X (ชุดที่ 1) - X-linked disorders

          Fragile X
          FXTAS
       
       
          
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หลังผังพันธุกรรมมนุษย์เสร็จ  ความเจริญก้าวหน้าทาง
อณูชีววิทยาเกี่ยวกับการแพทย์ได้ก้าวกระโดดไปมากในทุกๆ แขนงและทุกๆ ด้านของอายุรศาสตร์
ครอบคลุมไปถึงวิทยาการระบาดจนเวชศาสตร์เฉพาะบุคคล (personalised medicine) 
แพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์มีความจำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมทางพันธุศาสตร์ด้วย  ความผิดปกติ
ทางระบบประสาทตั้งแต่เด็กจนสูงวัยโดยเฉพาะสมองตั้งแต่การพัฒนาการจนถึงการเสื่อมได้รับอานิสงส์
อย่างมากจากงานวิจัยทางประสาทพันธุศาสตร์

ความผิดปกติที่เชื่อมโยงกับโครโมโซมเอ็กซ์ (x-linked disorders) เพิ่มทวีคูณจนนับแทบไม่ถ้วนเกือบไม่เว้นแต่ละปี  ในที่นี้จะยกเรื่องโรคทางสติปัญญา พฤติกรรมและอารมณ์ เช่น
กลุ่มโรคออติสติค (autistic spectrum disorders, ASD's) มาเป็นตัวอย่างพอสังเขป  แม้แต่โรคที่
เชื่อมโยงกับโครโมโซมเอ็กซ์ในเด็กที่มีสติปัญญาด้อยอาจจะไม่ใช่โรคสมองผิดปกติแต่เกิดจาก
การกลายที่ยีน (genetic mutation) ในตัวนำส่งไทรอยด์ฮอร์โมนก็ได้

กลุ่มอาการโครโมโซมเอ็กซ์เปราะ (Fragile X syndrome) เป็นโรคทางพันธุกรรมที่
ทำให้เกิดสติปัญญาอ่อนในเด็กเพราะยีน FMR1 ผิดปกติ  เมื่อปี ค.ศ. 1943 นายแพทย์เจมส์
เพอร์ดอน มาร์ติน (James Purdon Martin) ประสาทแพทย์ชาวไอริช ที่สถาบันประสาทฯ 
ควีนส์สแควร์ ลอนดอน ร่วมกับจูเลีย เบลล์ (Julia Bell) นักพันธุศาสตร์ (แพทย์หญิง) ศึกษาและ
รายงานเด็กปัญญาอ่อนที่มีรูปร่างลักษณะผิดปกติซึ่งรู้จักในนามกลุ่มอาการมาร์ติน-เบลล์ 
และในปี ค.ศ. 1969 เฮอร์เบิต ลับส์ (Herbert Lubs) นักพันธุศาสตร์ สังเกตเห็นตำแหน่งโครโมโซม
เอ็กซ์ผิดสังเกต  ซึ่งในปีต่อมาเฟรเดอริค เฮคท์ (Frederick Hecht) เรียกว่า ตำแหน่งเปราะบาง
หรือ fragile site  ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ก้าวกระโดดอย่างมหัศจรรย์  เราไม่เพียงแต่ทราบว่าโรคนี้
เป็นโรคพันธุกรรมที่ยีนเดียวผิดปกติที่เป็นสาเหตุของออติสม์ที่พบมากที่สุด  ทราบรายละเอียดโครงสร้างของยีน  ทราบวิธีตรวจหาจากการตรวจเลือดอย่างง่ายโดยไม่สิ้นเปลือง  ทราบอาการอื่น
ทางระบบประสาทโดยเฉพาะอาการสั่น (tremor)  อาการกล้ามเนื้อเสียสหการ (ataxia)  
อาการสมองเสื่อมและอาการคล้ายโรคพาร์กินสัน (Parkinsonism) ที่สำคัญที่เป็นแนวทางปฏิบัติ
ทางเวชกรรมใหม่ก็คือ เมื่อเราตรวจพบและยืนยันได้ว่าผู้ป่วยเด็กเป็นโรคนี้เราควรซักถามและตรวจ
ปู่ย่า ตายาย พี่ ป้า น้า อา ของผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตอยู่และมีอาการทางระบบประสาทดังกล่าว รวมทั้ง
การตรวจทางห้องปฏิบัติการทางพันธุกรรมที่กล่าวซึ่ง "สวนทาง" (แต่ได้ประโยชน์ทั้งสองทาง!)
กับการตรวจทางพันธุกรรมเด็กในครรภ์ในการป้องกันโรคที่แพทย์ทั่วๆ ไปทราบกันแล้ว

สุดท้าย ขอกล่าวถึงกลุ่มอาการเร็ตต์ (Rett syndrome) โรคสติปัญญาอ่อนทาง
พันธุกรรมอีกโรคหนึ่งที่กุมารแพทย์ชาวออสเตรีย คือ นายแพทย์อองเดรียส์ เร็ตต์ (Andreas Rett) รายงานไว้เมื่อ ค.ศ. 1966 ซึ่งปัจจุบันเราทราบแล้วเป็นโรคพันธุกรรมอีกโรคหนึ่งที่เกี่ยวโยงกับโครโมโซมเอ็กซ์เพราะ
ยีน MECP2 (methyl-Cp G-binding protein 2) พร่องซึ่งพบในเด็กผู้หญิงเพราะถ้าเป็นในเด็กผู้ชายมักจะแท้งก่อนคลอดหรือตายในครรภ์แม่  มีหลักฐานจากงานวิจัยในสัตว์ทดลองว่า ความผิดปกติอยู่ที่เซลล์แอสโตรซัยท์และการทดลองโดยปลูกถ่ายไขกระดูก (bone marrow transplantation) ช่วยยับยั้งความผิดปกตินั้นได้ซึ่งเป็นความหวังในการรักษาโรคนี้ในเด็กในอนาคตอันใกล้

เอกสารอ้างอิง
1.  Placzek MR, Warner TT.  Basic genetics for the clinical neurologist.  J Neurol
     Neurosurg Psychiatry  2002; 73 (Suppl 11): ii5-ii11.

2.  ธีรธร พูลเกษ  ประสาทพันธุศาสตร์ เล่ม ๑  พิมพ์ครั้งที่ 1  บริษัท บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์ จำกัด
       พ.ศ. 2554  หน้า 1-21  

3.  Friesema ECH, Grueters A, Biebermann H, et al.  Association between mutations
     in a thyroid hormone transporter and severe X-linked psychomotor retardation.
     Lancet  2004; 364: 1435-37. 
      
4.  Hagerman RJ, Hagerman PJ.  Testing for fragile X gene mutations throughout
     the life span.  JAMA  2008; 300: 2419-2421.  

5.  Cohen S, Masyn K, Adams J, et al.  Molecular and imaging correlates of 
     the fragile X-associated tremor/ataxia syndrome.  Neurology  2006; 67: 1426-31.  

6.  Kamm C, Gasser T.  The variable phenotype of FXTAS.  A common cause of
     "idiopathic" disorders.  Neurology  2005; 65: 190-91. 

7.  Kaya N, Colak D, Albakheet A, et al.  A novel X-linked disorder with 
     developmental delay and autistic features.  Ann Neurol  2012; 71: 498-508.   

8.  Lioy DT, Garg SK, Mandel G, et al.  A role for glia in the progression of Rett's
     syndrome.  Nature  2011; 475: 497-500.  

9.  Derecki NC, Cronk JC, Kipnis J, et al.  Wild-type microglia: arrest pathology in 
     a mouse model of Rett syndrome.  Nature  2012.  E-pub 2012 Mar 18.  

 

[ back ]