Alzheimer’s Disease

Alzheimer’s Disease

        ปัจจุบันคนเป็นจำนวนมากมีชีวิตอยู่เกิน 65 ปี ในผู้สูงอายุเหล่านั้นร้อยละ 26 จะถึงแก่กรรมด้วย
โรคหัวใจ  ร้อยละ 21 ด้วยมะเร็ง  ร้อยละ 7  ด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ  ร้อยละ 6  ด้วยโรคหลอดเลือดสมอง
พิการและเพียงร้อยละ 4 ด้วยโรคสมองเสื่อม (dementia) ซึ่งเป็นจากโรคอัลซ์ไฮเมอร์ (Alzheimer’s disease, AD)
ประมาณร้อยละ 60-70

        ในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมาแพทย์และคนทั่วไปรู้จัก AD กันมากขึ้นเพราะบุคคลสำคัญในโลก เช่น
อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan)  ดาราภาพยนตร์ที่มีชื่อ เช่น ริต้า เฮเวิร์ธ
(Rita Hayworth) และอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ฮาโรลด์ วิลสัน (Harold Wilson) เป็นโรคนี้  อาการ AD
ที่พบบ่อยที่สุดคือ จำอะไรที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ค่อยได้ นอกจากนี้ก็เป็นอาการทางประชานพิสัยอื่น ๆ และอารมณ์
แปรปรวนจนในที่สุดดูแลตนเองในชีวิตประจำวันไม่ได้  ผู้เขียนไม่มีสถิติผู้ป่วยไทยที่เป็น AD แต่ที่
สหราชอาณาจักรที่มีประชากรไม่ถึง 60 ล้านคนมีผู้ป่วยสมองเสื่อมที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น AD แล้ว
ประมาณ 5 แสนคน  ปัจจุบันยังไม่มีการตรวจอย่างเดียวที่บอกได้แน่ชัดว่าผู้ป่วยเป็นโรคนี้ แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้
มีรายงานการศึกษาวิจัยสารนัวรอแกรนิน (neurogranin) ซึ่งเป็นตัวกำหนดชีวภาพ (biomarker) ในน้ำหล่อสมอง
และไขสันหลังบ่งบอกถึงการสูญเสียรอยประสานประสาท (synaptic loss) สามารถใช้เป็นตัวพยากรณ์ได้ว่าผู้ป่วย
ที่มีประชานพิสัยบกพร่องเล็กน้อย (mild cognitive impairment หรือ MCI) จะกลายเป็น AD  ยิ่งกว่านั้น
ข่าวที่ทำให้วงการแพทย์ตะวันตกแตกตื่นก็คือ Krtin Nithiyanandam อายุ 15 ปีค้นพบแอนติบอดีที่เข้า
เนื้อสมองได้และพบรอยโรคของ AD หลายปีก่อนมีอาการ  อณูที่เขาพัฒนาขึ้นจะจับตัวกับ amyloid beta
oligomers และ transferring receptors (เป็น bispecific antibody) Krtin เกิดที่อินเดีย  แล้วติดตามบิดาซึ่ง
ทำงานเป็นที่ปรึกษาทางเทคโนโลยีสารสนเทศและมารดาซึ่งเป็นครู  ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่ชานเมืองลอนดอน
ประเทศอังกฤษ เป็นเด็กที่ฉลาดมาก สนใจทางงานวิจัยด้านประสาทวิทยาศาสตร์ สมัครแข่งขันชิงรางวัลระดับ
ประเทศจากการค้นพบแอนติบอดีดังกล่าว และล่าสุดนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยอัลเบิร์ตา (Alberta) แคนาดา
แทนที่จะใช้เลือดหรือน้ำหล่อสมองและไขสันหลัง เลือกใช้น้ำลายผู้ป่วยตรวจสารกำหนดชีวภาพ 6 ถึง 12 ตัว
ซึ่งทำได้ง่าย สะดวกและได้ผล  การวินิจฉัย AD  แต่เนิ่น ๆ ด้วยวิธีนี้จะให้โอกาสผู้ป่วยได้มีส่วนร่วมใน
การตัดสินใจเรื่องการวางแผนการรักษาเช่นผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งและการวางแผนอนาคตในชีวิตได้ !

        ก่อนจบผู้อ่านเรื่องนี้คงจะสนใจทราบประวัติของผู้พบโรคสมองเสื่อมนี้

        อลอยส อัลซ์ไฮเมอร์ (Alois Alzheimer, ค.ศ. 1864-1915) เป็นชาวเยอรมัน เกิดที่เมืองเล็ก ๆ
ใกล้เมืองวัวรสทบวร์ก (Würzburg) ศึกษาแพทยศาสตร์ที่เบอร์ลิน (Berlin) วัวรสทบวร์กและทูบินเงน
(Tubingen) แล้วทำงานวิจัยทางมิญชวิทยา (Histology) อยู่ระยะหนึ่งก่อนไปทำงานที่โรงพยาบาลโรคจิต
ที่แฟรงค์เฟิร์ต (Frankfurt) ได้รู้จักและเป็นเพื่อนสนิทกับฟรานซ์ นิสส์ล (Franz Nissl, ค.ศ. 1860-1919)
ซึ่งต่อมาเป็นประสาทพยาธิแพทย์ที่มีชื่อเสียง ซึ่งแพทย์เราคงจะจำ Nissl’s granules ได้ ต่อมาอัลซ์ไฮเมอร์
ได้ย้ายไปทำงานกับเอมิล เครเพลิน (ค.ศ. 1856-1926) จิตแพทย์ผู้มีชื่อเสียงที่เมืองมิวนิก (Munich)
และเป็นผู้ให้ชื่อโรคทางสมองเสื่อมตามชื่ออัลซ์ไฮเมอร์ที่เป็นผู้พบ  อัลซ์ไฮเมอร์เป็นคนระมัดระวังมาก
จึงไม่ได้ใส่ใจจะอ้างชื่อตนเอง แต่ต่อมาสมองผู้ป่วยทั้งสองคนที่อัลซ์ไฮเมอร์รายงานไว้ก็ได้รับการตรวจและ
ยืนยันว่าเป็นโรคเช่นนั้น  อัลซ์ไฮเมอร์สมรสกับเศรษฐีนีม่ายชาวเยอรมัน มีบุตรสาวสองคน บุตรชายหนึ่งคน 
เขาอายุสั้นเพียง 51 ปี สาเหตุการเสียชีวิตไม่มีบันทึกไว้

        สุดท้าย หากเป็นไปได้วงการแพทย์ควรเรียกโรคนี้ว่า โรคอัลซ์ไฮเมอร์ เพื่อเป็นเกียรติแก่
แพทย์ผู้ค้นพบชาวเยอรมัน  การเรียกชื่อคนให้ถูกต้องเป็นวิสัยของบัณฑิต เราจึงเห็นเสมอ ๆ ว่านักวิชาการ
ต่างประเทศพยายามเรียนและเรียกชื่อคนไทยเราให้ถูกต้องบ่อย ๆ


แนะนำเอกสาร
1)  Time.  (2015).  What are my risk factors?  July 6-13,  p. 59. 

2)  อรรถสิทธิ์  เวชชาชีวะ  (พ.ศ. 2555)  MCI   www.athasit.com

3)  Neurology Today.  (2015).  Neurogranin, a CSF biomarker for synaptic loss, is found to predict
     progression from MCI to Alzheimer’s Disease.  Aug. 6, p. 10.

4)  Hartley M.  (2015).  Early detection of Alzheimer’s.  GKT Gazette.  Sep-Oct, pp. 44-45.

5)  Krtin Nithiyanandam.  (2015).  The Telegraph, 19 October 2015.

6)  Arts NJM.  (2000).  Alzheimer’s Disease.  In Neurological Eponyms.  Eds. Koehler PJ, Bruyn GW,
     Pearce JMS.  Oxford University Press, Oxford.  pp. 261-268.

 

 

[ back ]