G (ชุดที่ 4) - Genius

Genius

        เมื่อพูดถึงอัจฉริยะ แพทย์และนักศึกษาแพทย์ส่วนมากจะนึกถึงนักวิทยาศาสตร์ เช่น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
(Albert Einstein, ค.ศ. 1879-1955) หรือ ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin, ค.ศ. 1809-1882) ซึ่งก็ถูกต้อง
โดยนึกถึงบุคคลที่มีผลงานสร้างสรรค์ที่โดดเด่นไม่ซ้ำแบบใครที่ไม่ค่อยมีผู้ใดมีความสามารถเช่นนี้และยังประโยชน์
ให้มวลมนุษยชาติ ดังเช่น อิมมานูเอล คานต์ (Immanuel Kant, ค.ศ. 1724-1804) นักปรัชญาชาวเยอรมัน
เคยกล่าวไว้  ถ้าไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ก็มีผู้รอบรู้เชี่ยวชาญในวิชาต่าง ๆ เป็นสถาปนิก จิตรกร วิศวกรฯ ในคนเดียวกัน
(polymath) เช่น ลีโอนาร์โด ดาวินชี (Leonardo Da Vinci, ค.ศ. 1452-1519) ชาวอิตาเลียนผู้วาดภาพโมนาลิสา
(Mona Lisa) ที่คนเป็นจำนวนล้านๆ ได้ไปชมที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ (Louvre Museum) ที่กรุงปารีส และ
วินเซนต์ ฟานโกะ (Vincent Van Gogh, ค.ศ. 1853-1890) ชาวดัทช์  กวีและนักเขียน เช่น เออเนสต์ เฮมมิงเวย์
(Ernest Hemingway, ค.ศ. 1899-1961) ชาวอเมริกันผู้มีผลงานที่อ่านง่าย กระชับแต่ลึกซึ้ง เป็นที่ยอมรับทั่วไป
ดังเช่นเรื่อง For Whom the Bell Tolls และ The Old Man and the Sea เป็นต้น

        ที่จริง คำ “อัจฉริยะ” มาจากภาษาบาลีก็คือ คำ “อัศจรรย์” จากสันสกฤต สิ่งที่ยอมรับกันทั่วไปก็คือ
ความสามารถพิเศษทางสติปัญญาหรือประชานพิสัยของนักวิทยาศาสตร์ จิตรกรหรือนักเขียนที่ได้กล่าว 
ในขณะที่นักกีฬาที่มีความสามารถเป็นพิเศษ เช่น นักฟุตบอลอย่างเปเล่ (Pelé, ค.ศ. 1940-)
เมสสี (Messi, ค.ศ. 1987-)  นักสนุกเกอร์อย่างรอนนี โอซ์ลลิแวน (Ronald O’sullivan หรือ Ronnie,
ค.ศ. 1975-)  และนักเทนนิสชาวสเปนราชาสนามแข่งขันดิน (clay court) เช่น ราฟา นาดาล
(Rafa Nadal, ค.ศ. 1986-) เราเห็นพ้องกันว่าเขาเหล่านั้นมีพรสวรรค์ (Talent) เป็นพิเศษ 
ดังปราชญ์ชาวเยอรมัน อาร์เทอร์ โชเพนเฮาเออร์ (Arthur Schopenhauer, ค.ศ. 1788-1860) กล่าวไว้
อย่างน่าฟังว่า “ผู้มีพรสวรรค์ถึงเป้าหมายที่คนอื่นทำไม่ได้ ส่วนบุคคลอัจฉริยะถึงเป้าที่คนอื่นมองไม่เห็น”

        แพทย์ผู้สนใจย่อมอยากจะทราบว่าสมองของคนอัจฉริยะอย่างไอน์สไตน์มีอะไรพิเศษที่ผิดแผก
ไปจากสมองของคนทั่วไป เมื่อ ค.ศ. 1999 มีรายงานการศึกษากายวิภาคของสมองจากมหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์
ออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา โดยมีสมองกลีบข้าง (parietal lobes) เป็นเป้าหมาย

        ไอน์สไตน์เสียชีวิตเมื่ออายุได้ 76 ปีด้วยหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องที่โป่งพองแตก
ในขณะที่มีหลักฐานทางการแพทย์แน่ชัดว่าสมองใช้การได้ดีตลอด

        การศึกษาสมองของไอน์สไตน์เทียบกับสมองของชายปกติ 35 คน พบสิ่ง “ผิดจากปกติ” ที่สมอง
กลีบข้างทั้งสองซีกคือ แขนงของรอยแยกซิลเวีย (Sylvian fissure) ที่วิ่งลงด้านหลังมารวมกับร่องหลังรอยนูนกลาง
(post-central sulcus) ทำให้ไม่มีฝากลีบข้าง (parietal operculum) หรือรอยนูนเหนือขอบ (supramarginal gyrus)
ส่วนหน้า  นอกจากนี้สมองกลีบข้างทั้งซ้ายและขวาซึ่งในคนธรรมดาจะไม่เท่ากันโดยกลีบซ้ายมักจะเล็กกว่า
สมองของไอน์สไตน์มีกลีบซ้ายเท่าและเหมือนกลีบขวา

        สตีเฟน ฮอคิง (Stephen Hawking, ค.ศ. 1942-) นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกจากมหาวิทยาลัย
เคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร เป็นอีกคนหนึ่งที่ทุกคนยอมรับว่าเขาเป็นอัจฉริยะ เสียดายที่ป่วยเป็น
โรคประสาทสั่งการเสื่อม (motor neuron disease หรือ amyotrophic lateral sclerosis, ALS) ถึงกระนั้น
นักประสาทวิทยาศาสตร์ก็คงอยากรู้อยากศึกษาสมองของเขาแน่ ยิ่งชีวประวัติของเขาได้มาทำเป็นภาพยนตร์
ภายใต้ชื่อ “ทฤษฎีของทุกสิ่งทุกอย่าง” (The Theory of Everything) จนเอ็ดเวิร์ด เรดเมย์น (Edward Redmayne)
ผู้แสดงนำเป็นตัวเขาเป็นนักศึกษาจากวิทยาลัยอีตัน (Eton College) และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แสดงได้ดี
จนได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง (Oscar) ประจำปีนี้ (ค.ศ. 2015) !

        คนไทยอัจฉริยะที่มีผู้กล่าวถึงก็คือ พระยาอนุมานราชธน (ค.ศ. 1888-1969) หรือนักเขียน
ในนามปากกา “เสฐียรโกเศศ” ที่มีความปรีชาสามารถในด้านวิชาศิลปวิทยาการของไทย ไม่ว่าจะเป็นประเพณี
ประวัติศาสตร์ ภาษาและวรรณคดีไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับของปราชญ์ทั้งไทยและเทศ  สำหรับผู้เขียนและคนไทย
อีกเป็นจำนวนมากเชื่อแน่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (ค.ศ. 1927-) ทรงมีคุณสมบัติ
ครบถ้วนทุกประการ คือมีสติปัญญาที่สร้างสรรค์ผลงานโดดเด่นไม่ซ้ำแบบใคร (Originality and Creativity)
ที่ยังประโยชน์ให้มวลมนุษยชาติที่ทุกคนยอมรับ

แนะนำเอกสาร
1)  Wikipedia.  (2015).  Genius.

2)  Lord Brain.  (1964).  Diagnosis of Genius.  In: Doctors Past and Present.  London, Pitman Medical 
     Publishing Co. Ltd.  pp. 217-234.

3)  Witelson SF, Kigar DL, Harvey T.  (1999).  The exceptional brain of Albert Einstein.  Lancet.  
     353 : 2149-2153.

4)  Critchley M.  (1971).  The parietal lobes.  New York, Hafner Publications.

5)  Obler LK, Fein D.  (1988).  The Exceptional Brain.  Neuropsychology of talent and special abilities.  
     New York, The Guildford Press.  pp. 522.

6)  Hawking S, Mlodinow L.  (2010).  The Theory of Everything.  In: The Grand Design.
     London, Bantam Press.  pp. 85-119.

7)  Vincent Van Gogh.  (1986).   A Retrospective.  Edited by Susan Alyson Stein.
     Hugh Lauter Levin Associates, Inc.  Printed in China.

8)  www.sulak-sivaraksa.org  ภาษาไทย (2015).  พระยาอนุมานราชธน. สามัญชนหรืออัจฉริยะ.

 

 

 

[ back ]