Z (ชุดที่ 4) - (From Aab to) Zuckerkandl

(From Aab to) Zuckerkandl

        Zuckerkandl เป็นชื่อเรียก chromaffin body ที่มาจาก neural crest ที่นักกายวิภาคและแพทย์รู้จักกันดี 
ตำแหน่งอยู่ที่จุดแยกเป็นสองง่ามของเอออร์ตา (bifurcation of aorta) จำนวนกว่าร้อยละ 95 ของอวัยวะนี้จะไม่ร้าย
(benign) ไม่ทำให้เกิดอาการ (asymptomatic) ส่วนที่เหลือทำให้เกิดลักษณะอาการเหมือนฟีโอโครโมซัยโทมา
(pheochromocytoma) นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกต่อมไร้ท่อหลายต่อม (multiple endocrine neoplasia, MEN)
ชนิด 2A และ 2B อาจมีอาการ ปวดศีรษะ ใจสั่น เหงื่อออกและแรงดันเลือดสูงจากเนื้องอกที่กล่าวถึงร่วมด้วย 
ปัจจุบันการถ่ายภาพด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computerized tomography, CT) หรือภาพเอ็มอาร์ไอ
(magnetic resonance imaging, MRI) ประกอบกับการสแกนด้วย 123I-metaiodobenzylguanidine    
(123I-MIBG) ช่วยให้การวินิจฉัยโรคได้ถึงร้อยละ 95-100

        เอมิล ซัคเกอร์คานดล์ (Emil Zuckerkandl, ค.ศ. 1849-1910) เป็นศาสตราจารย์กายวิภาคแห่ง
มหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย ผู้มีเชื้อสายฮังกาเรียน (Hungarian) ด้วย  เป็นผู้ค้นพบและรายงาน
เกี่ยวกับอวัยวะนี้เป็นคนแรก

        เป็นที่น่าสังเกตว่าเรื่องของผู้เขียนที่ขึ้นต้นด้วยอักษรอังกฤษตัวสุดท้ายคือ Z ในชุด/เล่มที่ 1  ถึง 3
ได้แก่ Zoster, Zoonosis และ Zuckerberg เมื่อจบแล้วก็จบกัน !  แต่ในชุดหรือเล่มที่ 4 นี้  มีเพิ่ม “จาก Aab ถึง...”

        Aab หรืออาบในภาษาไทย เป็นชื่อของนายอาบ รักตะประจิต หรือพลโทพระยาศัลวิธานนิเทศ
(ค.ศ. 1909-1986) อดีตเจ้ากรมแผนที่ทหาร  อดีตสมุหราชองครักษ์  ราชบัณฑิตและประธานสำนักวิทยาศาสตร์
เมื่อครั้งศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) สหรัฐอเมริกา ก่อนที่คนไทยจะได้รับ
พระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 พระราชทานนามสกุลท่านใช้ชื่อนายอาบ
(Aab) ชื่อท่านจึงเป็นชื่อแรกในทำเนียบศิษย์เก่าฮาร์วาร์ดทั้งหมดเมื่อเรียงลำดับตัวอักษร ! จนเมื่อ ค.ศ. 1913
ไปแล้วจึงบันทึกเป็น Aab Raktaprachita, Lieutenant-General PhyaSalwidhan-Nidhes (อาบ รักตะประจิต
พลโทพระยาศัลวิธานนิเทศ) นามสกุล รักตะประจิตเป็นนามสกุลเลขที่ 0648 จากที่รัชกาลที่ 6 พระราชทาน
รวมทั้งสิ้น 6,432 นามสกุล

        ปัจจุบันคนไทยแม้แต่แพทย์บางคนเมื่อรายงานผลงานวิจัยลงตีพิมพ์ในวารสารเป็นภาษาอังกฤษ
ใช้ชื่อแทนนามสกุลและเขียนนามสกุลเป็นอักษรย่อสลับกัน อาจจะ “เกรงใจ” ฝรั่ง เกรงว่าชื่อสกุลของตน
จะสะกดลำบาก อ่านยากซึ่งไม่ควรกระทำ

        ในชีวิตประจำวันผู้เขียนขอแนะนำให้ทุกคนใช้ความพยายามเพิ่มขึ้นในการจำชื่อ นามสกุล และชื่อเล่น
(nickname) ของเพื่อน คนรู้จักและคนที่จะต้องติดต่อ คบหาด้วยไว้เพราะเป็นประโยชน์  บังเอิญชื่อเล่นของคนไทย
ผิดกับของคนตะวันตก ของเขาชื่ออะไรพอบอกชื่อเล่นได้  โจ (Jo) เป็นชื่อเล่นของโจเซฟ (Joseph) จิมมี่ (Jimmy)
ของเจมส์ (James)  บ็อบ (Bob) ของโรเบิร์ต (Robert)  เท็ด (Ted) ของเอ็ดเวิร์ด (Edward)  เคที่ (Kathy) ของ
แคทรีน (Katherine) และเจนนี่ (Jenny) ของเจนิเฟอร์ (Jennifer) ฯลฯ

        ยิ่งกว่านั้นเนื่องจากคนไทยเป็นจำนวนมาก (รวมทั้งผู้เขียน !) มีเชื้อสายจีน  ถ้ารู้จักชื่อแซ่ด้วยก็ยิ่งดี 
บางรายทราบชื่อนามสกุลไทยก็ยังรู้ว่าเป็นจีนแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ไหหลำหรือแคะ (ฮากกา)   เท่าที่ทราบคนไทย
เชื้อสายจีนมาจากแซ่ตั้ง (Tang)  แซ่ลี้ (Lee)  และแซ่ฉั่ว (Chua) มาก  ถ้ามาจากแซ่อ้วน (อวน, อ๋วน) เป็น
ชาวฮกเกี้ยนบางคนใช้นามสกุลไทยขึ้นต้นด้วย องค์...  ส่วนคนไทยเชื้อสายจีนไหหลำ ได้แก่ แซ่ฮุน (ฮุ้น)
มีนามสกุลไทยเป็นฮุนตระกูล ซึ่งบุคคลสำคัญของไทยในอดีตคือ พระยาศรีวิศาลวาจา (พ.ศ. 2439-2511)
อดีตปลัดบัญชาการนายกรัฐมนตรี (ดูเหมือนจะเป็นท่านเดียวที่ดำรงตำแหน่งนี้ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
(พ.ศ. 2451-2506) นายกรัฐมนตรีคนที่ 11 ของไทย)  อดีตปลัดทูลฉลอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ
กระทรวงการคลัง  อธิการบดี  คนแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคนไทยคนแรกที่สอบได้เกียรตินิยม
อันดับหนึ่งจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford) อังกฤษและสอบได้เนติบัณฑิตจากมิดเดิลเทมเปิล
(Middle Temple)  นอกจากเชื้อสายไหหลำ แซ่ฮุน (ฮุ้น) มักใช้นามสกุลไทยขึ้นต้นด้วยคำวา “เมฆ-” หรือ
“เมฆา-” ส่วนคนแต้จิ๋วที่มาจากแซ่เบ๊ มักจะใช้นามสกุลไทยมีคำว่า “อาชา” เช่น นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 21
คุณบรรหาร ศิลปอาชา (พ.ศ. 2475-) เป็นต้น


แนะนำเอกสาร
1)  Wikipedia.  (2015).  Organ of Zuckerkandl

2)  Wikipedia.  (2015).  EmilZuckerkandl

3)  อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ  (พ.ศ. 2546)  ปวดศีรษะ ใจสั่น ในหญิงที่มีแรงดันเลือดสูง 
     ใน เรียนอายุรศาสตร์จากกรณีผู้ป่วย (3)  บริษัท ซิล์คโรดพับบลิเชอร์เอเยนซี จำกัด  กรุงเทพฯ  หน้า 85-98

4)  Lenders JWM, Eisenhofer G, Mannelli M, Pacak K.  (2005).  Pheochromocytoma.  Lancet. 
     366 : 665-675.

5)  Wikipedia.  (2015).  รายชื่อนามสกุลพระราชทาน

6)  จิตรา ก่อนันทเกียรติ  (พ.ศ. 2558)  ติดต่อส่วนตัว

 

 

 

 

[ back ]