F (ชุดที่ 4) - Forensic Medicine

Forensic Medicine

        นิติเวชศาสตร์เป็นสาขาวิชาแพทยศาสตร์ที่นับวันจะมีความสำคัญมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน
ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์หลังการค้นพบโครงสร้างกรดดีออกซิไรโบนิวเคลอิคเกลียวคู่
(double stranded deoxyribonucleic acid หรือ DNA) โดยวัตสัน (Watson, ค.ศ. 1928-) และคริคก์
(Crick, ค.ศ. 1916-2004) นำไปสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันมากมายจนนิติวิทยาศาสตร์ (Forensic Science)
เป็นวิชาที่คุ้นหูบุคคลทั่วไป

        เมื่อ 50-60 ปีก่อนผู้เขียนเป็นนักศึกษาแพทย์ที่ลอนดอน บังเอิญโชคดีที่โรงเรียนแพทย์ที่ศึกษามีอาจารย์
ผู้เชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงมากทั่วโลกในเรื่องนี้ (ซึ่งมีไม่กี่คนในอังกฤษ) ชื่อนายแพทย์คีท สิมป์สัน
(Keith Simpson, ค.ศ. 1907-1985) จึงสนใจวิชานี้  สิมป์สันเคยได้รับเชิญจากประเทศไทยให้เป็นผู้ให้
ความเห็นกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8)  ในช่วงนั้นนิติเวชศาสตร์
จัดรวมไว้ในพยาธิวิทยาเพราะผู้เชี่ยวชาญต้องเป็นพยาธิแพทย์ จำได้ดีว่าเมื่อวันใดซึ่งเป็นเวลาระหว่างเที่ยงถึงบ่ายโมง
ที่สิมป์สันผ่าชันสูตรศพและสอนจะมีนักศึกษาไปฟังกันมาก ในช่วงสามปีสุดท้ายนอกจากงานในหอผู้ป่วยซึ่งเปลี่ยนไป
ทุก ๆ สามเดือนจะไม่มีการเรียนด้วยการบังคับต้องเข้าฟังการบรรยายในห้องเรียน !

        แพทย์และนักศึกษาแพทย์เป็นจำนวนไม่น้อยที่ชอบอ่านเรื่องตื่นเต้น เรื่องนักสืบคดีลี้ลับ ชื่อ เชอร์ล็อค โฮล์มส์ (Sherlock Holmes) ในเรื่องที่เขียนโดยอาเทอร์ โคนันดอยล์ (Sir Arthur Conan Doyle) แพทย์ชาวสก็อตเมื่อ
ปี ค.ศ. 1887 โด่งดังไปทั่วโลกถึงขนาดใครไปนครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ถามหาถนนเบเกอร์ (Baker Street)
ก่อนก็มีให้เห็นเสมอ ๆ คล้ายกับในยุคสิบปีที่ผ่านที่หนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่อ่านนิยายแฮรี่ พอตเตอร์ (Harry Potter)
ของเจ เค โรลลิ่ง (J.K. Rowling) จะขอไปดูชานชาลาที่ 9¾ ของสถานีรถไฟคิงส์ครอสส์ (King’s Cross) !

        ที่จริงการเป็นแพทย์โดยเฉพาะอายุรแพทย์เหมือนเป็นนักสืบ  ซักถามผู้ป่วยเพื่อให้การวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง 
นิติเวชศาสตร์และนิติเวชสาธก (medical jurisprudence) จึงเป็นที่ชื่นชอบและสนุกสนานถึงแม้ตนจะไม่เลือก
เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้

        ในประเทศไทยการสอนนิติเวชศาสตร์เริ่มที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีศาสตราจารย์นายแพทย์
สงกรานต์ นิยมเสน แพทย์ปริญญารุ่นที่ 7 (พ.ศ. 2477) ที่ไปศึกษาต่อที่เยอรมนีจนได้ Dr. Med จาก
มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก  อาจารย์สงกรานต์คือ บิดาของนิติเวชศาสตร์ไทย เปรียบเสมือนศาสตราจารย์นายแพทย์
เซอร์ สิดนีย์ สมิท (Sir Sydney Smith, ค.ศ. 1883-1969) ชาวนิวซีแลนด์ ซึ่งไปศึกษาต่อที่สหราชอาณาจักร
และทำงานที่นั่น จนที่สุดเป็นราชศาสตราจารย์ (Regius Professor) ทางนิติเวชศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ
เป็นคณบดี (Dean) และอธิการบดี (Rector) ตามลำดับ  ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ต.อ. นายแพทย์ถวัลย์ อาศนะเสน เป็นนิติเวชแพทย์คนแรก และศาสตราจารย์นายแพทย์ยงยุทธ สัจจวานิช
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ช่วยบุกเบิกสาขาวิชานี้ให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  นิติเวชศาสตร์ได้รับ
ความสนใจอย่างมากทั้งจากนักศึกษาแพทย์และประชาชนทั่วไปเมื่อแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ (ศรศรีวิชัย)
โรจนสุนันท์ จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลทำคดีสำคัญ ๆ ที่คนไทยทั้งประเทศ
สนใจหลายคดี มีคดีนักศึกษาแพทย์ “เจนจิรา” เป็นอาทิ  ผู้เขียนเชื่อว่าแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์คล้าย
ศาสตราจารย์นายแพทย์คีท สิมป์สัน ที่กายส์ (Guy’s) ที่ทำให้นักศึกษาแพทย์รุ่นต่อ ๆ มาอีกไม่น้อยสนใจ
เจริญรอยตามและทำให้นิติเวชศาสตร์เป็นส่วนสำคัญของแพทยศาสตร์เช่นที่ควรจะเป็น

        เมื่อ 15-20 ปีที่แล้ว ผู้เขียนขณะดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาชิกวุฒิสภา
จำได้ว่าจะมีการตั้งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มีการเสนอให้สถาบันมีความเป็นอิสระทางวิชาการ
(academic freedom) ได้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางนิติเวชศาสตร์ของมหิดล ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยว่า
สถาบันจะมาสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ที่เห็นด้วยก็มีแต่ยังอ่อนอาวุโสและกำลังเป็นกำลังสำคัญ
ในด้านการเรียนการสอน การบริการและวิจัยอยู่ สถาบันจึงไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม  ปัจจุบันผู้อาวุโสทางด้านนี้
ที่เกษียณราชการทั้งจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยเฉพาะผู้ที่มีประสบการณ์ทางการเมือง เช่น ศาสตราจารย์นายแพทย์วิรัติ พาณิชย์พงษ์ อดีตหัวหน้าภาควิชาฯ
ซึ่งนอกจากเป็นผู้เชี่ยวชาญทางนิติเวชศาสตร์ ยังเป็นศัลยแพทย์และเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา อาจจะช่วย
พิจารณาเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้สถาบันฯ ปลอดจากระบบราชการและนักการเมืองโดยเป็นองค์กรอิสระ


แนะนำเอกสาร

1)  Wikipedia.  (2015).  Cedric Keith Simpson.

2)  อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ  (พ.ศ. 2557)  Charcot and Crick  เกร็ดความรู้อายุรศาสตร์ A-Z เล่ม 3  หน้า 22-29

 

 

 

[ back ]