J (ชุดที่ 4) - Japan: medicine & neurology

Japan:  medicine & neurology

        ประวัติการแพทย์แผนปัจจุบันในประเทศญี่ปุ่นเริ่มต้นเมื่อ ค.ศ. 1774 ในยุคโทคุกาวา
(Tokugawa Era, ค.ศ. 1603-1867) โดยมีการพิมพ์หนังสือกายวิภาคศาสตร์แปลจากภาษาดัทช์ที่มี
รากศัพท์มาจากภาษาเยอรมันอีกทีหนึ่ง  เช่นกันแพทยศาสตร์รวมทั้งประสาทวิทยาได้รับอิทธิพลจาก
แพทย์เยอรมันในยุคก่อนมากคือ ยุคเมจิ (Meiji Era, ค.ศ. 1868-1912) ในตอนต้นยุคอายุรแพทย์เยอรมัน
ได้รับเชิญไปสอนที่มหาวิทยาลัยโตเกียว  แพทย์ชาวญี่ปุ่นไปศึกษาต่อที่เบอร์ลินอาทิ นายแพทย์คิตาสาโตะ
(S. Kitasato, ค.ศ. 1852-1931) ผู้เป็นแพทย์คนแรกที่เพาะเชื้อบาดทะยักและเป็นผู้ค้นพบสารต้าน
ชีวพิษบาดทะยัก (tetanus antitoxin) ร่วมกับเอมิล ฟอน เบริง (Emil von Behring, ค.ศ. 1854-1917)
นักสรีรวิทยาชาวเยอรมัน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือแพทยศาสตร์เป็นคนแรกเมื่อ ค.ศ. 1901
ในฐานะที่เป็นผู้ค้นพบสารต้านชีวพิษโรคคอตีบ (diphtheria) ต่อมามีอายุรแพทย์ชาวญี่ปุ่นไปศึกษาเพิ่มเติม
ด้านประสาทวิทยาจากเฮอมานน์ ออพเพนไฮม์ (Hermann Oppenhein, ค.ศ. 1858-1919)
และวิลเฮล์ม เอิบ (Wilhelm Erb, ค.ศ. 1840-1921) ที่เยอรมัน และจากฌอง มาร์แตง ชาโก
(Jean Martin Charcot, ค.ศ. 1825-1893) ที่ปารีส

        หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939-1945) มีโรคประหลาดที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นในญี่ปุ่น 
สองโรคคือ โรคมินามาตะ (Minamata) และ SMON (subacute myelo-optico neuropathy)  โรคแรกมักเป็น
ที่รู้จักแพร่หลายกันดีคือ โรคจากพิษปรอทที่เกิดที่อ่าวมินามาตะ เขตปกครองคุมาโมโต (Kumamoto Prefecture)
ซึ่งศาสตราจารย์นายแพทย์ดักกลาส แมคอัลไพน์ (Douglas MacAlpine, ค.ศ. 1890-1981) ประสาทแพทย์
จากสหราชอาณาจักร เป็นผู้ให้คำแนะนำเรื่องสาเหตุเพราะมีประสบการณ์ทางเวชกรรมเกี่ยวกับพิษปรอท
ขณะที่ได้รับเชิญให้ไปเป็นที่ปรึกษาเรื่องโรคมัลติเพิล สเคลอโรลิส (Multiple Sclerosis) !

        SMON เป็นโรคประสาทไขสันหลังและประสาทตาเสื่อมกึ่งเฉียบพลันที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ท้องเดิน
และได้รับยา clioquinol (Quinoform หรือยา Enterovioform ผลิตโดยบริษัท Ciba-Geigy) ในช่วง ค.ศ. 1955
ในประเทศญี่ปุ่นมีผู้ป่วยเป็นจำนวนอย่างน้อยหนึ่งหมื่นคน และมีรายงานในประเทศสวีเดนต่อมาโดยกุมารแพทย์
และประสาทแพทย์ โอลเล ฮานส์สัน (Olle Hansann) ถือได้ว่าเป็นโรคแพทย์ทำ (iatrogenic disease)
จากยาที่เป็นประวัติการณ์ในประวัติศาสตร์การแพทย์แผนปัจจุบัน มีการฟ้องร้องเป็นคดีในศาลที่บริษัทยาข้ามชาติ
ที่กล่าวต้องใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินกว่า 3 พันล้านเยน ประสาทแพทย์ที่เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการศึกษาโรค
“ระบาด” นี้คือ ศาสตราจารย์ทาดาโอ ซึบากิ (Tadao Tsubaki) เพื่อนอาวุโสของผู้เขียนจากมหาวิทยาลัยนิกาตา
(Niigata) ที่เคยมาบรรยายที่ภาควิชาอายุรศาสตร์ รามาธิบดี  ผู้ป่วยด้วยโรคนี้มีลิ้นเป็นสีเขียวจากเหล็ก
(ferric iron) ทำปฏิกิริยากับ clioquinol

        ในช่วงศตวรรษที่ 20 มีโรคที่มีชื่อเป็นชื่อแพทย์ชาวญี่ปุ่นที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น โรคทากายาสุ
หรือโรคหลอดเลือดแดงอักเสบตามชื่อจักษุแพทย์มิกิโต ทากายาสุ ชาวญี่ปุ่น (ค.ศ. 1860-1938) 
แม้แต่ในศตวรรษนี้ (ที่ 21) ก็ยังมีโรคใหม่ ๆ เรียกชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นที่รายงานเป็นครั้งแรกในช่วงหลังศตวรรษ
ที่ผ่าน เช่น โรคคิคูชิ-ฟูจิโมโตซึ่งผู้ป่วยมักเป็นหญิงมากกว่าชายมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต เม็ดเลือดขาวต่ำ
บางรายมีอาการคล้ายผู้ป่วยด้วย SLE เรียกชื่อโรคตามชื่อแพทย์ แล้วยังมีโรคไซนัสหรือโพรงจมูกอักเสบเหตุซึนามิ
(Tsunami sinusitis) และโรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม “ปลาหมึกยักษ์” หรือทาโคซึโบ (Takotsubo cardiomyopathy)
ซึ่งรู้จักในนามอื่น เช่น acute apical ballooning syndrome หรือ broken heart syndrome !   และโรคเสกาวา
เรียกตามชื่อนายแพทย์มาสายา เสกาวา (Masaya Segawa, ค.ศ. 1936-2014) เพื่อนของผู้เขียนที่เพิ่ง
ถึงแก่กรรมเมื่อปลายปีที่ผ่าน เป็นต้น  ผู้สนใจโรคเหล่านี้หาอ่านได้จากเอกสารอ้างอิงที่ให้ไว้


แนะนำเอกสาร
1)  Aki M.  (1982).  The history of Neurology in Japan, with special reference to its postwar period. 
     In: Historical Aspects of the Neurosciences.  A Festschrift for Macdonald Critchley.  Eds. FC Rose,
     WF Bynum.  Raven Press, New York.  pp. 451-462.

2)  McAlpine D, Araki S.  (1958).  Minamata disease:  an unusual neurological disorder caused by
     contaminated fish.  Lancet.  2 : 629-631.  

3)  Tsubaki T, Honma Y, Hoshi M.  (1971).  Neurological syndrome associated with clioquinol. 
      Lancet.  1 : 696-697.

4)  อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ  (พ.ศ. 2546)  โรคชื่อญี่ปุ่นหรืออิตาเลียนปนญี่ปุ่น ?  ใน เรียนอายุรศาสตร์
     จากกรณีผู้ป่วย เล่ม 3  กรุงเทพฯ: บริษัท ซิล์คโรดพับบลิเชอร์เอเยนซี จำกัด  หน้า 11-20

5)  Amnueilaph R, Charoenvej P, Vejjajiva A.  (1973).  Pulseless Disease Presenting with isolated
     abducens nerve palsy and recurrent cutaneous angitis.  Brit Med J.  3 : 27-8.
 
6)  อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ  (พ.ศ. 2556)  Segawa disease ใน เกร็ดความรู้อายุรศาสตร์ A-Z เล่ม 2
     โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์ (1987) กรุงเทพฯ  หน้า 82-85

7)  Dalton J, Shaw R, Democratis J.  (2014).  Kikuchi-Fujimoto disease.  Lancet.  383 : 1098.  

8)  Baba S, Kondo K, Kanaya K, et al.  (2011).  Tsunami sinusitis.  Lancet.  378 : 1116.

9)  Gianni M, Dentali F, Grandi AM, et al.  (2006).  Apical ballooning syndrome or takotsubo
     cardiomyopathy:  a systematic review.  Eur Heart J (Oxford University Press).  13 : 1523-1529.

 

 

 

 

[ back ]