H (ชุดที่ 4) - Hamman’s sign

Hamman’s sign

        เมื่อ ค.ศ. 1939 นายแพทย์หลุยส์ แฮมแมน (Louis Hamman, ค.ศ. 1877-1946) ที่โรงพยาบาล
มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอพกินส์ บาลติมอร์ (Johns Hopkins Hospital, Baltimore) สหรัฐอเมริกา ได้รายงาน
ผู้ป่วย 7 รายมีอากาศในเนื้อเยื่อผนังกลางหน้าอกเกิดเอง (Spontaneous mediastinal emphysema, SME)
แฮมแมนได้บรรยายลักษณะอาการและอาการแสดงโดยละเอียดและได้เน้นถึงการฟังได้เสียง “กรอบแกรบ”
แซมหายใจ (crackles หรือ crunching) ได้ยินชัดมากบริเวณปลายหัวใจ (cardiac apex) และบริเวณกระดูกอก
(sternum) เสียงนั้นดังมากขึ้นเมื่อให้ผู้ป่วยนอนตะแคงซ้ายและเสียงนั้นอาจจะดังมากจนกระทั่งในผู้ป่วยบางราย
บางครั้งผู้ป่วยและแพทย์ฟังได้เองโดยไม่ต้องใช้เครื่องฟังตรวจ (stethoscope) เสียงที่ได้ยินเข้าจังหวะกับหัวใจเต้น
เพราะเกิดขึ้นเนื่องจากการเต้นของหัวใจไปกดอากาศที่รั่วเข้าไปในเนื้อเยื่อผนังกลาง (mediastinum) ต่อมา
วงการแพทย์ก็เลยเรียกการตรวจพบเสียงกรอบแกรบนี้ว่าเป็น “สัญญาณโรคของแฮมแมน”  ในเวลาไล่เลี่ย
จอห์น สแคดดิง (John Scadding, ค.ศ. 1907-1999) และพอล วูด (Paul Wood, ค.ศ. 1907-1962)
อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอดและหทัยแพทย์ (cardiologist) ชื่อดังจากโรงพยาบาลบรอมพ์ตัน
(Brompton Hospital) ในลอนดอนก็ได้รายงานผู้ป่วย 4 รายที่มีโพรงเยื่อหุ้มปอดข้างซ้ายมีอากาศ
(left pneumothorax) เล็กน้อย ที่มีสัญญาณโรคของแฮมแมนได้ด้วยและพอล วูด เองต่อมาก็ยังเน้นว่าเสียงที่เป็น
สัญญาณโรคของแฮมแมนก็ฟังได้ยินในผู้ป่วยในช่วงที่อากาศในช่องเยื่อหุ้มปอดซ้ายเหลือน้อยเพราะซึมหายไป
เกือบหมดและมีผู้ให้ข้อสังเกตว่าพบสัญญาณโรคที่กล่าวถึงบ่อยที่สุดถ้าอากาศที่รั่วน้อยและอยู่ที่ยอด
(shallow apical left pneumothorax)

        ในประเทศไทยอาจารย์นายแพทย์ใช้ ยูนิพันธุ์ (ค.ศ. 1905-1987) และศาสตราจารย์นายแพทย์ศิระ ศิริสัมพันธ์
เป็นสองคนแรกที่พบสัญญาณโรคนี้ในผู้ป่วยด้วย SME  2 รายที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เมื่อ ปี ค.ศ. 1949
และผู้เขียนได้รายงานผู้ป่วยที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 1 รายมีสัญญาณโรคของแฮมแมน
เนื่องจากโพรงเยื่อหุ้มปอดข้างซ้ายมีอากาศเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1961  ก่อนหน้านั้นในปีเดียวกัน
นายแพทย์เสมเปิลและนายแพทย์แลนคาสเตอร์ (Semple and Lancaster) จากกลาสโกว์ สกอตแลนด์
รายงานผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าว 24 รายและทั้งสองเป็นผู้ใช้คำ “noisy pneumothorax”

        นายแพทย์หลุยส์ แฮมแมน เป็นอายุรแพทย์โรคทรวงอก (อุรแพทย์) ชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงมาก
นอกจากสัญญาณโรคที่กล่าวแล้ว แฮมแมนยังทิ้งชื่อเสียงไว้กับนายแพทย์อาร์โนลด์ ริช (Arnold Rich,
ค.ศ. 1893-1968) พยาธิแพทย์ชื่อดังจากฮอพกินส์ในยุคนั้น  ในเรื่องกลุ่มอาการแฮมแมน-ริช
(Hamman-Rich syndrome) หรือโรคเนื้อเยื่อเสริมปอดอักเสบเฉียบพลัน (acute interstitial pneumonitis)
และประสาทแพทย์คงจะรู้จักอาร์โนลด์ ริช พยาธิแพทย์ผู้พบพยาธิกำเนิดของเยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลัน
เหตุเชื้อวัณโรค (acute tuberculous meningitis) จากรอยโรคเล็ก ๆ ที่ผิวสมองที่รู้จักกันดีในชื่อ Rich focus
แตกทำให้เชื้อวัณโรคแพร่กระจายในน้ำหล่อสมองและไขสันหลัง

        มีแพทย์ที่ได้เอ่ยนามมาแล้วที่ผู้เขียนอยากจะขอบันทึกไว้ด้วย ณ ที่นี้ก็คือ นายแพทย์พอล วูด
หทัยแพทย์ที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งในโลกในยุคนั้น  วูดเป็นชาวออสเตรเลียนที่จบการศึกษาที่ประเทศของตนแล้ว
ไปศึกษาและหางานทำที่อังกฤษ  และระหว่างไปทำงานที่นั่นอาจารย์แพทย์อาวุโสของเขาเห็นแววอัจฉริยะได้ไม่ยาก
จึงได้เป็นแพทย์ที่ปรึกษาและผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอกที่โรงพยาบาลบรอมพ์ตันอย่างรวดเร็ว เสียดายยิ่ง
ที่วูดอายุสั้นเพียง 55 ปี  ผู้เขียนจำได้ดีว่าขณะเป็นแพทย์ฝึกหัดทางอายุรกรรมอยู่โรงพยาบาลชานเมืองลอนดอน
วันออกเวรเคยไปขอฟังท่านขณะตรวจผู้ป่วยนอกโรคหัวใจโดยไม่มีใครแนะนำให้รู้จักแต่ก็กล้าดั้นด้นไปขออนุญาต
ท่านก็ให้ทั้ง ๆ ที่ไม่มีการสอนนักศึกษาแพทย์หรือแพทย์หลังปริญญา เวลาเพียง 2 ครั้งแต่จำได้ไม่มีวันลืม 
หนังสือโรคหัวใจและการไหลเวียนของเลือดที่ท่านเขียนและผู้เขียนยังมีอยู่เป็นหนังสือที่หทัยแพทย์ควรมีไว้
ถ้าหาได้ !

        ส่วนแพทย์อีกท่านที่จะกล่าวถึงก็คือ นายแพทย์ใช้ ยูนิพันธุ์ ท่านผู้นี้คืออาจารย์แพทย์ไทยคนเดียว
ของผู้เขียน ขณะที่กลับมาทำงานทางอายุรศาสตร์ที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อยู่ 2 ปี
ผู้เขียนโชคดีมากที่ได้พบท่านซึ่งเป็นอาจารย์พิเศษเข้าไปดูคนไข้ในสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ระหว่าง 16.30-18.30
หรือกว่า !  ขณะนั้นทั้งโรงพยาบาลมีแพทย์ประจำบ้านอายุรกรรมเพียง 3 คน ยังไม่มีแพทย์ฝึกหัด ! 
ผู้เขียนจึงเป็นผู้รับพาท่านไปดูผู้ป่วยในวอร์ดต่าง ๆ  ท่านเป็นอาจารย์แพทย์ที่เก่งมากโดยเฉพาะทางโลหิตวิทยา 
อาจารย์นายแพทย์ใช้สำเร็จแพทยศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ (Edinburgh) และเป็นแพทย์ไทย
คนเดียวในยุคนั้นที่สอบได้แพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตและเป็นสมาชิกราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งเอดินบะระ
ท่านเป็นคนแรกที่พบผู้ป่วยเป็นโรคฉี่หนู (Leptospirosis) ในประเทศไทย  เป็นคนแรกที่รายงานผู้ป่วยไทย
ด้วยกลุ่มอาการ Peutz-Jeghers และยังมีโรคอื่น ๆ อีกที่ผู้เขียนอาจจำไม่ได้แต่ก็ตั้งใจว่าเมื่อมีโอกาสเขียนถึง
โรคหรือผู้ป่วยที่มีอาการหรือสัญญาณโรคที่เรียนจากท่าน จะไม่ลืมบันทึกไว้แน่ ๆ !

แนะนำเอกสาร
1)  Hamman L.  (1939).  Spontaneous mediastinal emphysema.  Bull.  Johns Hopkins Hosp.  64 : 1.

2)  Scadding  JG, Wood P.  (1939).  Systolic clicks due to left-sided pneumothorax.  Lancet.  
     2 : 1208-1211.

3)  Yunibandhu J,  Sirisumpundh S.  (1949).  Spontaneous mediastinal emphysema.  Report of 2 cases.  
     Siriraj Hosp Gazette.  1 : 263-270.

4)  Semple T, Lancaster WM.  (1961).  Noisy pneumothorax.  Observations based on 24 cases. 
     Br Med J.  1 : 1342-1346.

5)  อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ  (1961)  A case of Noisy Pneumothorax.  จุฬาลงกรณ์เวชสาร  8 : 1-6

6)  Wood P.  (1956).  Textbook of Diseases of the Heart and Circulation.  London, Eyre and Spottiswood.

 

 


 

 

[ back ]