย์อัลเฟรด ซอมเมอร์ (Alfred Sommer, ค.ศ. 1942-) จักษุแพทย์
ชาวอเมริกันผู้ลองใช้วิตามินนี้ในขนาดมากโดยให้เด็กชาวแอฟริกันแต่ให้เพียงปีละ 2 ครั้ง   ก็พบว่าอัตราตาย
ลดลงไปถึง 1 ใน 3 ถึงขนาดธนาคารโลกและ “ความเห็นร่วมโคเปนเฮเกน (Copenhagen Consensus)”
เห็นพ้องกันว่าการให้วิตามินเอเสริมตามที่กล่าวเป็นการแก้ปัญหาสุขภาพที่คุ้มทุนที่สุด (cost-effective) เรื่องหนึ่ง
ในโลก  ซอมเมอร์เกิดที่นครนิวยอร์ก จบแพทย์ที่ฮาร์วาร์ด เป็นจักษุแพทย์อยู่ประมาณ 10 ปีก่อนย้ายมาทำวิจัย
ทางด้านสุขภาวะ เป็นศาสตราจารย์และคณบดีที่มหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮ็อปกินส์ (Johns Hopkins) และเคยได้
รับรางวัลเจ้าฟ้ามหิดลเมื่อ ค.ศ. 1997

        วิตามินบี 1
        ผลงานเด่นและมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อคนไทยและคนในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) คือ รายงานของ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สิรินทร์ โลจายะ (พ.ศ. 2476-) นักชีวเคมีจากมหาวิทยาลัยมหิดล (และคณะ)
ที่พบเอนไซม์ทำลาย thiamin ในปลาร้าและในหมากที่เคี้ยว

        วิตามินบี 2
        การนำ riboflavin หรือวิตามินบี 2 ในขนาดสูงไปใช้เป็นยารักษาป้องกันปวดศีรษะไมเกรน
ซึ่งผู้เขียนได้เคยใช้ระหว่าง ค.ศ. 2000-2004 ผู้ป่วยบางรายได้ผลดี

        วิตามินบี 3 (Niacin)
        นอกจากป้องกันโรคหนังกระ (โรคเพลแลกรา) และอาการท้องร่วง สมองเสื่อมที่ตามมา 
บี 3 ยังมีผลต้านการอักเสบในเนื้อเยื่อหลายชนิด เช่น สมองและหลอดเลือด สารนี้กระตุ้น G protein-coupled
estrogen receptor (GPER) ในจานแก้ว (in vitro) แต่ยังไม่มีผลทางคลินิก อย่างไรก็ตามผู้เขียนได้เคยเขียนไว้
เมื่อพูดถึงการพัฒนายาในอนาคตที่สำคัญมากเกี่ยวกับตัวรับเหล่านี้จนนักเคมีผู้บุกเบิกเรื่องนี้คือ ไบรอัน กอบริลคา
(Brian Gobrilka) และโรเบิร์ต เลฟคอวิตซ์ (Robert Lefkowitz) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีเมื่อ ค.ศ. 2012
แล้ว !

        บี 5 หรือ Pantothenic acid
        ค้นพบโดยนักชีวเคมีอเมริกัน โรเจอร์ วิลเลียมส์ (Roger Williams, ค.ศ. 1893-1988) เป็น
ผู้อำนวยการมูลนิธิเคลย์ตัน (Clayton Foundation) มหาวิทยาลัยเทกซัส (Texas) ที่เมืองออสติน (Austin)
สารนี้คนไทยแม้จะไม่ใช่แพทย์ก็รู้จักเพราะดูโฆษณาแชมพูสระผมทุกวันทางโทรทัศน์ เรื่องกันผมร่วง
ยังไม่มีงานวิจัยที่แสดงว่าได้ผลแน่ เช่นเดียวกับการใช้สารนี้รับประทานร่วมกับกรดอัลฟาลิโพอิค
(alpha-lipoic acid) ในการรักษาเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อมเหตุเบาหวาน

        โรเจอร์ วิลเลียมส์ ผู้นี้ยังเป็นคนที่ตั้งชื่อกรดโฟลิก (Folic acid) หรือวิตามินบี 9 ด้วย !

        บี 6 หรือ Pyridoxine
        เป็นวิตามินที่แพทย์ส่วนใหญ่รู้จักดี เป็นสารที่ถูกเปลี่ยนเป็น coenzymes ในการเผาผลาญโปรตีน
ไขมัน คาร์บอไฮเดรต รวมทั้งเอมีน สมอง  ในผู้ป่วยวัณโรคที่ต้องกินยา INH (isoniazid) และเป็นคนที่ย่อยยา
โดยวิธี acetylation ช้าเหตุพันธุกรรม (slow acetylator) บี 6 ก็จะช่วยได้มาก

        บี 7 หรือ Biotin
        เป็นตัวกระตุ้น acetyl CoA carboxylase และเอนไซม์เหล่านั้นในการให้พลังงานและสังเคราะห์ไมอีลิน 
(myelin) มีผู้นำไปลองใช้รักษาโรคมัลติเพิล สเคลอโรสิส ชนิดลุกลามเรื้อรัง (chronic progressive multiple
sclerosis) โดยใช้บี 7 เป็นยาในขนาดที่มาก

        บี 9 หรือ Folate
        ผู้เขียนได้เขียนไว้ในอักษร F ชุดนี้แล้ว

        บี 12 (Cobalamin)
        ภาวะขาดวิตามินบี 12 เป็นที่รู้จักกันมาเกือบ 100 ปีแล้วในสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีความชุกอยู่ที่
ร้อยละ 3 ในคนอายุ 20-39 ปี, ร้อยละ 4 ในคนอายุ 40-59 และร้อยละ 6 ในคนอายุ 60 ปีขึ้นไป
โดยถือระดับ cobalamin ในน้ำเหลืองของเลือด (serum) ต่ำกว่า 148 pmol/l (200 ng/l) ถ้ามีอาการ
สัญญาณโรคและ/หรือดัชนีชี้วัดทางโลหิตวิทยา หรือถ้ามีระดับ homocysteine หรือ methylmalonic acid (MMA)
ในน้ำเหลืองของเลือดมากกว่าปกติ

        ระดับบี 12 ต่ำพบได้ในผู้สูงอายุ ผู้เป็นมังสวิรัติ หรือติดสุราเรื้อรัง ในคนที่ได้รับผ่าตัดเอากระเพาะทิ้ง
การดูดซึมผิดปกติ (malabsorption) จากสาเหตุต่าง ๆ และการรับประทานยาคุมกำเนิด ส่วนโรคภูมิต้านตนเอง
ในบ้านเราพบได้น้อยมาก แต่ปัจจุบันจากยาที่ยับยั้งการมีกรดในกระเพาะ เช่น ยายับยั้ง proton pump และ
ยาสกัดกั้นตัวรับฮีสตามีนเอช 2 (H-2 receptor) เช่นที่ใช้รักษากรดไหลย้อนจากกระเพาะไปหลอดอาหาร
ในผู้สูงอายุกันมากในปัจจุบัน และเหตุพันธุกรรมเกิดการขาด Transcobalamin II เนื่องจากการขาดสารตัวนี้
ถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัยแต่เนิ่น ๆ อาจทำให้ประสาทไขสันหลังเสื่อมและภาวะพร่องเม็ดเลือดทุกชนิด
(pancytopaenia) ได้ การให้บี 12 กินแทนฉีดใช้ได้ผลดี ปัจจุบันมีหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่าระดับบี 12 ที่สูง
ระหว่าง 350 ถึง 1200 pmol/l พบในโรคมะเร็งตับและมะเร็งเม็ดเลือด

        วิตามินซี (Ascorbic acid)
        ดูจะเป็นตัวที่เก่าแก่ที่สุดตั้งแต่สมัยฮิปโปเครติส (Hippocratis) ประมาณ 400 ปีก่อนคริสต์กาล
จนถึงนายแพทย์เจมส์ ลินด์ (James Lind, ค.ศ. 1716-1794) ชาวสกอตแห่งราชนาวี สหราชอาณาจักร 
และทาเดียส ไรชสไตน์ (Tadeusz Reichstein) ที่สังเคราะห์วิตามินซีได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1933  เรื่อยมาถึง
นักวิจัยชาวฮังการี อัลเบิร์ต เซนท์ ยีออร์กี (Albert Szent Györgyi) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลในปี ค.ศ. 1937

        แทบไม่เชื่อว่าโรคลักปิดลักเปิด (scurvy) ยังพบได้ในบ้านเรา !  ผู้เขียนเพิ่งอ่านรายงานผู้ป่วยเด็กชาย
อายุเกือบ 2 ขวบครึ่งและการทบทวนวรรณกรรมที่ดีมากเกี่ยวกับโรคนี้โดยแพทย์หญิงฐิติมา เงินมาก และ
แพทย์หญิงนงลักษณ อ้อยเมืองมูล จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก จึงขอแนะนำให้
อายุรแพทย์ กุมารแพทย์ และแพทย์ทั่วไปอย่าพลาด !

        นอกจากการขาดวิตามินซีทำให้เกิดโรคลักปิดลักเปิดแล้วการใช้วิตามินนี้เพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจ
และหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคข้อรูห์มาตอยด์และแม้กระทั่งโรคหวัดธรรมดา ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดจนปัจจุบัน !

        ขนาดของวิตามินซีที่ได้รับการยอมรับสำหรับคนทั่วไปก็คือ วันละ 40-90 มิลลิกรัม และความเชื่อที่ว่า
วิตามินนี้ทำให้เกิดนิ่วในไตก็ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แน่ชัด แต่ในผู้ชายที่อายุระหว่าง  45-79 ปีที่สวีเดน
จำนวนเกือบ 5 หมื่นคนติดตามไปนาน 11 ปีกินวิตามินซีในขนาด 1000 มิลลิกรัมต่อวัน พบความเสี่ยงต่อ
การเกิดนิ่วในไตเพิ่มขึ้น 2 เท่า

        วิตามินดี (D)
        ผู้เขียนได้เคยกล่าวถึงวิตามินตัวนี้ไว้แล้ว เพราะมีความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา
วิตามินตัวนี้เป็นฮอร์โมนมากกว่าเพราะสังเคราะห์ที่ผิวหนังจากแสงแดดที่มีแสงอัลตราไวโอเล็ต-บี
สังเคราะห์แล้วเข้ากระแสเลือดไปออกฤทธิ์ที่ส่วนอื่นของร่างกาย ใครจะนึกว่าคนไทยแม้แต่สาว ๆ ใน
กรุงเทพมหานครก็เสี่ยงต่อการขาดวิตามิน D ได้  ทั้ง ๆ ที่ทราบว่ามีประโยชน์มากมายเพิ่มขึ้น !

        ภาวะขาดวิตามิน D เกี่ยวข้องกับโรคกระดูกและแคลเซียมจึงเป็นปัญหาสาธารณสุขทั่วโลก
ในขณะเดียวกันกลไกการออกฤทธิ์ในระดับเซลล์และอณูก็เป็นเรื่องที่อายุรแพทย์ควรทราบเพราะเกี่ยวข้องกับ
การใช้วิตามินนี้เป็น “ยา” เสริมหรือใช้รักษาโรคต่าง ๆ ในปัจจุบัน  การค้นพบการกลายพันธุ์ (mutations)
ที่ CYP24A1 ในผู้ป่วยที่มีนิ่วแคลเซียมในไตและในภาวะแคลเซียมพอกไต (nephrocalcinosis) เป็นความรู้ใหม่
ที่จะต้องศึกษาต่อในประชากรทั่วไปว่าพบได้บ่อยมากน้อยแค่ไหน ในขณะที่การวิจัยการใช้วิตามิน D
เสริมขยายมากขึ้น มีความจำเป็นที่ต้องให้เป็นปัจเจกบุคคลซึ่งหมายถึง ความรับผิดชอบดูแลโดยอายุรแพทย์ผู้รู้
และเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ !

        วิตามินอี (E)
        นับตั้งแต่แพทย์นักกายวิภาคศาสตร์และคัพภวิทยา (Embryology) ชาวอเมริกัน เฮอร์เบิร์ต แมคเคลน
อีวานส์ (Herbert McLean Evans) และแคทเธอรีน บิชอป (Katherine Bishop) ค้นพบวิตามินตัวนี้เมื่อ ค.ศ. 1922
งานค้นคว้าวิจัยทำให้เกิดความรู้ใหม่ ๆ อีกมาก  แรกเริ่มภาวะพร่องวิตามิน E ในทารกแรกเกิดก่อนกำหนดเป็น
สาเหตุของภาวะเลือดจางจากการสลายเม็ดเลือดแดง (haemolytic anaemia) วิตามินนี้จึงช่วยขจัดโรคนี้ได้
แต่นับตั้งแต่ ค.ศ. 1938 ที่มีผู้ทดลองนำวิตามิน E ใช้เป็นยารักษาโรคต่าง ๆ ว่าจะเป็นโรคหัวใจหรือสมองขาดเลือด
และโรคที่เป็นสาเหตุการตายที่สำคัญ ๆ ก็ไม่ได้ผลดี หนำซ้ำถ้าใช้ขนาดมากอัตราตายกลับเพิ่มขึ้น ! 
ขนาดของวิตามินที่แนะนำไว้ถ้าใครจะใช้ไม่ควรเกิน 150 iu/วัน

        วิตามินเค (K)
        วิตามินที่ละลายในไขมันตัวนี้ได้ยังประโยชน์เป็นอย่างมากนับตั้งแต่เฮนริค แดม (Henrik Dam)
นักวิทยาศาสตร์ชาวเดน (Danish) ค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 1929 อย่างที่ทราบกันดีว่าวิตามิน K มีความสำคัญต่อ
การแข็งตัวของเลือดแต่มันยังกระตุ้นโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างกระดูก  เนื่องจากแบคทีเรียในลำไส้
เป็นตัวสร้างวิตามิน K 1, 2, 3 ได้  คนที่จำเป็นต้องใช้ยาต้านจุลชีพเป็นเวลานานจึงต้องระวัง นอกจากนี้คนที่เป็น
โรคไตเรื้อรังและต้องฟอกไตเป็นประจำ รวมทั้งคนที่เกิดมาเป็นโรคพร่องเอนไซม์ G6PD ต้องเลี่ยงการใช้
วิตามิน K และเมื่อเร็ว ๆ นี้มีแพทย์นักวิจัยลองใช้เป็นยาป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดพบว่า K 2 ไม่มีผลต่อ
การลดระดับไขมันในเลือดและแรงดันเลือด แต่จำนวนผู้ป่วยที่ร่วมในการทดลองยังไม่มากพอและระยะเวลา
ที่ศึกษาก็ไม่นานพอด้วย


        โดยสรุป การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวิตามินทั้ง 13 ตัวก้าวหน้าไปมากในช่วง 50-60 ปีที่ผู้เขียนเข้ามา
อยู่ในวงการแพทย์ แพทย์ไทยควรจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในระดับสากล แพทย์เฉพาะทางที่เกี่ยวข้อง
โปรดขออย่ามัวแต่พูดแต่อาหาร 5 หมู่อยู่เสมออย่างเดียว !

 
แนะนำเอกสาร
1)  Semba RD.  (2012).  The discovery of the vitamins.  Int J Vitam Nutri Res.  82 : 310-315. 

2)  Wellness Directory of Minnesota.  (2009).  The history of vitamins (and a short history of scurvy, 
     beriberi and pellagra).  Minnesota Wellness Publications Inc.
     
3)  Sommer A, Tarwotjo I, Djunaedi E, et al.  (1986).  Impact of vitamin A supplementation on childhood
     mortality.  A randomized controlled community trial.  Lancet.  24 : 1169-1173.  

4)  World Development Report.  (1993).  World Bank 1993.

5)  Copenhagen Consensus.  (2008).  http://www.copenhagenconsensus.com

6)  Vimokesant SL, Hilker DM, Nakornchai S, et al.  (1975).  Effects of betelnut and fermented fish
     on the thiamin status of northeastern Thais.  Am J Clin Nutr.  28 : 1458-1463.

7)  Schoenen J, Jacquy J, Lenaerts M.  (1998).  Effectiveness of high dose riboflavin in migraine
     prophylaxis.  A randomized controlled trial.  Neurology.  50 : 466-470.

8)  อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ  (พ.ศ. 2556)  Gout  ใน เกร็ดความรู้อายุรศาสตร์ A-Z เล่ม 2 
     กรุงเทพฯ  โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์  หน้า 31-33

9)  Sedel F, Papeix C, Bellanger A, et al.  (2015).  High doses of biotin in chronic progressive multiple
     sclerosis: A pilot study.  Multiple Sclerosis and Related Disorders.  4 : 159-169.

10) Snider DE Jr.  (1980).  Pyridoxine supplementation during isoniazid therapy.  Tubercle.  61 : 191-196.

11) Dali-Youcef N, Andrès E.  (2009).  An update on vitamin B12 deficiency in adults.  Q J Med. 
      102 : 17-28.

12) Shipton MA, Tachil J.  (2015).  Vitamin B12 deficiency-A 21st century perspective. 
      Clinical Medicine.  15 : 145-150.

13) Reynolds E.  (2006).  Vitamin B12, folic acid and the nervous system.  Lancet Neurol. 
      5 : 549-560.

14) Ye Y, Li J, Yuan Z.  (2013).  Effect of antioxidant vitamin supplementation on cardiovascular 
      outcomes: a meta-analysis of randomized controlled trials.  PLOSONE.  8 : e56803, 
      doi: 10.1371/journal.pone.0056803.

15) Ngoenmak T, Oilmungmool N.  (2016).  Scurvy: A case report and review of the literature. 
      Buddhachinaraj Med J.  33 : 86-92.

16) Hemiliä H, Chalker E.  (2013).  Vitamin C for preventing and treating the common cold. 
      Cochrane Database of Systematic Reviews.  1 : CD000980.

17) Thomas LD, Elinder CG, Tiselius HG, et al.  (2013).  Ascorbic acid supplements and kidneystone 
      incidence among men: A prospective study.  JAMA Intern Med.  173 : 1-2.

18) Holick MF, Schnoes HK, Deluca HF, et al.  (1971).  Isolation and identification
      of 1, 25-dihydroxycholecalciferol.  A metabolite of vitamin D active in intestine.  Biochemistry. 
      10 : 2799-2804.

19) Norman AW, Myrtle JW, Midgett RJ, et al.  (1971).  1, 25-dihydroxycholecalciferol
      identification of the proposed active form of vitamin D3 in the intestine.  Science.
      173 : 51-54.

20) อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ  (พ.ศ. 2558)  D-Vitamin D, Depression & Dementia
      ใน เกร็ดความรู้อายุรศาสตร์ A-Z เล่ม 4  กรุงเทพฯ โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์  หน้า 21-23

21) Gittoes NJL.  (2016).  Vitamin D-what is normal according to latest research and how we deal
      with it?  Clinical Medicine.  16 : 171-174.

22) Hill FJ.  (2016).  ibid  Letter to the editor  16 : 399.

23) Lo SS, Frank D, Hitzig WH.  (1973).  Vitamin E and haemolytic anaemia in premature infants. 
      Arch Dis Child.  48 : 360-365.

24) Miller ER3rd, Pastor-Barriuso R, Dalal D, et al.  (2005).  Meta-analysis: high dosage vitamin E
      supplementation may increase all-cause mortality.  Ann Intern Med.  142 : 37-46.

25) Abner EL, Schmitt FA, Mendiondo MS, et al.  (2011).  Vitamin E and all cause mortality:
      a meta-analysis.  Current aging science.  4 : 158-170.

26) Hartley L, Clar C, Ghannam O, et al.  (2015).  Vitamin K for the primary prevention of
      cardiovascular disease.  Cochrane Database Syst Rev.  9: CD011148.


 

 

[ back ]