I (ชุดที่ 4) - Imitation Synkinesia

Imitation Synkinesia

        การเคลื่อนไหวโดยไม่ได้ตั้งใจของแขนหรือขา หน้าหรือลำตัวของร่างกายซีกที่ผิดปกติเลียนแบบ
ซีกที่ตั้งใจใช้งานปกติ เป็นอาการที่พบได้ไม่บ่อยจึงมักไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกัน  ผู้เขียนยังจำได้ดีว่าเมื่อเป็น
นักศึกษาแพทย์ที่กายส์ (Guy’s) มีอาจารย์ทางอายุรแพทย์ชื่อ ชาร์ลส์ จอยเนอร์ (Charles Joiner, MD, FRCP)
เคยบอกไว้ว่าผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตครึ่งซีกแต่กำเนิด (congenital hemiplegia จาก cerebral palsy, CP)
นอกจากแขนขาและหน้าซีกนั้นจะเล็กกว่าซีกที่ดีแล้ว  IS ยังเป็นสิ่งที่ผิดปกติอีกสิ่งหนึ่งที่พบในผู้ป่วยบางราย
ช่วงเวลานั้นอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1956-1959 ยังไม่มีผู้ศึกษาทางประสาทสรีรวิทยาในเรื่องนี้ ถึงแม้ปิแอร์ มารี
(Pierre Marie, ค.ศ. 1853-1940) และชาร์ลส์ ฟัว (Charles Foix, ค.ศ. 1882-1927) ประสาทแพทย์
ชาวฝรั่งเศสได้รายงานลักษณะอาการดังกล่าวตั้งแต่ปี ค.ศ. 1916 ต่อมามีผู้พบว่า IS มักเกิดในผู้ที่มีรอยโรค
ที่ทาลามัส (thalamus) หรือที่สมองกลีบข้าง (parietal lobe) และบางครั้งพบในคนที่มีรอยโรคที่ส่วนหลัง
(posterior column) ของไขสันหลัง (spinal cord) หรือที่ประสาทส่วนปลาย (peripheral nerves) นั่นก็คือ
เครือข่ายประสาทรับรู้ที่ใช้เส้นประสาทที่เส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ (A fibres) เสีย รวมเรียก lemniscal system
แต่หน้าที่ของประสาทสั่งการ (motor function) ยังดีอยู่

        นอกจากนี้ก็มีรายงานจากนครไทเป ไต้หวัน ในผู้ป่วยชายอายุ 74 ปีที่ตกเลือดในสมองบริเวณ
ทาลามัส (thalamic haemorrhage, TH) เกิดมีอัมพาตครึ่งซีก ต่อมาไม่นานมีอาการ (dystonia) และ IS


        ผู้เขียนมีประสบการณ์จากตนเอง หลังมี TH ซีกขวาได้ประมาณหนึ่งเดือน อาการ IS จะเกิดขึ้น
เป็นครั้งคราวเวลาใช้เครื่องโกนหนวดหรือแม้แต่ใช้ปากกาเขียนหนังสือ แต่ถ้าตั้งสติก็พอควบคุมได้ 
โชคดีที่กำลังแขนขา มือและนิ้วดีเพราะประสาทสั่งการดี  นอกจากนี้ก็มีรายงานจากฝรั่งเศสเกี่ยวกับ IS
เหตุสมองเล็ก (cerebellum) เสีย


แนะนำเอกสาร
1)  Marie P, Foix C.  (1916).  Les syncinesis des hemiplegiques.  Rev Neurol.  1 : 13-27.

2)  Cambier J, Dehen H.  (1977).  Imitation synkinesia and sensory control of movement.   
     Neurology.  27 : 646-649.

3)  Pryse-Phillips W.  (1995).  Companion to clinical neurology.  First edition. 
     Little Brown and Company.  Boston.  pp. 443-444.

4)  Chiang CY, Lu CS.  (1990).  Delayes-onset posthemiplegic dystonia and imitation synkinesia.  
     J Neurol Neurosurg Psychiatry.  53 : 623.  

5)  Trouillas P, Brudon F, Froment JC, et al.  (1990).  Cerebellar imitation synkineses.
      Rev Neurol.  146 : 107-115.


 

 

[ back ]