Uric acid

Uric acid

        นับตั้งแต่ 250 ปีมาแล้วที่มีนักเคมีชาวสวีเดนแยกเอานิ่วออกจากไตและ 6 ปีต่อมานักเคมีชาวยูเครน
สังเคราะห์กรดยูริคได้จากยูเรีย (urea) และกลายซีน (glycine) แพทย์และคนทั่วไปได้ให้ความสนใจกรดนี้
อย่างต่อเนื่อง  ปัจจุบันทั่วโลกยอมรับว่าค่าของกรดยูริคในเลือดของคนปกติจะไม่เกิน 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
(mg/dL) หรือ 360 ไมโครโมลต่อลิตร (µmol/L) ในหญิง และไม่เกิน 6.8 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรหรือ
400 ไมโครโมลต่อลิตรสำหรับชาย

        ภาวะกรดยูริคในเลือดเกินปกติอาจเกิดจากพันธุกรรม จากอาหารหรือยา จากภาวะขาดไทรอยด์
ฮอร์โมน ภาวะอ้วนเกิน โรคไต จากความด้นเลือดสูง แต่ที่สำคัญในปัจจุบันก็คือ การดื่มแอลกอฮอล์

        เมื่อเร็ว ๆ นี้มีรายงานจากที่ประชุมประจำปีของวิทยาลัยรูห์มาโตโลยีสหรัฐอเมริกา
(American College of Rheumatology) ว่าภาวะกรดยูริคในเลือดเกินปกติในประเทศไทยมีความชุกร้อยละ
9 ถึง 11  ที่น่าสนใจก็คือพบในทวีปเอเชียบ่อยกว่าในประเทศทางตะวันตกและในรอบ 20 ปีที่ผ่านในประเทศ
ที่รายได้ประชาชาติสูง เช่น ญี่ปุ่น ความชุกเพิ่มขึ้น 5 เท่า

        ผู้เขียนได้เขียนเรื่องเกาต์ (Gout) ไว้บ้างแล้วจึงจะไม่เขียนถึงอีกเพียงแต่จะอ้างถึงบทความสำคัญ
ของศาสตราจารย์ฉ่อย (Hyon K Choi) และคณะจากมหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston) สหรัฐอเมริกา
ที่พบว่าการใช้ยาสกัดกั้นช่องแคลเซียม (calcium channel blockers) และยาโลซาแทน (losartan)
ลดความดันเลือดพบโอกาสการเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกาต์น้อยลงซึ่งตรงกันข้ามกับการใช้ยาขับปัสสาวะ
(diuretics) ยาสกัดกั้นเบต้า (beta-blockers) และยายับยั้งเอนไซม์เปลี่ยนแอนจิโอเทนซิน
(angiotensin converting enzyme inhibitors) และยาสกัดกั้นตัวรับแอนจิโอเทนซินสองที่ไม่ใช่โลซาแทน
ซึ่งล้วนแล้วแต่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อเกาต์ทั้งนั้น

        ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีรายงานจากหลายแหล่งที่พบว่าคนที่มีกรดยูริคในเลือดสูงมีความเสี่ยง
ต่อการเป็นโรคพาร์กินสัน (Parkinson disease, PD) น้อยลง  นายแพทย์อลอนโส (Alonso) และคณะ
จากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา พบว่าผู้ชายที่เป็นโรคเกาต์มีโอกาสเป็น PD น้อยกว่าผู้ชายที่ปกติ 
และเมื่อต้นปีนี้ (มกราคม พ.ศ. 2559) นายแพทย์เซียงเกา (Xiang Gao) และคณะจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย
ได้ทำการศึกษาระดับยูเรตในเลือดของคนเป็นจำนวนถึง 90,214 ราย มีผู้ที่เป็น PD 388 คน หลังเริ่มการศึกษา
เทียบกับ 1,267 คนที่ไม่เป็น PD  คณะผู้วิจัยยังได้รวมผลการศึกษาของเขากับอีก 3 แหล่งอื่นเพื่อทำอภิมาน
(meta-analysis)  เขาสรุปว่าการศึกษาเหล่านี้ไม่ได้พิสูจน์ว่าการมีกรดยูริคหรือยูเรตในระดับสูงป้องกัน
การเกิดโรค PD แต่เป็นเพียงแสดงให้เห็นว่ามันลดความเสี่ยงเท่านั้น

        ผู้เขียนได้เห็นบทคัดย่อของแพทย์ประจำบ้านประสาทวิทยาลงตีพิมพ์ในวารสารของ
สมาคมประสาทวิทยาเมื่อเร็ว ๆ นี้ บังเอิญไม่ระบุแหล่งหรือสถาบันที่ทำการศึกษา จึงไม่ได้กล่าวถึงไว้ด้วย


แนะนำเอกสาร
1)  Smith E, March L.  (2015).  Global prevalence of hyperuricemia: A systematic review of
     population-based epidemiological studies.  American College of Rheumatology Annual Meeting. 
     Abstract Number 2236.

2)  อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ  (พ.ศ. 2556)  Gout  ใน เกร็ดความรู้อายุรศาสตร์ A-Z เล่ม 2
     กรุงเทพฯ โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์  หน้า 31-33
               
3)  Choi HK, Soriano LC, Rodriguez LAG.  (2012).  Antihypertensive drugs and risk of incident
     gout among patients with hypertension: population based case-control study.  BMJ.  344 : d8190.

4)  Alonso A, Rodriguez LA, Logroscino C, et al.  (2007).  Gout and risk of Parkinson disease:
     a prospective study.  Neurology.  69 : 1696-1700.

5)  Gao X, et al.  (2016).  High levels of urate in blood associated with lower risk of Parkinson’s disease.
     Neurology to-day 13 January. 

 

 

[ back ]