Broca Aphasia

Broca Aphasia

        ภาวะเสียการสื่อความเหตุศูนย์สั่งการ (motor aphasia) รู้จักกันดีในชื่อ ปิแอร์ พอล โบรคา
(Pierre Paul Broca, ค.ศ. 1824-1880) แพทย์ชาวฝรั่งเศส  พอลเกิดที่เมืองเล็ก ๆ ใกล้เมืองบอร์โด
(Bordeaux) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ  บิดาเป็นแพทย์รับราชการอยู่ในกองทัพของนโปเลียน
(Napoleon, ค.ศ. 1769-1821)  พอลอยากเป็นวิศวกรแต่พ่อต้องการให้เป็นแพทย์จึงเข้าเรียนแพทย์ที่ปารีส
เมื่อเรียนจบแล้วได้เข้าฝึกเป็นแพทย์ประจำบ้านทางศัลยกรรมและเป็นอาจารย์ผู้ช่วยทางกายวิภาคศาสตร์ 
นอกจากงานประจำพอล โบรคา ยังสนใจการเมืองมีหัวคิดแนวซ้ายถึงขั้นได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาตลอดชีพ
ของสาธารณรัฐฝรั่งเศส

        ในปี ค.ศ. 1861 เขาได้รายงานผู้ป่วยลมชักอายุ 51 ปี มีอัมพาตซีกขวาและพูดไม่ได้ต่อที่ประชุม
สมาคมมานุษยวิทยาที่เขาร่วมก่อตั้งและกล่าวถึงผู้ป่วยที่ไม่เป็นอัมพาต รู้ตัวดี ฟังเข้าใจแต่พูดโต้ตอบไม่ได้
โดยเขาใช้ศัพท์ “aphemia” สำหรับอาการที่กล่าว  จากการตรวจสมองของศพผู้ป่วยที่มีอาการนี้หลายคน
โบรคาพบรอยโรคที่ลอนสมองส่วนหน้าซีกซ้าย (left frontal convolution) ต่อมาอามองด์ ทรูสโซ
(Armand Troussean, ค.ศ. 1801-1867) เปลี่ยนใช้คำ “aphasia” แทน aphemia และในปี ค.ศ. 1874
คาร์ล แวร์นิเก (Karl Wernicke, ค.ศ. 1848-1905) ใช้คำ motor aphasia เพื่อให้แยกจาก sensory aphasia
ที่มีศูนย์อยู่ที่สมองกลีบขมับ (temporal lobe)

        โบรคาขยายความตำแหน่งที่เป็นศูนย์การ “พูด” รวมไปถึงสมองลอนซ้ายกลีบข้างเป็นส่วนรอบ
รอยแยกซิลเวียน (Sylvian fissure) ตามชื่อ Franciscus Sylvius, ค.ศ. 1614-1672 แพทย์ชาวดัทช์ที่เกิด
ในเยอรมนี

        ความคิดเห็นของโบรคาถูกคัดค้านเป็นระยะๆ เริ่มตั้งแต่ Marc และ Gustave Dax (ค.ศ. 1771-1837,
1815-1874) ประสาทแพทย์พ่อลูกชาวฝรั่งเศส  ต่อมาก็มีปิแอร์ มารี (Pierre Marie, ค.ศ. 1853-1940)
ศานุศิษย์คนโปรดของฌอง-มาร์แตง ชาโก (Jean-Martin Charcot, ค.ศ. 1825-1893)   เซอร์ เฮนรี เฮด
(Sir Henry Head, ค.ศ. 1861-1940) ปรมาจารย์ทางอายุรศาสตร์ชาวอังกฤษที่คณะแพทย์โรงพยาบาลลอนดอน
(The London Hospital Medical College)  และเคิร์ท โกลด์สไตน์ (Kurt Goldstein, ค.ศ. 1878-1965) 
จนหลังปี ค.ศ. 1945 คนส่วนมากจึงกลับมาสนับสนุนโบรคาจนปัจจุบัน

        ในต้นศตวรรษที่ 19 ประมาณ 60 ปีก่อนโบรคารายงานผู้ป่วย “พูดไม่ได้” ฟรานซ์-โจเซฟ กอลล์
(Franz-Joseph Gall, ค.ศ. 1758-1828) ได้เคยเสนอทฤษฎีศึกษาหรือวิเคราะห์บุคลิกนิสัยของคนรวมทั้ง
สมรรถนะหรือความสามารถโดยการดูจากลักษณะรูปร่างของกะโหลกศีรษะ “ศาสตร์”   ที่เรียก phrenology
(อ่าน เฟร็นนอลฺ´เลอจิ) ซึ่งเป็นที่นิยมและเชื่อกันมากในยุคนั้น จนกระทั่งมารี-ฌอง-ปิแอร์ ฟลัวรอง
(Marie-Jean-Pierre Flourens, ค.ศ. 1794-1867) แพทย์และนักสรีรวิทยาชาวฝรั่งเศส ทำการทดลองด้วย
การทำลายสมองส่วนหน้าของนกและไม่เห็นด้วยกับกอลล์ แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญก็คือ ผลการศึกษาของโบรคา
ที่กล่าวถึง  ถึงแม้ทฤษฎีดู “ศีรษะคน” จะตกไปแต่ทั้งกอลล์และฟลัวรองก็ได้ทำประโยชน์ให้แก่ประสาทสรีรวิทยา
ดังที่ปรมาจารย์จากทางประสาทวิทยาและผู้เชี่ยวชาญ “อภาษา” แนวหน้าแห่งศตวรรษที่ 20 เช่น นายแพทย์
แมคโดนัลด์ คริทช์ลีย์ (Macdonald Critchley, ค.ศ. 1900-2000) เขียนไว้ 

        เหตุการณ์ที่ขึ้นชื่อและถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์จนปัจจุบันก็คือ การพบกันระหว่างโบรคาและเซอร์
ฮิวลิงส์ แจคสัน (Sir Hughlings Jackson, ค.ศ. 1835-1911) ปรมาจารย์ทางประสาทวิทยาชาวอังกฤษที่
พวกเรารู้จักกันดีในนามลมชักแจคสัน (Jacksonian Epilepsy) คือ การประชุมที่นครนอริช (Norwich)
ประเทศอังกฤษของ The British Association for the Advancement of Science เมื่อปี ค.ศ. 1868  แพทย์
นักวิชาการไปร่วมประชุมเป็นจำนวนมากโดยคิดว่าผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองคงจะโต้แย้งกันแต่ความหาเป็นเช่นนั้นไม่
เพราะถึงตอนนั้นโบรคาเขียนบรรยายในเรื่องนี้มามากจนความสนใจเบนไปเรื่องการเมืองมากกว่า  ประสาทแพทย์
นักวิชาการ ในเรื่อง อภาษา ดูเหมือนจะผิดหวังบ้าง !

        คำ “อภาษา” เป็นคำที่ศาสตราจารย์แจ็ค แกนเดอร์ (Jack Gandour) นักภาษาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย
เพอร์ดิว (Purdue) สหรัฐอเมริกา ขณะมาปฏิบัติการสอนและวิจัยที่คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ร่วมกับรองศาสตราจารย์รจนา ทรรทรานนท์ ได้เสนอ  อาจารย์ทั้งสองและผู้เขียนเคยรายงานการศึกษาผู้ป่วยไทย
ที่มีอภาษาแบบโบรคาด้วยการใช้การตรวจที่อาจารย์ทั้งสองดัดแปลงจากวิธีตรวจบอสตัน (Boston Diagnostic
Aphasia Examination) ผู้ป่วยเป็นหญิงไทยอายุ 60 ปี ถนัดมือขวา เป็นโรคเนื้อสมองกลีบหน้าและกลีบข้างซ้ายตาย
จากหลอดเลือดแดงอุดตัน  มีเบาหวานและความดันเลือดสูง มีอาการพูดเองได้ไม่คล่อง พูดช้า พูดซ้ำ ๆ ผิดปกติ
ฟังไม่ชัด แต่เข้าใจคำถามดี เช่น ถูกผู้ตรวจถาม “เวลาเคี้ยวเวลากลืนลำบากไหม”  ผู้ป่วยตอบ “ไม่บั้ะ ไม่ลางบาด”
(= ไม่ค่ะ ไม่ลำบาก)  คุณผอมลง ไม่เบื่ออาหารแล้วทำไมทานไม่ได้ล่ะ  ตอบ “ตูน ต๋อ อะเตะติด ไต้ โต๊ตโตน”
(= คุณหมออรรถสิทธิ์ให้ลดลง !) จังหวะการพูด เสียงสูงต่ำ สระ พยัญชนะบกพร่อง

        ผู้เขียนขอจบโดยขออนุญาตเล่าเรื่องตลกเรื่องจริงคงไม่หยาบโลนที่ได้เรียนจากปรมาจารย์แพทย์
ในเรื่องอภาษาแบบโบรคาคือ นายแพทย์แมคโดนัลด์ คริทช์ลีย์ (Macdonald Critchley, ค.ศ. 1900-2000)
ขณะเป็น fellow ที่สถาบันแห่งชาติทางประสาทวิทยาที่ควีนสแควร์ สหราชอาณาจักร (1962-1963)
แพทย์ประจำบ้านและ fellow ถูกถามว่า ผู้ป่วยที่มี stroke และเกิดมี Broca aphasiaแต่พอพูดได้บ้าง พูดซ้ำ ๆ
พูดเรื่องที่กำลังคิดจะพูดพอดีเกิด stroke หรือพูดเรื่องสุดท้ายแล้วเกิด stroke ?  ลูกศิษย์ที่ฟังคิดกันมาก
แบ่งเป็นสองฝ่าย ท่านเฉลยว่าเคยมีผู้ป่วยเป็นสุภาพสตรีมีอาการเช่นนั้นบังเอิญพูดได้เพียงประโยคเดียว
“Not to-night dear” ซ้ำ ๆ อยู่  ผู้อ่านทุกคนคงได้คำตอบแล้ว !


แนะนำเอกสาร
1)  Moffie D, Schiller F.  (2000).  Broca’s aphasia.  In: Neurological Eponyms.  Eds. PJ Koehler,
     GW Bruyn, JMS Pearce.  Oxford, Oxford University Press, pp. 194-199. 

2)  Blakemore C.  (2005).  In celebration of cerebration.  Harveian Oration.  Clin Med.  5 : 589-613.

3)  Critchley M.  (1965).  Neurology’s debt to F.J. Gall (1758-1828).  Br Med J.  2 (5465) : 775-781.

4)  Pearce JMS.  (2009).  Marie-Jean-Pierre Flourens (1794-1867) and cortical localization. 
     Eur Neurol.  61 : 311-314.

5)  Joynt RJ.  (1982).  The Great Confrontation: The Meeting between Broca and Jackson in 1868. 
     In: Historical Aspects of the Neurosciences.  A Festschrift for Macdonald Critchley.  Eds. FC Rose,
     WE Bynum.  USA, New York, Raven Press.  pp. 99-102.
 
6)  Lorch MP.  (2008).  The merest logomachy: The 1868 Norwich discussion of aphasia by Hughlings
     Jackson and Broca.  Brain.  131 : 1658-1670.

7)  La Pointe LL.  (2008).  Paul Broca and the origins of languagein the brain.  Pleural Publishing, USA,
     San Diego, CA.  pp. 345.

8)  Gandour J, Dardarananda R, Vejjajiva A.  (1985).  Case study of a Thai Broca Aphasiac with
     an adaptation of the Boston Diagnostic Aphasia Examination.  J Med Assoc Thai.  68 : 552-563.
 

 

 

[ back ]