HbA1c

HbA1c

        HbA1c เป็นฮีโมโกลบินในรูปหนึ่งที่แพทย์ใช้หาตัวเลขเฉลี่ยของระดับกลูโคสในเลือดในช่วง
เวลา 3 เดือนซึ่งเป็นอายุขัยของเม็ดเลือดแดงของคน  แรกเริ่มเมื่อ ค.ศ. 1958 A1c ถูกแยกออกจากฮีโมโกลบิน
ในรูปอื่น ๆ โดยใช้วิธีคอลัมน์โครมาโตกราฟี (Column chromatography) และอีก 10 ปีต่อมามีผู้พบว่า
เป็นโปรตีนที่มีน้ำตาล (glycoprotein) และในคนเป็นเบาหวานค่า HbA1c สูงขึ้น  ในปี ค.ศ. 2011
สมาคมโรคเบาหวานสหรัฐอเมริกา สมาคมโรคเบาหวานยุโรปและสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ ตกลงร่วมกัน
ให้รายงาน HbA1c เป็นหน่วย IFCC ซึ่งเป็นคำย่อมาจาก International Federation of Clinical Chemistry and
Laboratory Medicine นับค่าเท่ากับหรือมากกว่า 48 มิลลิโมลต่อโมล (เท่ากับหรือมากกว่า 6.5) โดยทั่ว ๆ ไป
นับค่าปกติไม่เกิน 6.0%

        ค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลในเลือดของคนเป็นเบาหวานในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวเกินและเสี่ยงต่อเป็นโรคนั้น
HbA1c กลายเป็นตัวชี้วัดชีวภาพ (biomarker) ที่มีประโยชน์และเป็นที่สนใจของแพทย์นักวิจัยโดยเฉพาะ
อายุรแพทย์สาขาต่าง ๆ มาก  ประสาทแพทย์ที่สนใจโรคหลอดเลือดแดงสมองและโรคในผู้สูงอายุโดยเฉพาะ
ในสหรัฐอเมริกา เช่น ที่ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยรัช (Rush University Medical Center)  ที่ชิคาโก (Chicago)
ทีมงานวิจัยโรคอัลซ์ไฮเมอร์พบว่าโรคเบาหวานไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดพยาธิสภาพที่เรารู้จักกันดีคือ
plaques and tangles หรืออาจจะเรียกเป็นไทยว่า “เป็นแผ่นและเส้นพันกันยุ่ง” แต่จากการศึกษาสมองผู้สูงอายุ
ที่เสียชีวิตเมื่ออายุเกือบ 90 ปีกว่า 400 รายที่เป็นหญิงเกือบ 2 ใน 3 และได้ติดตาม HbA1c อยู่เกือบ 3 ปีก่อนตาย
โดยค่าเฉลี่ยที่ 5.9%  ผู้ป่วย 192 รายหรือร้อยละ 48 มีเนื้อสมองขาดเลือด โดย 56 รายเป็น gross infarcts 
72 รายเป็น microinfarcts  และ 64 รายที่มี infarct ทั้ง 2 ขนาด ยิ่งค่า HbA1c ยิ่งสูงยิ่งมีโอกาสมี gross infarcts
มากขึ้น  โดยสรุปผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมีสมองเสื่อมมากขึ้นแต่เป็น Vascular Dementia (VaD) 
ศาสตราจารย์วลาดิเมียร์ ฮาชินสกี (Vladimir Hachinski) อดีตประธานสหพันธ์ประสาทวิทยาโลกและ
ศาสตราจารย์ทางประสาทวิทยาที่มหาวิทยาลัยออนแทรีโอตะวันตก ประเทศแคนาดา กล่าวไว้ว่าถ้าพยายาม
รักษาโดยมุ่งรักษาระดับ A1c ให้ต่ำคงจะลด VaD ได้

        ประสาทแพทย์ผู้ศึกษาวิจัยประสาทส่วนปลายเสื่อมอาจจะลองนำเอา HbA1c มาใช้เป็นตัวกำหนด
ชีวภาพ เช่นเดียวกับอายุรแพทย์ผู้ศึกษาผลกระทบของเบาหวานต่อไต ต่อหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจและ
ต่อจอประสาทตาได้ !

แนะนำเอกสาร
1)  Freeman VS.  (2014).  Glucose and Hemoglobin A1c.  Laboratory Medicine.  Oxford University Press.
     e21-e24.

2)  Geistanger A, Arends S, Berding C, et al.  (2008).  Statistical methods for monitoring the relationship
     between IFCC reference measurement procedure for hemoglobin A1c and the designated comparison
     methods  in the United States, Japan and Sweden.  Clin Chem.  54 : 240-248.

3)  Neurology Today.  (2015).  Cerebrovascular infarcts increased the associated risk between diabetes
     and Alzheimer’s.  October 22, Vol. 15, Issue 20.  pp. 1 & 4.

4)  Hachinski V  (พ.ศ. 2552)  Stroke: expanding horizons.  7th Athasit Oration.  Annual Meeting of
     the Neurological Society of Thailand.

 

 

[ back ]