Q (ชุดที่ 4) - Quinine

Quinine

        ควินินเป็นยาที่แพทย์และคนไทยทั่วไปรู้จักดี เป็นยาที่ได้จากเปลือกของต้นซิงโคนา (Cinchona)
ซึ่งมีต้นกำเนิดแถบทวีปอเมริกาใต้ ใช้รักษาโรคมาลาเรียมากว่า 400 ปี  ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ผ่าน
ความต้องการใช้ยานี้เพิ่มสูงขึ้นบริษัทยาจึงผลิตขาย ไม่ใช่เพียงใช้เป็นยาแต่อาศัยความขมของควินินมาละลาย
เป็นเครื่องดื่มกระตุ้นเพื่อให้เจริญอาหาร (tonic) โดยปรุงกับเหล้าและน้ำหวานเป็นเครื่องดื่ม เช่น Gin & Tonic
ที่นิยมดื่มกันทั่วโลกจนปัจจุบัน

        ในประเทศไทยมีการนำควินินมาเผยแพร่มากในรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3
เพื่อรักษาโรคมาลาเรียโดยเฉพาะคณะมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์  นายแพทย์แบรดลีย์
(Dan Beach Bradley, ค.ศ. 1804-1873) หรือหมอปลัดเล เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากเพราะนอกจาก
เปิดคลินิกรักษาผู้ป่วยและขายยาที่บ้านของตนเอง ยังมีโรงพิมพ์ ออกหนังสือพิมพ์ ตีพิมพ์บทความเรื่อง
โรคไข้จับสั่นและเรื่องยาควินินพร้อมทั้งโฆษณาขายยาอีกด้วย

        นอกจากนายแพทย์แบรดลีย์แล้วต่อมาก็มีนายแพทย์เทียนฮี้ (พ.ศ. 2391-2468) แพทย์ไทยคนแรก
ที่สำเร็จแพทย์แผนตะวันตกจากสหรัฐอเมริกาโดยการสนับสนุนจากคณะมิชชันนารีอเมริกัน ซึ่งต่อมาได้รับ
โปรดเกล้าฯ เป็นพระยาสารสินสวามิภักดิ์ ท่านคือ บิดาของนายพจน์ สารสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 9 ของ
ประเทศไทย  ส่วนแพทย์ไทยแผนโบราณที่นำยาควินินมาใช้ก็คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านวม
กรมหลวงวงศาธิราชสนิท (พ.ศ. 2351-2414) แพทย์หลวงในสมัยรัชกาลที่ 3  ท่านผู้นี้คือ ต้นราชสกุลสนิทวงศ์
และเป็นพระปัยกะ (ตาทวด) ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  นอกจากพระองค์เจ้านวมแล้วก็มี
หมอแป๊ะ บิดาของพระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) แพทย์หลวงประจำพระองค์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6  พระยาแพทย์พงศาฯ เป็นลุงของนายสมัคร สุนทรเวช
นายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศไทย

        ปัจจุบันควินินไม่ใช่ยารักษามาลาเรียอันดับแรกแต่เป็นยาอาเตมิสินินซึ่งใช้ควบกับยาต้านมาลาเรียตัวอื่น
(Artemisinin-Combination therapies, ACTs)  ยาตัวนี้เป็นยาที่เก่าแก่กว่าควินินรู้จักกันในจีนอย่างน้อย 2,000 ปี
มาแล้ว สกัดจากใบพรรณไม้ล้มลุกชิงเฮาหรือชิงเฉา (ภาษาจีนกลาง) ซึ่งปัจจุบันใช้วิธีพันธุวิศวกรรมผลิตจากเชื้อรา
คาดคะเนกันว่า ถูโยวโยว (Tu You You อ่านตามภาษาจีนกลางหรือแมนดาริน) นักวิทยาศาสตร์สตรีจีน
ชาวเจ้อเจียงใกล้เมืองเซี่ยงไฮ้ ผู้ประสบความสำเร็จในการสกัดยาจากพรรณไม้นี้โดยคำสั่งของนายพลเหมา เจอตุง
อาจจะได้รางวัลโนเบลในไม่ช้านี้ !

        ควินินยังเป็นยาที่ประสาทแพทย์ อายุรแพทย์และแพทย์ทั่วไปใช้แก้อาการตะคริวที่กล้ามเนื้อขา
โดยเฉพาะที่เกิดที่น่องในเวลานอนกลางคืนโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เป็นยาที่ใช้ได้ผลดีมาก ตะคริวที่กล้ามเนื้อที่กล่าว
จริง ๆ ไม่ใช่เกิดจากความผิดปกติปฐมภูมิของกล้ามเนื้อ แต่มักเป็นในกล้ามเนื้อที่เป็นผลจากรากประสาทหรือ
เส้นประสาทส่วนปลายเสีย (denervation) เช่น หมอนรองกระดูกไขสันหลังส่วนเอวเสื่อม  ที่ควรระวังก็คือ
ในผู้สูงอายุที่ประสาทหูเสื่อมไม่ควรใช้เกินวันละ 200 มิลลิกรัม และใช้ติดต่อกันไม่เกิน 4-5 วัน


แนะนำเอกสาร
1)  Goodman & Gilman’s.  The Pharmacological Basis of Therapeutics.  Tenth Edition.  (2001). 
     McGraw-Hill, New York.  Quinine.  pp. 1086-1089.

2)  อภิสิทธิ์ เทียนชัยโรจน์  (พ.ศ. 2557)  โอสถกาลานุกรม: ควินินยาวิเศษแห่งสาธารณสุขสยาม
     พุทธชินราชเวชสาร  31 : 486-495

3)  มงคล เดชนครินทร์  (2014)  หมอบรัดเลกับประเทศไทย แปลจาก Mo Bradley and Thailand
     by Donald C. Lord.  WB Eerdmans Publishing Co., Michigan, USA.  1969.

4)  White NJ, Pukrittayakamee S, Hien TT, et al.  (2014).  Malaria.  Lancet.  383 : 723-735.

5)  White NJ.  (2015).  Malarials versus Antimalarials:  Who will win?  8th Sornchai Looareesuwan   
     Oration.  Faculty of Tropical Medicine, Mahidol University.   26th March 2015.

6)  El-Tawil S, Al Musa T, Valli H, et al.  (2010).  Quinine for muscle cramps (Review).
     The Cochrane Collaboration.  London.  John Wiley & Sons Ltd.  pp. 5-6.

7)  Lane R.  (2001).  Cramp.  In:  Disorders of Voluntary Muscle.  7th edition.  Eds. Karpati G,
     Hilton-Jones D, Griggs RC.  University of Cambridge Press, UK.  pp. 695-696.

 

 

 

[ back ]