N (ชุดที่ 4) - Nostalgia

Nostalgia

        คำ nostalgia (อ่าน นอสฺแทลฺ' จะ) เป็นคำที่โจฮานส์ โฮเฟอร์ (Johannes Hofer, ค.ศ. 1669-1752)
แพทย์ชาวสวิสเป็นผู้นำมาใช้ หมายถึง คิดถึงบ้าน (heimweh หรือ homesickness) โดยใช้รากศัพท์ภาษากรีก
nostos หรือ homecoming ผนวกกับ algia ซึ่งแปลว่า ปวด  วิวัฒนาการของศัพท์ในภาษาอังกฤษจนปัจจุบัน
หมายถึง ความรู้สึกอาลัย  คิดถึงความในอดีตหรืออาการคิดถึงบ้านซึ่งในบริบทที่จะเขียนถึงเกี่ยวกับความทรงจำ
ในผู้สูงอายุ ผู้เขียนจะขอใช้ “โหยหาอาลัยอดีต”

        ทุกวันนี้ตั้งแต่ผู้สูงอายุจนถึงคนทุกเพศและเกือบทุกวัยกลัวสมองเสื่อมและความจำเสื่อมกันมาก
ทำให้ตื่นตัวเรื่องการดูแลสุขภาพทางด้านอาหารการกินและการออกกำลังกาย ซึ่งช่วยชะลอหรือลดโอกาส
การเกิดโรคสมองเสื่อมได้ถ้าเริ่มปฏิบัติกันตั้งแต่อายุน้อยหรือวัยกลางคน  เป็นธรรมชาติที่คนเราพอเริ่ม
อายุมากขึ้นจะสนใจเรื่องความจำของตน มักจะกังวลเรื่องการขี้ลืมในชีวิตประจำวัน ลืมชื่อบุคคลที่เคยจำได้
ก็เกิดนึกไม่ออก เรื่องนี้มักจะไม่ใช่เป็นโรคสมองเสื่อมแต่เป็นเพราะการนำเอาความจำออกมาใช้ช้าไป 
ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ เราจะพบเสมอ ๆ ว่าผู้สูงอายุมักจะจำเรื่องราวในอดีต 50-60 ปีมาแล้ว
ได้ชัดเจนดีกว่าเรื่องที่ตนเองประสบมาเมื่อไม่นานมานี้นัก  การนึกถึงหรือโหยหาอาลัยอดีตที่มักเกิดขึ้น
ในผู้สูงอายุเองโดยเฉพาะในผู้ที่ความจำเริ่มไม่ดียังเป็นปริศนาลึกลับที่ไม่มีคำตอบว่าทำไมจึงเกิดขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้นความจำที่ระลึกได้ก็ไม่ได้ถูกต้องแม่นยำเสมอไป แต่ก็ช่วยให้ความครุ่นคิดที่เกิดขึ้นเป็น
นิยายชีวิตที่ช่วยจรรโลงชีวิตได้บ้าง
 

แนะนำเอกสาร
1)  Player J.  (2014).  Book reviews:  The Nostalgia Factory:  Memory Time and Ageing. 
     Edited by Douwe Draaisma (translated by Liz Waters).  Clinical Medicine.  14 : 453.

2)  สฤษดิคุณ กิติยากร  (พ.ศ. 2550)  พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย  พิมพ์ครั้งที่ 4 (ฉบับปรับปรุงใหม่)  
     สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  หน้า 434

3)  Draaisma D.  (2008).  Translated  by Liz Waters (2013).  The Nostalgia Factory.
     (Memory Time and Ageing).  Yale University Press.  New Haven and London.  pp. 158.

4)  Sacks O.  (1985).  “The man who mistook his wife for a hat and other clinical tales”.
     Gerald Duckworth, UK.  pp. 233.

 

 

[ back ]