X (ชุดที่ 4) - XX, XY & 3 Parents !

XX, XY & 3 Parents !

        เมื่อเห็นหัวข้อสำหรับอักษรนี้ นักศึกษาแพทย์และแพทย์ทุกคนก็ทราบว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับโครโมโซม
(หรือโฆรโมโสม ?)  นักวิทยาศาสตร์ทราบกันมากว่าหนึ่งร้อยปีแล้วว่าเพศหญิงมีโครโมโซมเพศคู่ที่เหมือนกัน
หรือ XX  ส่วนของชายมีคู่ที่ไม่เหมือนกันคือ XY ซึ่งปัจจุบันทราบว่ามียีน (gene) ที่เรียก SRY
(Sex-determining Region of the Y chromosome) เป็นตัวกำหนดการเจริญเติบโตของอัณฑะ มียกเว้นบางกรณี
ที่ยีนตัวอื่นคือ ยีน SOX9 สามารถทำแทนได้

        ความรู้ทางอณูพันธุศาสตร์ก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดหลังฟรานซิส คริคก์ (Francis Crick,
ค.ศ. 1916-2004) และเจมส์ วัตสัน (James Watson, ค.ศ. 1928-) รายงานเมื่อ ค.ศ. 1953 ว่า ดีเอ็นเอ
ในโครมาติดเป็นสายขดคู่ (double-stranded) และอีก 50 ปีต่อมา (ค.ศ. 2003)   เครก เวนเตอร์
(Craig Venter, ค.ศ. 1946-)  ฟรานซิส คอลลินส์ (Francis Collins, ค.ศ. 1950-) และคณะทำการถอดรหัส
ลำดับเบสคู่ของสายดีเอ็นเอมนุษย์ทำให้ทราบองค์ประกอบตัวแจ้งสารสนเทศพันธุกรรม นำไปสู่การระบุเอกลักษณ์
สุขภาวะและกำเนิดโรคของปัจเจกบุคคลซึ่งอำนวยประโยชน์ด้านการวินิจฉัยโรคอีกด้วย

        อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นที่สนใจของแพทย์และบุคคลทั่วไปอยู่เสมอ ๆ ก็คือ ทำไมหญิงจึงอายุยืนกว่าชาย
สาเหตุทางพันธุกรรมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก ทีโลเมียร์ (telomere) หรือโครโมโซมส่วนปลาย
(หมวกโครโมโซม) ของชายสั้นลงเร็วกว่าของหญิง ประกอบกับปัจจัยอื่น เช่น ฮอร์โมนเพศชาย ปัจจัยภายนอก
และสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ช่วยเสริมด้วย

        ต่อไปจะขอกล่าวถึงโรคไมโทคอนเดรีย (mtD) ซึ่งแต่เดิมคิดว่าเป็นโรคที่พบได้น้อยมากเพียง 1 ถึง 2
ในประชากร 1 ล้านคน แต่เมื่อ ค.ศ. 1981 เป็นต้นมาเมื่อเราทราบการเรียงตัวของจีโนมไมโทคอนเดรียและ
ทราบการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอที่เป็นสาเหตุเกิดโรค เมื่อ 8-9 ปีต่อมาจึงทราบว่าโรคเหล่านี้เป็นโรคพันธุกรรม
ที่พบบ่อยมากกล่าวกันว่าแม้แต่บุคคลสำคัญของโลกอย่างชาร์ลส์ ดาร์วิน (ค.ศ. 1809-1882) เจ้าของทฤษฎี
วิวัฒนาการก็เป็นโรคนี้ (ยีน A3243 กลายพันธุ์ !)    เมื่อ ค.ศ. 1959-1960 โรแลนด์ ลุฟท์ (Roland Luft)
เป็นคนแรกที่รายงานโรค mtD  ไมโทคอนเดรีย (mt) มีหน้าที่สร้างพลังงานและมีอยู่ในทุกเซลล์ของร่างกาย
ยกเว้นเม็ดเลือดแดง  mt เปลี่ยนพลังงานจากอณูอาหารเป็นอดีโนซีนไทรฟอสเฟต (adenosine triphosphate
หรือ ATP) เพื่อให้เซลล์ใช้  โรคประเภทนี้ร้อยละ 15 เกิดจากดีเอ็นเอที่ mt กลายพันธุ์ อีกร้อยละ 85 เกิดจาก
ยีน DNA ที่นิวเคลียส (nucleus) แล้วผลผลิตที่ได้นำเข้าไปยัง mt  อาการและสัญญาณโรคเกิดที่หลายอวัยวะ
เช่น กล้ามเนื้อลาย ระบบประสาท หัวใจ ตับ ไต ระบบทางเดินอาหาร สายตาเสื่อม หูหนวก พบได้ทั้งเด็ก
วัยรุ่นและผู้ใหญ่  ที่ควรนึกถึงโรค mtD ก็เมื่อเห็นอาการแปลกดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยกัน  ผู้เขียนจำได้ดีว่าเคยให้
การวินิจฉัยโรคผู้ป่วยชายไทยอายุ 18 ปีที่รามาธิบดี เมื่อประมาณ ค.ศ. 1970-3 ที่มีอาการหนังตาตก
กล้ามเนื้อกลอกตาอ่อนแรง หายใจเร็วผิดปกติ ว่าเป็นโรคลีห์ (Leigh disease) ต่อมาก็ทราบกันว่าเป็น
โรคในกลุ่ม mtD แต่เป็นยีนจากนิวเคลียสถ่ายทอดแบบออโตโซมลักษณะด้อย (autosomal recessive)
ซึ่งเดนิส ลีห์ (Denis Leigh, ค.ศ. 1915-1998) ประสาทและจิตแพทย์ชาวอังกฤษรายงานไว้เมื่อ ค.ศ. 1951 
เดนิส ลีห์ มีบุตรชายเป็นศาสตราจารย์ทางประสาทวิทยาชื่อ ไนเจล ลีห์ (Nigel Leigh) เคยอยู่ที่คิงส์คอลเลจ
ลอนดอน (King’s College, London) ปัจจุบันอยู่ที่โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยไบรท์ตันและสัสเสค
(Brighton and Sussex) เชี่ยวชาญโรค amyotrophic lateral sclerosis หรือ ALS ที่รู้จักกันดี

        ความเจริญก้าวหน้าทางสูติศาสตร์ด้านการเจริญพันธุ์ที่ได้ประสพความสำเร็จยิ่งจากการผสมพันธุ์
ในจานแก้ว (In Vitro Fertilization เมื่อ ค.ศ. 1978) ได้มีอานิสงส์ต่อการรักษา mtD โดยเมื่อใกล้ ค.ศ. 2000
นายแพทย์จาค โคเฮน (Jacques Cohen, ค.ศ. 1951-) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญวิทยาเอ็มบริโอชาวดัชท์ (Dutch)
ที่สถาบันเซนต์บาร์นาบาส มลรัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา ได้ผสมดีเอ็นเอจากอสุจิและไข่จากสามีภรรยา
(ที่เคยมีลูกเป็น mtD) พร้อมทั้ง mt จากสตรีที่ปกติได้สำเร็จโดยลูกที่ออกมามี DNA จากชาย 1 หญิง 2 
ได้ทำการ “รักษา” โรค mtD ได้เกือบ 50 คนในโลกก่อนที่ถูกห้าม หนึ่งในผลผลิตนั้นคือ นางสาวอลานา
ซาอาร์เนน (Miss Alana Saarnen เกิด ค.ศ. 2000) ซึ่งเป็นที่วงการแพทย์รู้จักและกล่าวขวัญถึง
เธอเป็นวัยรุ่นที่ชอบเล่นกอล์ฟและเปียโน และให้สัมภาษณ์เสมอว่าเธอรู้สึกเหมือนเด็กสาวปกติทุกประการ
และก็ไม่คิดว่าเธอมี “Parents” 3 คน !  เมื่อต้นปีนี้ (ค.ศ. 2015) สภาขุนนางหรือสภาสูงอังกฤษ
(House of Lords) ได้ออกพระราชบัญญัติ  “ตรีพันธุ์” (Three Parents Act) ซึ่งอนุญาตให้ใช้วิธีดังกล่าว
รักษา mtD ได้  นับเป็นประเทศแรกในโลก !  ก็เป็นที่เชื่อกันว่าไม่ช้าไม่นานนักประเทศอื่น ๆ รวมทั้ง
สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่บุกเบิกแต่ต้องสะดุดหยุดไป และประเทศไทยก็คงจะอนุญาตให้มีกฎหมาย
ตรีพันธุ์เพื่อรักษาโรคไมโทคอนเดรียได้


แนะนำเอกสาร
1)  Harrison’s Principles of Internal Medicine, 17th edition.  (2008).  Eds. Fauci A, Braunwald E,
     Kasper DL, et al.  McGraw-Hill Medical.  pp. 2339-2346.

2)  Crick F, Watson JD.  (1953).  Molecular structure of nucleic acids:  a structure for deoxyribose
     nucleic acid.  Nature.171 : 737-738.

3)  Charcot and Crick  ใน เกร็ดความรู้อายุรศาสตร์ A-Z เล่ม 3  อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ  (พ.ศ. 2557) 
     กรุงเทพฯ  ซิล์คโรดพับบลิเชอร์เอเยนซี  หน้า 22-29

4)  สมชัย บวรกิตติ  วิรัช ศรีพัฒนาสกุล  (พ.ศ. 2558)  ตัวแจ้งสารสนเทศพันธุกรรม
     วารสารวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม  2 : 15-23

5)  มานพ พิทักษ์ภากร  สมชัย บวรกิตติ  วิรัช ศรีพัฒนาสกุล  (พ.ศ. 2558)  เหตุหญิงอายุยืนกว่าชาย 
     ธรรมศาสตร์เวชสาร  15 : 148-153

6)  Ernster L, Ikkos D, Luft R.  (1959).  Enzymic activities of human muscle mitochondria: 
     a tool in clinical metabolic research.  Nature.184 : 1851-1854.

7)  Hayman J.  (2013).  Charles Darwin’s mitochondria.  Genetics.  194 : 21-26.

8)  Land JM, Morgan-Hughes JA, Hargreaves I, Heales SJ.  (2004).  Mitochondrial disease: 
     a historical, biochemical and London perspective.  Neurochem Res.  29 : 483-491.

9)  DiMauro S.  (2011).  A history of mitochondrial diseases.  J Inherit Metab Dis.  34 : 261-276.

10) Chinnery PF.  (2006).  Mitochondrial disorders – more common than you thought? 
      In:  Horizons in Medicine 18 RCPL.  Ed: Rhodes J.  pp. 119-128.

11) อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ  (พ.ศ. 2557)  I-IVF (In Vitro Fertilization)  ใน  เกร็ดความรู้อายุรศาสตร์ A-Z
      เล่ม 3  บริษัท ซิล์คโรดพับบลิเชอร์เอเยนซี จำกัด  กรุงเทพฯ  หน้า 40

12) Mitochondrial donation.  (2015).  Case of Alana Saarinen.  Wikepedia.

13) Three-parent babies.  (2015).  The Telegraph, UK.  Science news.  Saturday 15 August 2015.

 


 

 

[ back ]