E (ชุดที่ 4) - Epidemiology

Epidemiology
(Clinical) Epidemiology

        กล่าวกันว่านักวิทยาการระบาดมักจะหมกมุ่นกังวลใจอยู่เสมอในเรื่องให้ความหมายของคำ “วิทยาการระบาด”
ถึงกับเคยมีผู้เสนอเรื่องในวารสารให้คำนิยามไว้ถึง 26 ความหมาย !  ที่จริงคำ epidemiology มาจากภาษากรีก
หมายถึงเกี่ยวกับประชากรตั้งแต่สมัยฮิปโปเครติส (Hippocrates) ก็เชื่อว่าการเกิดโรคมีสาเหตุมาจากดิน น้ำ ลม ไฟ
ต่อมาก็สงสัยและเชื่อว่ามีเชื้อโรค  การค้นพบกล้องจุลทรรศน์โดย ลู เวนฮุค และแพทย์นำมาใช้ในการวินิจฉัยโรค
ได้ช่วยให้การแพทย์ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว  การศึกษาโรคระบาดได้ครอบคลุมทั้งโรคติดเชื้อและโรคอื่น อาทิ
ผลงานของเจมส์ ลินด์ (James Lind) เกี่ยวกับโรคลักปิดลักเปิด (scurvy) ที่เกิดจากการขาดวิตามินซี (C) และ
จอห์น สโนว์ (John Snow) เรื่องการระบาดของอหิวาตกโรคในลอนดอน  ปัจจุบันขอบเขตของวิทยาการระบาด
กว้างใหญ่ไพศาลมากรวมไปถึงการศึกษาเรื่องความอยู่ดีกินดีของมนุษย์ !

        วิทยาการระบาดเวชกรรม (คลินิก) เป็นศาสตร์ใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่ถึง 50 ปี
ถ้าพูดสั้นๆ ก็คือ เป็นวิชาที่ใช้คณิตศาสตร์ตัดสินการวินิจฉัย การดูแลรักษาผู้ป่วยและการวิจัย  ความเจริญก้าวหน้า
ทางวิชาสถิติและเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ช่วยให้วิชานี้เป็นเสมือนวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่สำคัญของเวชศาสตร์คลินิก
(clinical medicine)  การตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวเริ่มเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว โดยอายุรแพทย์ชาวแคนาดาที่
มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ (MacMaster) ในรัฐออนแทรีโอ (Ontario) ชื่อนายแพทย์เดวิด แสคเกตต์
(David Sackett) ที่แรกเริ่มเชี่ยวชาญทางวักกะวิทยา (nephrology) มีแนวคิดที่ทำให้เวชปฏิบัติต่อผู้ป่วยไม่ว่า
ในการวินิจฉัยหรือการให้ยารักษาโรคมีพื้นฐานทาง “วิทยาศาสตร์” มากกว่าเป็น “ศิลปะ” จากประสบการณ์ 
เมื่อได้ลามาศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในสหราชอาณาจักร ในช่วงที่มีรายงานการศึกษาเรื่องมะเร็งปอด
มีสาเหตุสำคัญจากการสูบบุหรี่โดยเซอร์ ริชาร์ด โดล (Sir Richard Doll) และงานทางชีวสถิติโดยเซอร์ ออสติน
แบรดฟอร์ด ฮิล (Sir Austin Bradford Hill) ทำให้นายแพทย์แสคเกตต์หันมาทุ่มเทพัฒนาวิทยาการระบาดคลินิก
ร่วมกับเพื่อน ๆ และศิษย์จนได้รับความนิยมทั่วโลกโดยเริ่มที่สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย รวมทั้งประเทศไทย  
ต่อมาแสคเกตต์ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ในสาขาวิชานี้ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด จนเกษียณอายุ
แล้วกลับไปพำนักอยู่ในประเทศแคนาดา  ผู้เขียนอายุรุ่นราวคราวเดียวกับแสคเกตต์ (ค.ศ. 1934-) เคยพบเขาที่
ออกซ์ฟอร์ด และเขาได้มอบหนังสือ Clinical Epidemiology.  A Basic Science for Clinical Medicine
ที่เขาเขียนร่วมกับ Brian Haynes, Gordon Guyatt และ Peter Tugwell พร้อมทั้งลายเซ็นให้ด้วย เป็นหนังสือ
ที่ขอแนะนำให้อายุรแพทย์อ่านเล่นยามว่าง

        นอกจากนี้ยังได้คุ้นเคยกับริชาร์ด ปิโต (Richard Peto) ซึ่งได้รู้จักกันมาก่อนเพราะเป็นเพื่อนสนิทของ
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ เขาสนใจเรื่องยาสูบมาก  ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นเซอร์ ริชาร์ด ปิโต 
ที่ออกซ์ฟอร์ดยังมีเซอร์ เอียน ชาลเมอรส์ (Sir Iain Chalmers) ผู้ก่อตั้ง Cochrane Collaboration และห้องสมุด
เจมส์ลินด์ ทั้งสองคนได้รับรางวัลเจ้าฟ้ามหิดลพร้อมกันด้วย

        คณะแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยไทยทุกคณะได้ตอบรับกระแสความนิยมต่อวิทยาการระบาดคลินิกดีมาก
จนปัจจุบันมีอาจารย์แพทย์ไทยในสาขาวิชาแพทยศาสตร์คลินิกอยู่แทบทุกภาคเป็นผู้เชี่ยวชาญใน “ศาสตร์” นี้ 
ที่รามาธิบดีศาสตราจารย์แพทย์หญิงสยมพร ศิรินาวิน กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ เคยจัดให้มีคลินิกเหมือน
คลินิกผู้ป่วยนอกให้บริการอาจารย์แพทย์ อาจารย์พยาบาล แพทย์ประจำบ้านและนักศึกษาแพทย์ ให้คำปรึกษาทุกวัน
โดยอาจารย์และอาจารย์ผู้เป็นนักวิทยาการระบาดคลินิกจากภาควิชาต่าง ๆ บริการ

        ถ้าอายุรแพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ปฏิบัติวิทยาการระบาดคลินิกเป็นประจำ  เป็นที่เชื่อแน่ว่า
งบประมาณค่าใช้จ่ายของรัฐในเรื่องยาคงประหยัดได้มาก  ผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องกินยาต้านจุลชีพ เช่น เป็นหวัดหรือ
ไข้หวัด และผู้ป่วยโรคมะเร็งหลายชนิดที่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ายาต้านมะเร็งให้ผลคุ้มค่า ก็จะไม่ใช้ยาโดยไม่จำเป็น !

แนะนำเอกสาร
1)  A Dictionary of Epidemiology. Sixth Edition.  (2014).  The International Epidemiology Association. 
     Ed. Miquel Porta.  Oxford University Press.  Pp. 376.

2)  Lillienfeld DE.  (1978).  Definitions of Epidemiology.  Am J Epidemiol.  107 : 87-90.

3)  Sackett DL, Haynes RB, Guyatt GH, Tugwell P.  (1995).  Clinical Epidemiology.  A Basic Science for   
     Clinical Medicine.  Second Edition.  Little, Brown and Company.  London.  Pp. 441.

4)  Peto R.  (2014).  Halving premature death in middle age.  13th Athasit Vejjajiva Lecture, Faculty
     of Medicine, Ramathibodi Hospital, Bangkok, Thailand.  October the 31st .

5)  Peto R.  (2014).  Harveian Oration 2012.  Halving premature death.  Clin Medicine RCP.  14 : 643-657.

 


 

 

[ back ]