Folic Acid

Folic Acid

        ชื่อทางเคมีคือ pteroyl-L-glutamic acid

        กรดโฟลิก (Folic acid, FA) เป็นสารสังเคราะห์ เป็นหนึ่งในกลุ่มวิตามินบีที่แพทย์ นักศึกษาแพทย์และ
คนทั่วไปรู้จัก แต่บางคนอาจจะไม่ทราบประวัติความเป็นมาจึงขอนำมากล่าวไว้

        เมื่อ ค.ศ. 1931 ลูซี วิลส์ (Lucy Wills, ค.ศ. 1888-1964) แพทย์สตรีผู้เชี่ยวชาญทางโลหิตวิทยาชาวอังกฤษ
พบสารในส่า (yeast) ที่รักษาและป้องกันโลหิตจางเม็ดเลือดแดงโต (macrocytic anaemia) โดยเฉพาะในหญิง
มีครรภ์ขณะปฏิบัติงานอยู่ในประเทศอินเดีย  ต่อมามีผู้สกัดสารนี้ได้จากผักโขม (spinach) เรียกโฟเลต (folate)
ซึ่งเป็นอนุภาคที่ไม่มีประจุบวก (deprotonated ion) ส่วน FA เป็นสารสังเคราะห์ที่มีอณูเป็นกลาง (neutral molecule)

        ในปี ค.ศ. 1960 มีผู้พบว่าสตรีที่ตั้งครรภ์และได้รับโฟเลตไม่เพียงพอ ลูกที่เกิดมีโอกาสมีหลอดประสาทพิการ
(neural tube defect, NTD) โดยเฉพาะกระดูกสันหลังโหว่ (spina bifida) และสภาพไร้สมองใหญ่ (anencephaly)
และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีรายงานว่าการให้ FA เสริมในสตรีที่ตั้งครรภ์สามารถป้องกันการเกิด NTD ได้ถึงร้อยละ 75

        ผลทางจิตประสาทของการขาด FA คล้ายกับคนที่ขาดวิตามินบี 12 ได้แก่ ประชานเสื่อม
(cognitive impairment) แต่เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อมพบได้น้อยกว่าขาดวิตามินบี 12 ในขณะที่อาการซึมเศร้า
พบได้มากกว่าขาดบี 12 ถึงสองสามเท่า

        เมื่อ 5 ปีที่แล้วมีรายงานผู้ป่วยหญิงอายุ 58 ปีมีความจำเสื่อมเร็วพร้อมกับมีกล้ามเนื้อกระตุกรัว (myoclonus)
จากสมองขาดโฟเลตโดยที่ระดับโฟเลตในเลือดปกติแต่ระดับในน้ำหล่อสมองและไขสันหลังต่ำเพราะมีแอนติบอดี
ในเลือดสกัดกั้นผูกติดกับตัวรับโฟเลต (folate receptor) รักษาด้วยการให้กรดโฟลินิก (Folinic Acid, FnA)
อยู่ 6 เดือน อาการเป็นปกติ !

        FnA คือ 5-formyltetrahydrofolate ถูกค้นพบเมื่อ ค.ศ. 1948 เดิมเรียก citrovorum factor
เป็นวิตาเมอร์ (vitamer) หรือสารประกอบของ FA รู้จักกันดีว่าเป็นยาชื่อ leucovorin ในรูปของเกลือโซเดียม
หรือแคลเซียมเป็นตัวเสริม (adjuvant) ในการให้เคมีบำบัดรักษามะเร็งด้วยยา methotrexate และใช้เป็นตัวร่วม
(synergist) กับการใช้ยา 5-fluorouracil

        โรคสมองขาดโฟเลตเป็นจากเหตุพันธุกรรม การกลายพันธุ์ของยีน FOLR1 เป็นชนิดที่หาได้ยากแต่รักษาได้
ผู้ป่วยจะมีอาการเสียสหการ (ataxia)  แขนขาเกร็ง (spasticity)  ลมชักและประชานพิสัยถดถอย  ปัจจุบันมีรายงาน
ผู้ป่วยด้วยโรคนี้แล้ว 18 ราย การวินิจฉัยโรคแต่เนิ่น ๆ มีความสำคัญยิ่ง เพราะการรักษาด้วย FnA ในปริมาณที่สูง
(2-5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวเด็กหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน) สามารถป้องกันอาการทั้งหลายที่กล่าวได้

        สุดท้าย การที่มีผู้อ้างว่าการใช้โฟเลตเป็นประจำอาจจะทำให้เกิดมะเร็งนั้นไม่เป็นความจริง ตรงกันข้ามอาจจะ
ช่วยป้องกันมะเร็งตับอ่อน มะเร็งหลอดอาหารและมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมทั้งมะเร็งผิวหนังด้วย


แนะนำเอกสาร
1)  Lanska DJ.  (2009).  Historical aspects of the major neurological vitamin deficiency disorders:
     the water soluble vitamins.  Handbook of Clinical Neurology.  95 : 445-476.

2)  Reynolds E.  (2006).  Vitamin B12, Folic acid, and the nervous system.  Lancet Neurol. 
     5 : 949-960.

3)  Molloy AM, Kirke PN, Troendle JF, et al.  (2009).  Maternal Vitamin B12 status and risk of
     neural tube defects in a population with high neural tube defect prevalence and no Folic acid
     fortification.  Pediatrics. 123 : 917-923.

4)  Sadighi Z, Butler IJ, Koenig MK.  (2012).  Adult-onset cerebral folate deficiency.  Arch Neurol. 
     69 : 778-779.

5)  Ferreira P, Luco SM, Sawyer SL, et al.  (2015).  Late diagnosis of cerebral folate deficiency:
     Fewer seizures with folinic acid in adult siblings.  Neurol Genet: e38.

6)  Agnew-Blais JC, Wassertheil-Smoller S, Kang JH, et al.  (2015).  Folate, vitamin B-6, and
     vitamin B-12 intake and mild cognitive impairment and probable dementia in Woman’s Health
     Initiative Memory Study.  J Acad Nutri Diet.  115 : 231-241.

7)  Blasko I, Hinterberger M, Kemmler G, et al.  (2012).  Conversion from mild cognitive impairment
     to dementia: influence of folic acid and vitamin B12 use in VITA cohort.  J Nutri Health Aging. 
     16 : 687-694.

8)  Qin X, Cui Y, Shen S, et al.  (2013).  Folic acid supplementation and cancer risk: a meta-analysis
     of randomized controlled trials.  Int J Cancer.  133 : 1033-1041. 


 

 

[ back ]