General Practitioner

General Practitioner

        Practitioner (แพร็กทิ´เชินเนอ) คือ ผู้ประกอบกิจการหรืออาชีพโดยเฉพาะทางแพทย์หรือทนาย 
เจ็น´เริลฺ แพร็กทิ´เชินเนอ (GP) ก็คือ แพทย์ซึ่งรักษาโดยทั่วไปไม่เฉพาะโรค

        นับตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนถึงสมัยฮิปโปเครตีส (Hippocrates, B.C. 460-370) แพทย์ดูแลรักษาคนป่วย
ด้วยโรคทุกชนิด วิวัฒนาการทางการแพทย์แผนสากลเริ่มเมื่อไม่ถึง 500 ปีที่แล้ว  การเกิดสาขาเฉพาะทางใน
แพทยศาสตร์เป็นวิวัฒนาการซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นธรรมชาติ เปรียบได้กับวิวัฒนาการของสัตว์โลกจากเซลล์เดียว
จนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งใช้เวลาเป็นล้าน ๆ ปี !

        บทความนี้เป็นการรวบรวมลำดับเหตุการณ์จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนในช่วงระยะเวลา
60 ปีเศษที่ผ่าน

        ผู้เขียนเข้าศึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลกายส์ (Guy’s) มหาวิทยาลัยลอนดอน เมื่อ ค.ศ. 1954  
6 ปีหลังจากสหราชอาณาจักรได้เริ่มนำระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service, NHS) มาใช้
ซึ่งถือกันว่าเป็นความคิดริเริ่มและผลงานของนักการเมืองชื่อ นายอนัวริน เบแวน (Aneurin Bevan,
ค.ศ. 1897-1960) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคกรรมกร (Labour Party) เบแวนเป็นลูกกรรมกร
เหมืองถ่านหินชาวเวลส์ (Welsh) ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในสมัยรัฐบาลคลีเมนต์
แอตต์ลี (Clement Attlee, ค.ศ. 1883-1967)  หลังสงครามโลกครั้งที่สองระหว่างปี ค.ศ. 1945-1951 
เบแวนหรือที่รู้จักกันดีกว่าในชื่อ นาย (Nye) เป็น สส.ที่ตั้งแต่หนุ่ม ๆ เรียกร้องหาความเป็นธรรมให้แก่
คนยากคนจนโดยเฉพาะการเข้าถึงบริการทางการแพทย์มาตลอดจนถึงแก่กรรม และได้รับยกย่องเป็นวีรบุรุษ
หนึ่งในร้อยคนชาวเวลส์เมื่อ ค.ศ. 2004  ในเวลาไล่เลี่ยกันกับนายเบแวน  อคิบาลด์ เจ โครนิน
(Achibald J Cronin, ค.ศ. 1896-1981) อายุรแพทย์และนักเขียนที่มีชื่อเสียงโด่งดังโดยเฉพาะหนังสือเรื่อง
The Citadel (ป้อมปราการ) ก็ได้มีส่วนช่วยจุดชนวนให้คนในสหราชอาณาจักรโดยเฉพาะชาวสกอตและ
ชาวเวลส์ได้อย่างมากในการสนับสนุนให้มีระบบบริการทางการแพทย์อย่างก้าวหน้า

        NHS ที่สหราชอาณาจักรในสมัยนั้นทำให้ทุกคนรวมทั้งชาวต่างประเทศที่ไปพำนัก ไปศึกษาที่นั่น
ได้รับอานิสงส์ไปด้วย ทุกคน (รวมทั้งแพทย์และนักศึกษาแพทย์ !) ต้องมี GP ประจำตัวซึ่งอยู่ใกล้ที่พัก
เวลาไปหาและได้รับการตรวจแล้วได้ใบสั่งยาไปรับยาก็จ่ายเงินหนึ่งชิลลิง (Shilling) หรือประมาณ 3 บาท
ถ้าจำเป็นจะต้องเข้ารับการรักษาต่อในโรงพยาบาล GP จะเป็นผู้จัดการให้ คนอังกฤษทุกชั้นทุกวัยปฏิบัติตาม
เป็นอย่างดี  ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อ ค.ศ. 1957 หลังกลับจากมาเยี่ยมบ้าน 10 วันขณะเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นคลินิก
เกิดเป็นไข้หวัดใหญ่ (Asian flu) ที่ระบาด ต้องโทรศัพท์ตาม GP ไปดู ณ ที่พักก็ได้รับบริการเป็นอย่างดี 
เมื่อเรียนจบแล้วไปเป็นแพทย์ฝึกหัดแพทย์ประจำบ้านก็ได้ประสบการณ์ในการติดต่อ รับ (ไม่รับ) และจำหน่าย
ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล  NHS มีระบบที่ดีมากเช่นมีวิธีการตรวจสอบทันทีว่าถ้าแพทย์ประจำบ้านในโรงพยาบาล
เช่นผู้เขียนพูดจริงหรือไม่ที่ว่าไม่มีเตียงว่างโดยแพทย์ระดับสูงกว่าจนถึงแพทย์ที่ปรึกษา (Consultant) ซึ่งเป็น
“boss” จะทราบ ถ้าไม่มีจริงหน่วยดูแลเตียงฉุกเฉิน (Emergency Bed Service) ก็จะดำเนินการหาเตียง
ในโรงพยาบาลใกล้เคียงให้

        เมื่อผู้เขียนกลับมาปฏิบัติงานที่ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ระหว่างปี พ.ศ. 2504-2505 ก็ได้มีโอกาสรู้จักและทำงานร่วมกับ GP ไทยที่นั่น ผู้เขียนโชคดีได้รู้จักอาจารย์
นายแพทย์ทรวง อินทุลักษณ์ (พ.ศ. 2461-2516) GP จากอยุธยาที่ไปร่วมกิจกรรมทางวิชาการเป็นประจำ
ทุกสัปดาห์ ผู้เขียนรู้สึกทึ่งและศรัทธาอาจารย์มากเพราะท่านมักจะนำประสบการณ์จากเวชปฏิบัติของท่านมาเป็น
ประโยชน์ ผู้เขียนต้องสารภาพจริง ๆ ว่าไม่นึกว่า GP ไทยจะรอบรู้แม้กระทั่งอ่าน Electrocardiogram (ECG) ได้
ไม่แพ้หรือดีกว่า GP ที่อังกฤษเสียอีก !  อาจารย์ทรวงปฏิบัติเช่นนั้นจนวาระสุดท้ายที่ท่านถึงแก่อนิจกรรม
ก่อนวัยอันควรด้วยอุบัติเหตุพลัดตกจากรถไฟระหว่างไปกลับกรุงเทพฯ-อยุธยาขณะรถไฟเข้าเทียบชานชาลาสถานี
ปลายทาง  การได้รู้จักกับอาจารย์อดทำให้ผมนึกถึงนายแพทย์จอห์น ฟราย (John Fry, ค.ศ. 1922-1994)
GP ชาวอังกฤษที่เป็นครูผู้เขียนที่กายส์ซึ่งเป็น GP ที่มีชื่อเสียงระดับโลก  จอห์นเป็นนักศึกษาแพทย์ที่กายส์
ระหว่างปี ค.ศ. 1940-1944 (ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง) และเป็นศัลยแพทย์อยู่ไม่นานก็เปลี่ยนใจไปเป็น GP
ทำเวชปฏิบัติกับบิดาผู้เป็น GP ที่เมืองเบคแนม (Beckenham) ในจังหวัดเคนท์ (Kent) ใกล้กรุงลอนดอนเพราะ
ศรัทธาในระบบ NHS มาก  ต่อมาจอห์นผู้นี้คือ หนึ่งในผู้ก่อตั้งและมีบทบาทสำคัญในราชวิทยาลัยเวชปฏิบัติทั่วไป
(Royal College of General Practice) ของสหราชอาณาจักร นอกจากจะเป็นนักวิจัยและเขียนหนังสือเกี่ยวกับ
เวชปฏิบัติทั่วไปกว่า 60 เล่มที่เป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก โดยเฉพาะหนังสือ Common Diseases (ค.ศ. 1974)
ดูเหมือนจะเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมที่สุดเพราะได้ตีพิมพ์ถึง 5 ครั้ง  John Fry ได้มีบทบาทสำคัญ
ในการวางรากฐานการฝึกอบรม GP ของราชวิทยาลัยฯ ให้สหราชอาณาจักร

        หลังจากกลับจากไปฝึกอบรมและทำงานทางด้านประสาทวิทยาที่อังกฤษ (พ.ศ. 2505-2508)
ผู้เขียนเป็นอาจารย์ที่คณะแพทย์ฯ จุฬาต่ออีก 2-3 ปีก่อนโอนย้ายไปรามาธิบดี ผู้เขียนได้มีโอกาสรับปรึกษาผู้ป่วย
ของ GP ทั้งไทยและเทศ ทั้งจากกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด  GP ที่สามารถที่ขออนุญาตกล่าวถึงก็มี
นายแพทย์เอกชัย กำภู ผู้สำเร็จแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตจากสหรัฐอเมริกา  นายแพทย์สมหมาย ทองประเสริฐ
จากสิงห์บุรี และนายแพทย์แถม ทัพยุทธพิจารณ์ จากสระบุรี  ทั้งนี้ผู้เขียนยังไม่ได้รวมแพทย์และอาจารย์แพทย์
ที่ทำเวชปฏิบัติทั่วไปนอกเวลาราชการ  เวชปฏิบัติทั่วไปเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องได้มีการเปิดคลินิก 24 ชั่วโมง
(คลินิกโต้รุ่ง) ใจกลางกรุงเทพมหานคร  ย่านประตูน้ำดูจะเป็นแห่งแรกตามด้วยโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งปัจจุบัน
มีอยู่เกือบทุกจังหวัดของประเทศ  แต่เรื่องสุดท้ายที่ผู้เขียนต้องกล่าวถึงก็คือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ซึ่งคนไทยทุกคนในปัจจุบันควรภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่แพทย์ไทยกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ริเริ่ม แตกต่างจากเรื่องที่
ผู้เขียนได้กล่าวถึง สหราชอาณาจักรที่มีนักการเมืองเป็นหัวหอก  สำหรับกลุ่มแพทย์ไทยที่ได้มีคุณูปการเป็นอย่างยิ่ง
ต่อประเทศผู้เขียนขออนุญาตเอ่ยชื่อเพียงนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ (พ.ศ. 2495-2551) ศิษย์รามาธิบดี
รุ่นที่ 7 ผู้ล่วงลับก่อนวัยอันควร แต่ได้แนะนำรายชื่อหนังสือที่ผู้สนใจเรื่องการปฏิรูประบบบริการสุขภาพ
ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันไว้ให้ ก็เป็นที่หวังว่าอนาคตของประเทศซึ่งในมือของผู้บริหารจะเป็นนักการเมืองหรือ
ไม่ใช่ก็ตามจะยึดถือตามที่อมตะ เสน (Amartya Sen, ค.ศ. 1933-)  นักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบล
(ค.ศ. 1998) ได้กล่าวไว้เมื่อเร็ว ๆ นี้ในบทความเรื่อง หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ความฝันที่สามารถซื้อหาได้
(Universal Healthcare : the affordable dream) ว่าเป็นเป้าหมายทางสังคมที่ชัดเจนของประเทศต่าง ๆ
ไม่เว้นแม้แต่ประเทศยากจนที่ขาดแคลนและยังห่างไกลจากการทำให้เกิดบริการสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับทุกคน
ได้ก็ตาม

แนะนำเอกสาร
1)  สฤษดิคุณ กิติยากร  (พ.ศ. 2550)  พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
     หน้า 509

2)  Bynum W.  (2008).  The History of Medicine.  A very short introduction.  Oxford University
     Press Inc.  New York.  pp. 169.

3)  Porter R.  (1999).  The Greatest Benefit to Mankind: A medical history of humanity from antiquity
     to the present.  Harper Collins Publishers.  London.  pp. 831.

4)  อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ  (พ.ศ. 2545)  สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยกับการแพทย์สากล 
     วารสารราชบัณฑิตยสถาน  27 : 85-88

5)  Wikipedia.  (2016).  Aneurin Bevan (1897-1960).

6)  ศิริเพ็ญ (อินทุลักษณ์) พัววิไล  (2016)  ติดต่อส่วนตัว

7)  สงวน นิตยารัมภ์พงศ์  (พ.ศ. 2551)  งานกับอุดมคติของชีวิต  159 หน้า

8)  The Independent.  (2011).  John Fry (1922-1994).  Sunday 23 October.  Obituary
      by Peter Orton.

9)  Stephenson A.  (2015).  Unveiling of John Fry Plaque.  GKT Gazette.  1294 : 38-39.

10) The NHS Britain.  (2016).  The Economist.  January 16th.  418 : 58.

11) วิชัย โชควิวัฒน  (พ.ศ. 2558)  เล่าให้ลึก (๕)  ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมด้าน
      การสาธารณสุข  สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  หน้า 224-272

12) วิชัย โชควิวัฒน  (พ.ศ. 2558)  ตำนานบัตรทอง  ประวัติศาสตร์การสร้างระบบหลักประกัน
      สุขภาพถ้วนหน้าของไทย  บริษัท ศรีเมืองการพิมพ์ จำกัด  180 หน้า





 

 

[ back ]