U (ชุดที่ 4) - Ubiquity !

Ubiquity !

        เมื่อมาถึงอักษร U  ซึ่งเป็นอักษรตัวที่ 21 ของภาษาอังกฤษ  ผู้เขียนพยายามนึกว่าจะเลือกเรื่องอะไรดี
เพราะมีให้เลือกมากเลยเขียนคำนามทั่วไป  ubiquity (อ่าน ยูบิ๊ค´ ควีทิ) หมายถึง มีอยู่ทุกแห่งหรือหลายแห่ง
พร้อม ๆ กัน

        เริ่มด้วย U เฉย ๆ ก็นึกถึง คลื่น U หรือ U wave ในคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electro-cardiogram, ECG)
ซึ่งเป็นคลื่นที่ไม่พบเสมอไปตามหลังคลื่น T ถ้าพบแพทย์จะนึกถึงภาวะโปแตสเซียมในเลือดต่ำก่อนอย่างอื่น !

        เมื่อมาถึง  ubiquitin  จำได้ว่าศัพท์วิทยาศาสตร์คำนี้มีรากมาจากคำ ubiquity เป็นโปรตีนเล็ก ๆ หรือ
โพลีเปบไตด์ที่พบเมื่อไม่ถึง 50 ปีที่ผ่าน พบได้ในเกือบทุกเนื้อเยื่อ แรกพบในต่อมไทมัสของวัว  ความรู้เกี่ยวกับ
สารนี้ก้าวหน้ามากปัจจุบันทราบว่า ubiquitin ถูกกำหนดโดยยีน (gene) 4 ตัว เป็นโพลีเปบไตด์ประกอบด้วย
กรดอะมิโน (amino acid) 76 ตัวมีหน้าที่ควบคุมการสร้างและทำลายโปรตีนในเซลล์จนนักเคมีที่ศึกษาเรื่องนี้
ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล (Nobel Prize) ถึง 3 คนเมื่อ ค.ศ. 2004 ประสาทแพทย์ที่สนใจคงจะทราบว่าสารนี้
เกี่ยวข้องกับการเกิดพยาธิสภาพสมองเสื่อมในโรคอัลซ์ไฮเมอร์ (Alzheimer’s disease) และโรคพาร์กินสัน
(Parkinson’s disease)

        โรค ulcerative colitis (UC) หรือลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเป็นโรคที่พบได้บ่อยใน
ประเทศซีกโลกตะวันตก  ผู้เขียนจำได้ดีว่าเมื่อเป็นนักศึกษาขึ้นชั้นคลินิกปี 4 ผู้ป่วยในหอผู้ป่วยรายแรก
ที่ต้องนำเสนอใน ward round ต่ออาจารย์อายุรแพทย์อาวุโส นายแพทย์อาเธอร์ เดาท์เวท
(Dr. Arthur Douthwaite, FRCP) ท่ามกลางแพทย์ นักศึกษาแพทย์และอาคันตุกะจากสหรัฐอเมริกา
เป็นผู้ป่วยด้วยโรค UC  แต่เมื่อกลับมาเมืองไทยทำงานที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พบแต่ผู้ป่วย
ด้วยโรคบิดมีตัวและไม่มีตัว (amoebic dysentery และ bacillary dysentery) หลายรายแต่ไม่เคยพบ UC
ซึ่งนัยว่าเป็นโรคภูมิต้านตนเอง (autoimmune disease) ชนิดหนึ่ง

        ทำ u-turn (เลี้ยวกลับ) แต่ไม่ undo (แก้กลับไปอย่างเก่า) !  เพื่อพูดถึงโรคระบบประสาทในเด็ก
ที่พบไม่บ่อย แรกพบมากในประเทศแถบทะเลบอลติก (Baltic) โดยเฉพาะประเทศฟินแลนด์ คือ
โรคอุนเวริคท์-ลุนบอร์ก (Unverricht-Lundborg disease) ซึ่งเป็นโรคลมชักที่มีเอกลักษณ์กล้ามเนื้อหน้า
แขนและขากระตุก (myoclonus epilepsy) เหตุยีนซีสเตตินบีกลายพันธุ์ (cystatin B gene mutation)
พบเป็นครั้งแรกโดยแพทย์ชาวเยอรมัน ไฮน์ริช อุนเวริคท์ (ค.ศ. 1853-1912) ที่ทำเวชปฏิบัติอยู่ที่
เมืองเจนา (Jena) ประเทศออสเตรีย  ส่วนเฮอร์มาน ลุนบอร์ก (ค.ศ. 1868-1943) เป็นแพทย์ชาวสวีเดน
จากสถาบันคารอลินสกา มหาวิทยาลัยอุปป์ซาลา (Karolinska Institute, Uppsala University)

        ปรากฏการณ์หรือสัญญาณโรคอุทฮอฟ (Uhthoff’s phenomenon or sign) เป็นอีกเรื่องที่
ประสาทแพทย์ควรทราบ  นายแพทย์วิลเฮล์ม อุทฮอฟ ชาวเยอรมันกล่าวไว้เมื่อ ค.ศ. 1890 ถึงอาการทางสายตา
จากประสาทตาอักเสบเลวลงเมื่อผู้ป่วยด้วยอาการนั้นออกกำลังกาย ซึ่งต่อมาเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า
สาเหตุเกิดจากความร้อน เช่น ให้ผู้ป่วยนอนแช่น้ำร้อน พบในผู้ป่วยด้วยโรคมัลติเพิล สเคลอโรสิส
(multiple sclerosis, MS)

        ก่อนจบเรื่อง U ถ้าไม่เขียนถึงแสงอัลตราไวโอเล็ตเอและบี (ultraviolet, UVA & UVB) คงจะไม่ได้
เพราะปัจจุบันแพทย์คงจะได้ยินได้เห็นโฆษณาในโทรทัศน์ทุกวัน ๆ ละ หลาย ๆ ครั้งเรื่องครีมกันแดด
ชะลอความเหี่ยวแก่ของผิวหนังและกันโรคมะเร็งเมลาโนมา (melanoma) ได้ผลจนคนไทยทั้งชายและหญิง
เด็ก สาวแก่แม่หม้าย กลัวแสงแดดกันหมด แม้แต่ตัจแพทย์คนหนึ่งที่ได้วุฒิบัตรจากสหรัฐอเมริกามักจะพูด
หรือเขียนถึงมะเร็งผิวหนังจากแสงแดด ทำให้ผู้เขียนไม่แน่ใจว่ามีหลักฐานทางสถิติประจักษ์ชัดหรือไม่ว่าคนไทย
เหมือนคนผิวขาวในอเมริกา  การผึ่งแดดทุกเช้าทำให้เราได้วิตามินดีโดยไม่เสียเงินและยังดีต่อร่างกายและ
จิตใจด้วย !
 

แนะนำเอกสาร
1)  Goldstein G, Scheid M, Hammerling U, et al.  (1975).  Isolation of a polypeptide that has
      lymphocyte differentiating properties and is probably represented universally in living cells. 
      Proc Natl Acad Sci USA.  72 : 11-15. 

2)  Shorvon S.  (2009).  Unverricht-Lundborg disease.  In :  Epilepsy and related disorders. 
     Neurology:  A Queen Square Textbook.  Eds. Clarke C, Howard R, Rossor M, Shorvon S. 
     Wiley-Blackwell, UK.  p. 198

3)  Uhthoff’s phenomenon.  (2006).  In;  McAlpine’s Multiple Sclerosis.  Fourth Edition. 
     Eds. Compston A, Confavreux C, Lassman H, et al.  Churchill Livingstone Elsevier. 
     pp. 639-643, 723. 

4)  อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ  (พ.ศ. 2557)  S-sun exposure  เกร็ดความรู้อายุรศาสตร์ A-Z เล่ม 3
     บริษัท โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์ (1987) จำกัด  หน้า 69-71

 

 


 

 

[ back ]