K (ชุดที่ 4) - Knowledge

Knowledge

        ประมาณ 2,400 ปีมาแล้ว  เปลโต (Plato, 424-348 ก่อน ค.ศ.) ปราชญ์และนักคณิตศาสตร์ชาวกรีก
เคยกล่าวไว้ว่า  ความรู้ คือ ความเชื่อจริงที่มีเหตุผลที่สมควร  แต่สำหรับคนทั่วไปการรู้ก็คือ การที่ได้จากการพบเห็น
ได้ยินได้ฟัง เป็นประสบการณ์ หรือได้จากการเรียนการศึกษา ฝึกอบรม หมายถึงองค์ความรู้ ทักษะ  การศึกษาเรื่อง
ความรู้ในทางปรัชญา เรียก ญาณวิทยา (epistemology) ความรู้บางอย่างเป็นที่ประจักษ์ชัด (explicit) เช่นที่มีอยู่ใน
ตำรา แต่บางอย่างฝังลึก (tacit) อธิบายให้คนอื่นทราบยากมาก เช่น เราเห็นหน้าคน เรารู้จักแต่ให้อธิบายให้คน
ที่ไม่รู้จักและไม่เคยเห็นหน้าผู้นั้นลำบาก  เช่นเดียวกับที่จะพยายามบอกเป็นคำพูดให้คนทั่วไปที่ไม่รู้จักกลิ่นทุเรียน
พันธุ์ก้านยาวหรือหมอนทองรู้จักดูจะเป็นไปไม่ได้  รูป รส กลิ่น เสียงที่รู้เป็นสัญชาน (perception) ของมนุษย์

        การให้ความรู้และการเรียนรู้ตั้งแต่เด็กอาจเริ่มด้วยการบังคับให้ไปโรงเรียน ครูให้การบ้านก็ต้องทำ
เพราะถ้าไม่ทำจะถูกทำโทษ ทำเพราะกลัวถือเป็นวิธีการขั้นต่ำ  สูงขึ้นไปอีกขั้นก็คือ ทำเพราะอยากได้รางวัล
จะเป็นการแข่งขันจากการสอบให้ได้ที่ 1 คะแนนดีกว่าเพื่อน ๆ   ขั้นที่สามคือ การทำเพราะมีมานะ 
มานะในที่นี้หมายถึง การแข่งขันให้ตนเหนือกว่า สูงกว่าผู้อื่น แต่ทำเพราะชอบเพราะรักที่จะทำหรือเพราะ
ฉันทะเป็นขั้นสูงสุด  ที่จริงนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์หรือแพทย์ทั่วโลกก็เป็นเช่นนี้กันไม่น้อย !

        เป็นที่น่าสังเกตว่า ปราชญ์ นักปรัชญาที่สนใจเรื่องการเรียนรู้ การศึกษาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน
เป็นนักคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์เป็นจำนวนไม่น้อย  ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงบุคคลดังกล่าว 3-4 คนเป็นตัวอย่าง
เริ่มต้นด้วยฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon, ค.ศ. 1561-1626) ปราชญ์ชาวอังกฤษ ผู้ที่เป็นไม่แค่เพียง
นักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญา นักคิดนักเขียน แต่เป็นรัฐบุรุษ  เบคอนได้รับการยอมรับว่าเป็นบิดาของประจักษ์นิยม
(father of empiricism) หรือความรู้จากประสบการณ์ เป็นบุคคลที่นำเอาวิธีการสอนแบบอุปนัย
(inductive methodologies) คือ การสรุปผลในการค้นหาความจริงจากการสังเกตหรือการทดลองหลายครั้ง
จากกรณีย่อย ๆ แล้วนำมาสรุปเป็นความรู้แบบทั่วไปมาใช้ในการค้นหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์ที่รู้จักกันในชื่อ
วิธีเบคอเนียน (Baconian method)  และเป็นเบคอนผู้นี้ที่เป็นเจ้าของอมตะวาจา “ความรู้คืออำนาจ”
(knowledge is power)

        บุคคลที่สองที่จะกล่าวถึงคือ จอห์น ล็อค (John Locke, ค.ศ. 1632-1704) ปราชญ์และแพทย์
ชาวอังกฤษ บิดาของเสรีนิยมที่มีคุณภาพเป็นเลิศ (classical liberalism)  ผู้สนใจอภิปรัชญา (metaphysics)
ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของปรัชญาที่ว่าด้วย ความแท้จริงหรือสารัตถะ ซึ่งรวมทั้งชีวิตโลกและภาวะเหนือธรรมชาติ
เช่น พระเจ้า เป็นต้น  นอกจากนี้ล็อคยังสนใจปรัชญาการเมือง เศรษฐศาสตร์และการศึกษา เป็นเจ้าของความคิด
“รัฐบาลด้วยความเห็นชอบของผู้อยู่ใต้ปกครอง” หรือ “government with the consent of the governed”    
ไม่เพียงแต่เป็นนักปราชญ์ผู้มีอิทธิพลทางความคิดเสรีนิยมในสหราชอาณาจักรเท่านั้นแต่ยังครอบคลุมไปยุโรป
และสหรัฐอเมริกา ถึงขนาดโทมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson, ค.ศ. 1743-1826) ประธานาธิบดีคนที่ 3
และผู้ประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา เคยเขียนไว้ว่า เบคอน ล็อคและนิวตัน (Sir Isaac Newton,
ค.ศ. 1643-1727) นักฟิสิคส์และนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ  เป็นบุคคลสามคนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยมีในยุคนั้น

        อัลเฟรด นอร์ท ไวท์เฮด (Alfred North Whitehead, ค.ศ. 1861-1947) และศิษย์  เบอทรันด์ รัสแสล
(Bertrand Russell, ค.ศ. 1872-1970) ผู้เขียนตำราอมตะ Principia Mathematica (1910-1913) เป็น
ปราชญ์นักคณิตศาสตร์ เจ้าของปรัชญากระบวนการ (process philosophy) ที่นำมาประยุกต์ใช้ในศึกษาศาสตร์
ฟิสิคส์ เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยาและวิทยาสิ่งแวดล้อมจนปัจจุบัน
 
        ไมเคิล โพลานนี (Michael Polanyi, ค.ศ. 1891-1976) เป็นชาวฮังกาเรียนแปลงสัญชาติ
เป็นชาวอังกฤษ  ปราชญ์ แพทย์ นักเคมีผู้ยิ่งใหญ่ เจ้าของวจี “เราสามารถรู้มากกว่าเราสามารถบอกได้” 
ผู้เขียน “The Tacit Dimension” เป็นปราชญ์อีกคนหนึ่งที่แพทย์หลายคนคงจะอยากศึกษาชีวประวัติไว้อีกด้วย 
 

แนะนำเอกสาร
1)  The Republic (Plato).  Wikipedia.

2)  พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)  (พ.ศ. 2532)  พุทธธรรม  มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย  1015 หน้า

3)  Wikipedia.  John Locke.

4)  Wikipedia.  Alfred North Whitehead.

5)  Wikipedia.  Bertrand Russell.

6)  Polanyi M.  (1966).  The Tacit Dimension.  London, Routledge.
 

 

[ back ]