N (ชุดที่ 3) - Neuromyelitis optica

Neuromyelitis optica

        ในปี ค.ศ. 1870 เซอร์ โทมัส คลิฟฟอร์ด ออลล์บัตต์ (Sir Thomas Clifford Allbutt,
ค.ศ. 1836-1925) อายุรแพทย์ชาวอังกฤษเป็นคนแรกที่กล่าวถึงผู้ป่วยด้วยโรคประสาทไขสันหลังที่มีอาการ
มองไม่เห็น (visual loss) เป็นอาการร่วมด้วย  แต่ก็ไม่ได้เป็นที่สนใจของวงการแพทย์ในขณะนั้นจนอีก 20 กว่าปี
ต่อมา เออแจน เดวิค (Eugène Devic, ค.ศ. 1858-1930) อายุรแพทย์ชาวฝรั่งเศสที่เมืองลียง (Lyon)
รายงานผู้ป่วยหญิงอายุ 45 ปีมีโรคประสาทไขสันหลังและประสาทตาอักเสบ ร่างกายท่อนล่างเป็นอัมพาต
ปัสสาวะไม่ออก ถึงแก่กรรมหลังมีอาการได้เพียง 3 เดือน  เดวิครายงานผู้ป่วยรวมทั้งผลการตรวจศพต่อที่ประชุม
(First Congress of Internal Medicine) ในปี ค.ศ. 1894 พร้อมทั้งกล่าวถึงผู้ป่วยที่เคยรายงานในยุโรปและ
สหรัฐอเมริกา ซึ่งเดวิคได้ให้ศิษย์แพทย์ แฟร์นอง โกลต์ (Fernand Gault) ศึกษาอย่างละเอียดเสนอเป็นวิทยานิพนธ์
ในหัวข้อ “De la neuromyélite optique aiguë”  ต่อมานิวโรมัยอิลัยติสออพติกา (Neuromyelitis optica, NMO)
ได้ถูกเรียกว่า โรคเดวิค (Devic’s disease) โดยนายแพทย์พีโพ แอคสิโยติ (Peppo Acchioté) จากเมือง
คอนเสตนติโนเปิล (Constantinople) ประเทศตุรกี (Turkey)

        ผู้ป่วย NMO มีลักษณะอาการคล้ายคลึงกับผู้ป่วยมัลติเพิลสเคลอโรสิส (multiple sclerosis, MS)
ชนิดที่มีอาการประสาทไขสันหลังร่วมกับประสาทตาอักเสบ  ในปี ค.ศ. 1996 เอียน แมคโดนัลด์ (Ian McDonald) 
เดวิด มิลเลอร์ (David Miller) และคณะรายงานการศึกษาลักษณะอาการผู้ป่วย NMO 12 ราย พร้อมทั้งศึกษา
น้ำหล่อไขสันหลังและการถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging, MRI) เสนอว่า NMO และ
MS เป็นคนละโรคกัน  จนในที่สุดการค้นพบแอนติบอดีต่ออะควาพอริน 4 (Aquaporin 4, AQP4) ที่ช่องน้ำของ
มัยอิลินในโรค NMO เป็นสารกำหนดชีวภาพ (biomarker) ของโรค โดยแพทย์หญิงเวอร์นา เลนนอน
(Verna Lennon) และคณะที่เมโยคลินิก สหรัฐอเมริกา เป็นการค้นพบที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์
ของโรค NMO แต่ในช่วงระยะเวลาศตวรรษที่ 21 ที่ผ่านไปความคลางแคลงสงสัยก็ยังคงมีอยู่ในกรณีที่ผู้ป่วย NMO
ร้อยละ 10 ถึง 30 ตรวจไม่พบออโตแอนติบอดีต่อ AQP4 ถึงแม้จะใช้วิธีการตรวจหาที่ดีที่สุด  เมื่อเร็ว ๆ นี้
ดักลาส ซาโตะ (Douglas Sato) และคณะจากมหาวิทยาลัยโตโฮกุ ที่เมืองเซนได ญี่ปุ่น ได้ศึกษาผู้ป่วย NMO
ชาวญี่ปุ่นและชาวบราซิล หาแอนติบอดีต่อ AQP4 และแอนติบอดีต่อมัยอิลิน โอลิโกเดนโดรไซต์ กลัยโคโปรตีน
(myelin oligodendrocyte glycoprotein, MOG) รวม 215 ราย พบมีผู้ป่วยแอนติบอดีต่อ AQP4+ 139 ราย
(ร้อยละ 64.7)  มีแอนติบอดีต่อ MOG+ 16 ราย (ร้อยละ 7.4) ไม่มีผู้ป่วยที่มีแอนติบอดีทั้ง 2 ชนิด 
ผู้ป่วยที่ MOG+ เป็นร้อยละ 21.1 ของผู้ป่วยที่ไม่มีแอนติบอดีต่อ AQP4 (16 ใน 76 ราย) ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีลักษณะ
อาการผิดจากผู้ป่วยที่มีแอนติบอดีต่อ AQP4 และผิดจากผู้ป่วย NMO ที่ไม่มีแอนติบอดีทั้ง 2 ชนิดคือ
มักจะเป็นผู้ป่วยชาย มีอาการที่ประสาทตามากกว่ามีอาการที่ประสาทไขสันหลัง  เวลามีอาการที่ประสาทตา
มักจะเป็นทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน อาการที่ประสาทไขสันหลังก็มักจะเป็นที่ส่วนล่าง เป็นครั้งคราวและอาการทุเลาดีกว่า
รายงานที่กล่าวมาทำให้น่าสงสัยว่าโรค NMO มี 2 รูปแบบหรือมากกว่า !

        การศึกษาจากจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นทั่วโลกคงจะให้ความกระจ่างขึ้น !

แนะนำเอกสาร
1)  Allbutt TC.  (1870).  On the ophthalmoscopic signs of spinal disease.  Lancet.  1 : 76-78.

2)  Devic E.  (1894).  Myelite subaigue compliquee de neverite optique.  Bull Med.  8 : 1033-1034.

3)  Jacob A, Boggild M.  (2006).  Neuromyelitis optica.  Practical Neurology.  6 : 180-184.

4)  Jarius S, Wildemann B.  (2013).  The history of neuromyelitis optica.  J Neuroinflammation.  10 : 8.

5)  O’Riordan JI, Gallagher HI, Thompson AJ, et al.  (1996).  Clinical, CSF and MRI findings in
     Devic’s neuromyelitis optica.  J Neurol Neurosurg Psychiatry.  60 : 382-387.

6)  Lennon VA, Wingerchuk DM, Kryzer TJ, et al.  (2004).  A serum autoantibody marker of
     neuromyelitis optica: distination from multiple sclerosis.  Lancet.  364 : 2106-2112.

7)  Wingerchuk DM, Lennon VA, Pittock SJ, et al.  (2006).  Revised diagnostic criteria for
     neuromyelitis optica.  Neurology.  66 : 1485-1489.

8)  Weinshenker BG, Wingerchuk DM.  (2014).  The two faces of neuromyelitis optica.  Neurology. 
     82 : 466-467. 

9)  Sato DK, Callegaro D, Lana-Peixoto MA, et al.  (2014).  Distination between MOG antibody-positive
     and AQP4 antibody-positive NMO spectrum disorders.  Neurology.  82 : 474-481.

10) เมธา อภิวัฒนากุล  สสิธร ศิริโท  (2556)  นิวโรมัยอิลัยติสออพติกา  ใน ตำราประสาทวิทยาคลินิก เล่มที่ 1 
      หน้า 482-488   ผลิต-จัดพิมพ์โดยสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย  บรรณาธิการ: รุ่งโรจน์ พิทยศิริ
      ธีรธร พูลเกษ  กนกวรรณ บุญญพิสิฏฐ์  สมบัติ มุ่งทวีพงษา

 


 
 
 

 

[ back ]