S (ชุดที่ 4) - Surgery

Surgery

        ศัพท์ “ศัลยกรรม” ในภาษาอังกฤษมีรากมาจากภาษากรีก kheirourgia คือ kheir หมายถึง มือ
และ erg คือ งาน  ปรากฏในภาษาอังกฤษเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 14 แต่การรักษาด้วยศัลยกรรมที่จริงมีประวัติ
มาแต่ดึกดำบรรพ์จากหลักฐานการเจาะรูที่กะโหลกศีรษะ (trepanation)  ถึงแม้ว่าจริง ๆ แล้วเป็นที่
ยอมรับกันทั่วไปว่าศัลยศาสตร์แบบปัจจุบันเริ่มต้นที่ยุโรปโดยเฉพาะในศตวรรษที่ 18 เมื่อเซอร์ จอห์น ฮันเตอร์
ศัลยแพทย์ชาวอังกฤษวางรากฐานด้วยงานทดลองบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และงานเขียนจนเป็นที่ยอมรับ
ว่าเป็นบิดาแห่งศัลยศาสตร์ทันยุค (Modern surgery)

        ปัจจุบันโรคที่ต้องรักษาทางศัลยกรรมมีเป็นจำนวนมาก ปี ๆ หนึ่งมีคนตายจากบาดเจ็บและบาดแผล
ประมาณ 5 ล้านคน  ประมาณ 2 แสน 7 หมื่นคนตายด้วยภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์  ผู้ป่วยเหล่านี้จะ
รอดชีวิตถ้าเข้าถึงมือศัลยแพทย์และสูติแพทย์ ศัลยศาสตร์จึงเป็นวิชาที่มีความสำคัญมากถึงขนาดธนาคารโลก
ที่ตั้งใจจะพิมพ์ตำราการควบคุมโรคเป็นครั้งที่ 3 ในปี ค.ศ. 2015-16 รวม 9 เล่มโดยให้ลำดับความสำคัญ
แก่ศัลยศาสตร์เป็นอันดับแรก และพบว่าศัลยกรรมทั้งหมด 44 วิธีเป็นความจำเป็นยิ่ง คุ้มค่าและดำเนินการได้ 
จะป้องกันคนตายหนึ่งล้านห้าแสนคนต่อปีหรือร้อยละ 6 ถึง 7 ของการตายในประเทศที่เศรษฐฐานะต่ำหรือ
ปานกลาง  28 จาก 44 วิธีทางศัลยกรรมสามารถทำได้ในโรงพยาบาลระดับปฐมภูมิ ซึ่งคุ้มค่ามาก
นอกจากนี้การปรับปรุงวิธีการและการลงทุนเพื่อศัลยกรรมที่จำเป็นให้ครอบคลุมทั่วโลกซึ่งจะใช้เงินประมาณ
สามพันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี แต่ให้ผลประโยชน์คุ้มค่ากว่า 10 เท่า

        ศัลยแพทย์ทั่วไปและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ของศัลยศาสตร์ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
จึงมีไม่เพียงพอ  ในประเทศไทยการให้การสอนและฝึกอบรมบัณฑิตแพทย์จึงควรให้เวลาและความสำคัญ
ในศัลยศาสตร์และอายุรศาสตร์ เป็นสองเสาหลักทางเวชปฏิบัติ ความต้องการผู้เชี่ยวชาญทางสาขาย่อยเฉพาะทาง
ของสาขาหลักโดยทั่วไปทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศที่ประชากรมีรายได้ปานกลางหรือสูงก็ต่างจากสาขาย่อย
ที่จำเป็น (essential) ที่กล่าวถึงแล้ว เช่น ศัลยกรรมตกแต่งซึ่งประเทศที่กล่าวต้องให้ความสำคัญและตอบสนอง
การผลิตด้วยการฝึกอบรมทักษะศัลยแพทย์รุ่นใหม่มิเช่นนั้นประเทศก็จะมีแพทย์ปริญญาแต่ขาดทักษะและ
เป็นการลด “หมอเถื่อน”  ผู้บริหารที่รับผิดชอบการฝึกอบรมต้องรับสภาพความเป็นจริง (realistic) มากกว่า
ที่จะยึดถืออุดมการณ์ (idealistic) เพียงอย่างเดียว  แนวทางวิธีรักษาปัญหาทางศัลยกรรมพื้น ๆ ก็จะเปลี่ยนไป
เช่น การรักษาด้วยการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบหรือสงสัยว่าจะเป็นไส้ติ่งอักเสบ  ในปัจจุบันในมหานครประชากร
วัยกลางคนถึงวัยชราจะมีคนที่เคยผ่าตัดเอาไส้ติ่งออกประมาณ 1 ใน 6 เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีรายงานวิจัยเปรียบเทียบ
การใช้ยาต้านจุลชีพกับการรักษาไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันที่ไม่มีปัญหาแทรกซ้อน (acute uncomplicated
appendicitis) ว่าให้ผลไม่แพ้การรักษาด้วยการผ่าตัด !

        ในฐานะที่เป็นอายุรแพทย์และประสาทแพทย์ที่ได้รับการศึกษาและอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทาง
จากต่างประเทศมาตลอด ได้มีโอกาสเห็นการทำงานกับอาจารย์แพทย์ เพื่อนแพทย์และช่วยสอนนักศึกษาแพทย์
ที่อังกฤษ  ผมกล้ายืนยันได้ว่าอาจารย์ศัลยแพทย์ไทยที่ผมได้ร่วมงานด้วย ฝีไม้ลายมือทางผ่าตัดไม่เป็นรองใคร
บางรายอาจจะมีทักษะเก่งกว่าเสียอีก ปัจจุบันอาจารย์เหล่านั้นหลายคนวางมือแล้วแต่ยังใช้ชีวิตทำงานอย่างอื่น
ผู้เขียนจะกล่าวถึงอาจารย์ที่เป็นศัลยแพทย์อาวุโสที่ถึงแก่อสัญกรรมแล้วเพียงสั้น ๆ 2 ท่านคือ ศาสตราจารย์
เกียรติคุณนายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ (พ.ศ. 2453-2540) และศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์สมาน
มันตาภรณ์ (พ.ศ. 2457-2544)  ท่านแรกในฐานะประสาทศัลยแพทย์ ผมโชคดีได้พบอาจารย์เป็นครั้งแรก
ขณะทำงานอยู่ที่สถาบันประสาทวิทยา (Queen Square) ที่ลอนดอน ท่านไปนั่งฟังการบรรยายที่ผมบังเอิญ
ฟังอยู่ด้วยจึงไปแนะนำตัวเองและอาสาพาอาจารย์ไปส่งสนามบิน เมื่อกลับมาทำงานที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
ได้เข้าประชุมวิชาการประจำเดือนของสมาคมประสาทวิทยาฯ และเป็นกรรมการจัดการประชุมสหพันธ์
ประสาทวิทยาแห่งเอเซียครั้งที่ 4 เมื่อ 40 ปีมาแล้ว (พ.ศ. 2518) เห็นได้ชัดว่าอาจารย์อุดมเป็นนักวิชาการ
โดยแท้แม้ท่านจะเป็นคณบดี (ศิริราช)  เป็นรัฐมนตรี (ว่าการกระทรวงสาธารณสุข) อาจารย์ก็ยังสนใจซักถาม
และพูดคุยกับผมเรื่องประสาทวิทยาอยู่เสมอ ๆ ส่วนศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์สมาน มันตาภรณ์
เป็นอาจารย์ศัลยแพทย์ที่ผมรู้จักดีมากเพราะเป็นคนไข้ของอาจารย์ตั้งแต่ผมเพิ่งเริ่มรับราชการ โชคดีได้มีโอกาส
บันทึกข้อความเกี่ยวกับท่านเมื่อวาระครบ 100 ปีท่าน !  สำหรับแพทย์ท่านใดที่ชอบอ่านหนังสืออ่านเล่น
เป็นภาษาอังกฤษ ผมขอแนะนำเรื่องอาจารย์หมอสมาน ในบทหนึ่งของหนังสือเขียนโดยคุณสภา ปาลเสถียร
ชื่อ The Last Siamese.  Journeys in war and peace

        ก่อนจบผมขอแนะนำหนังสืออ่านเล่นอีกเล่มเขียนโดยศัลยแพทย์หนุ่มชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา
Atul Gawande ชื่อ Being Mortal.  Illness, Medicine and What matters in the end อ่านแล้วจะวางไม่ลง !
 

แนะนำเอกสาร
1)  Lawrence C.  (2008).  Historical Keyword:  Surgery.  Lancet.  371 : 467.

2)  Mock CN, Donkor P, Gawande A, et al.  (2015).  Essential surgery:  key messages from Disease
     Control Priorities, 3rd edition.  Lancet.  385 : 2209-2219.

3)  Mason RJ.  (2011).  Appendicitis:  is surgery the best option?  Comment.  Lancet. 
     377 : 1545-1546.

4)  Vons C, Barry C, Maitre S, et al.  (2011).  Amoxicillin plus clavulanic acid versus
     appendicectomy for treatment of acute uncomplicated appendicitis: an open-label,
     non-inferiority, randomised controlled trial.  Lancet.  377 : 1573-1579.

5)  อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ วันเสาร์ที่ 28
     มิถุนายน พุทธศักราช 2540  บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับบลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ 

6)  อนุสรณ์ 100 ปี  สมาน มันตาภรณ์  พ.ศ. 2457-2557  106 หน้า

7)  Palasthira TS.  (2013).  Dr. Smarn Muntabhorn.  Anatomy of  a fighting surgeon.   
     In:  The Last Siamese.  Journeys in war and peace.  Bangkok.  The Post Publishing Company Limited.
     pp. 149-170.

8)  Gawande A.  (2014).  Being Mortal.  Profile Books Ltd.  London.  282 pages.


 

 

[ back ]