C (ชุดที่ 3) - Charcot and Crick

Charcot and Crick

        เห็นชื่อผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง 2 ด้วยกัน ผู้อ่านอาจจะฉงนหรือแปลกใจว่าทั้ง 2 ท่านเกี่ยวข้องอะไรกัน นอกจาก
ชื่อขึ้นต้นด้วยอักษร C เหมือนกัน !  ถ้าผู้อ่าน ๆ ต่อไปอาจจะเห็นด้วยกับผู้เขียนว่า ฌอง มาแตง ชาโก
(Jean-Martin Charcot) และฟรานซิส คริคก์ (Francis Crick) มีคุณูปการอย่างยิ่ง  ทำให้อายุรแพทย์โดยเฉพาะ
ประสาทแพทย์สามารถประกอบวิชาชีพเวชกรรมในสาขาของตนได้อย่างปัจจุบันนี้ !

        ฌอง มาแตง ชาโก (ค.ศ. 1825-1893) คือ บิดาของประสาทวิทยาเวชกรรม (clinical neurology)
ปัจจุบันถึงแม้จะเสียชีวิตเมื่อ 120 ปีมาแล้ว ชาโกเป็นแพทย์ชาวฝรั่งเศส เริ่มเป็นแพทย์ฝึกหัดเมื่ออายุได้ 23 ปี
ใช้เวลา 5 ปีทำอายุรกรรมและทำวิทยานิพนธ์เรื่องโรคเกาต์ (gout) และ รูห์มาติสม์เรื้อรัง (chronic rheumatism)
ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าสำนักแพทย์  ชาโกสนใจศึกษาวิชากายวิภาคศาสตร์พยาธิ (pathological anatomy) ด้วย
จนได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ในวิชานั้น  ก่อนที่รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ทางประสาทวิทยาคนแรกของ
มหาวิทยาลัยปารีส  ผู้เขียนได้พยายามรวบรวมสิ่งที่ตรวจพบผิดปกติ ภาวะหรือโรคที่มีชื่อชาโกเป็นชื่อติดอยู่ด้วย
ดังนี้

        1) Charcot-Leyden crystals หรือผลึกเล็ก ๆ ไม่มีสีพบในเสมหะผู้ป่วยโรคหอบหืดหลังมีอาการหอบ
เชื่อว่าเป็นส่วนที่สลายตัวของเซลล์อีสิโนฟิล  Ernst Viktor von Leyden เป็นแพทย์ชาวเยอรมัน  เป็นศาสตราจารย์
ทางอายุรศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน และเป็นประสาทแพทย์ที่มีชื่อ รุ่นราวคราวเดียวกันกับชาโก
(ค.ศ. 1832-1910) โดย Leyden บรรยายเกี่ยวกับผลึกนี้ในปี 1869 แต่ไปพบว่าชาโกได้เคยพบแล้วเมื่อ
ปี ค.ศ. 1853 !

        2) ไข้เป็น ๆ หาย ๆ มีเว้นระยะของชาโก (Charcot’s intermittent fever) พบในท่อน้ำดีอักเสบ
(cholangitis) ผู้ป่วยมีไข้สูงลักษณะดังกล่าว มีหนาวสั่น ตาเหลือง

        3) Charcot’s joint ข้อเสื่อมจากประสาทรับรู้อากัปกิริยา (proprioceptive sense) เสีย เช่นจากโรคซิฟิลิส
(Tabes dorsalis)

        4) Charcot artery บางครั้งใช้เรียกหลอดเลือดแดงแขนง lenticulo-striate ของ middle cerebral artery
ซึ่งมักจะแตกจนได้ชื่อว่าเป็น artery of cerebral haemorrhage ในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง  

        5) Charcot-Bouchard aneurysm หรือหลอดเลือดแดงโป่งพองเป็นกระเปาะเล็ก ๆ (miliary aneurysm)
ที่หลอดเลือดแดงในสมองในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง

        6) Charcot triad (ไตรลักษณ์ของชาโก) ประกอบด้วยตากระตุก (nystgmus), มือ แขนหรือขาสั่น
ขณะตั้งใจใช้งาน (intention tremor) และพูดเว้นช่วงผิดจังหวะ (scanning speech) พบในผู้ป่วยมัลติเปิลสเคอโรสิส
(multiple sclerosis) 

        7) Charcot-Erb paresis อัมพฤกษ์จากประสาทไขสันหลังอักเสบเหตุซิฟิลิส  วิลเฮล์ม ไฮน์ริช เอิบ
(Wilhelm Heinrich Erb, ค.ศ. 1840-1921) เป็นประสาทแพทย์ชาวเยอรมัน เป็นศิษย์และเป็นศาสตราจารย์ทาง
ประสาทวิทยาต่อจากฟรีดไรช์ (Friedreich) ที่มีชื่อใช้เรียกโรค ataxia ชนิดหนึ่ง

        8) Charcot-Jeffroy hypertrophic spinal meningitis  
        
        9) Charcot-WeissBaker carotid sinus hypersensitivity

        10) Charcot-Wilbrand visual agnosia

        11) Charcot-Marie-Tooth disease (CMT) ที่นักศึกษาและแพทย์รู้จักกันดี

              Pierre-Marie เป็นสานุศิษย์คนสำคัญของชาโก ส่วนนายแพทย์เฮนรี ทูธ เป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
ชาวอังกฤษ

        12) Charcot’s disease หรือ amyotrophic lateral sclerosis หรือ motor neuron disease ซึ่งแพทย์ทั่วโลก
ยอมรับว่าชาโกเป็นคนแรก ๆ ที่ศึกษาโรคนี้และบรรยายไว้อย่างละเอียดถูกต้อง

        นอกจากนี้ชาโกยังเป็นผู้ศึกษาโรคพาร์กินสัน แต่แนะว่าควรให้เกียรติเรียกชื่อ เจมส์ พาร์กินสัน แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปชาวอังกฤษเป็นชื่อโรคเพราะเหมาะสมกว่า !  ที่จริงยังมีสัญญาณโรคอื่น ๆ ที่มีชื่อชาโกติดอยู่ด้วย เช่น Charcot oedema  หรือบวมกดไม่บุ๋มสีม่วงคล้ำที่แขนขาที่เป็นอัมพาตเหตุหลอดเลือดอุดตันหรือจากฮีสทีเรีย (hysteria) และ Charcot vertigo หรือ laryngeal epilepsy ซึ่งปัจจุบันเชื่อว่าเป็นอาการเป็นลมเหตุไอรุนแรงติดต่อกันมากกว่า
(cough syncope)

        ชาโกมีชื่อเสียงโดดเด่นในฐานะครูสอนแบบแสดงผู้ป่วย ทำให้แพทย์ทั่วโลกในยุคนั้นรู้จักโรงพยาบาล
ซาลแปตริแอร์ ในกรุงปารีส  สานุศิษย์ชาโกที่เป็นประสาทแพทย์มีชื่อเป็นที่รู้จักกันดีก็มีมาก อาทิ ปิแอร์ มารี
(Pierre Marie)  โจเซฟ บาบินสกี (Joseph Babinski)  ยิลล์ เดอ ลา ตูแรตต์ (Gilles de la Tourette) และจิตแพทย์ชื่อเสียงก้องโลกเจ้าของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ สิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud)

        ฟรานซิส คริคก์ (Francis Crick, ค.ศ. 1916-2004) ไม่ใช่แพทย์ แต่แพทย์ทุกคนยอมรับว่า คริคก์มีคุณูปการมหาศาลต่อวงการแพทย์ในช่วงเวลา 60 ปีที่ผ่านมา เพราะผลการวิจัยค้นคว้าเรื่อง กรดดิอ็อกซิไรโบสนิวเคลอิก
(deoxyribose nucleic acid หรือ DNA)

        คริคก์เป็นคนอังกฤษ เกิดที่เมืองนอรแทมตัน (Northampton) เป็นนักฟิสิคส์ ศึกษาจาก University College มหาวิทยาลัยลอนดอน แล้วไปเริ่มทำงานที่ Cavendish Laboratory มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งในปี ค.ศ. 1951
เจมส์ วัตสัน (James Watson, ค.ศ. 1928-) นักสัตววิทยาชาวอเมริกันได้ไปร่วมงานด้วย  ถึงแม้กรดนิวเคลอิก
(nucleic acids) เป็นที่รู้จักกันมา 50 ปีแต่โครงสร้างและหน้าที่ยังไม่เป็นที่ทราบกันดี จน โรสารินด์ แฟรงคลิน
(1920-1958) ซึ่งเป็น xray crystallographer และเพื่อนนักชีวฟิสิคส์ชาวนิวซีแลนด์ชื่อ มอริซ วิลกินส์
(Maurice Wilkins, ค.ศ. 1916-) ได้ถ่ายภาพอณูดีเอ็นเอ และคิดว่า ดีเอ็นเอ เป็นรูปเกลียว (spiral) ระหว่างการประชุม
ที่เมืองเนเปิลส์ เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1951  วัตสันได้เข้าฟังวิลกินส์พูดและเห็นภาพที่วิลกินส์และแฟรงคลิน
ถ่ายและฉายให้ดูบนจอ ทำให้ที่สุดแล้ววัตสันและคริคส์เสนอโครงสร้างดีเอ็นเอเป็นเกลียวคู่ (double helix)
และเป็นวิธีพิมพ์รหัสยีนด้วย ซึ่งถือเป็นการค้นพบที่สำคัญยิ่งในชีววิทยา  เป็นที่น่าเศร้าว่าโรสารินด์ แฟรงคลิน อายุสั้น
เธอเสียชีวิตด้วยมะเร็งรังไข่เมื่อปี ค.ศ. 1958 ขณะอายุได้เพียง 38 ปี ไม่เช่นนั้นเธอคงจะได้รับรางวัลโนเบลร่วมกับ
คริคก์ วัตสันและวิลกินส์ด้วยแน่ !

        ความสำเร็จอื่น ๆ มักจะตามมาหลังความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ คริคก์ทำงานเป็นนักวิจัยที่วิทยาลัยคีส์
มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จน ค.ศ. 1976 จึงย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่สถาบันซอลค์ (Salk)  แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
และเบนความสนใจมาที่ประสาทวิทยาศาสตร์ซึ่งเคยสนใจมาเมื่อยังหนุ่มอยู่ โดยเฉพาะเรื่องความรู้สึกตัว
(consciousness) และจิตวิญญาณ (soul) ซึ่งเขาเขียนเป็นหนังสือชื่อ The Astonishing Hypothesis
หนากว่า 300 หน้า แต่น่าอ่านมาก  คริคก์เป็นนักอเทวนิยม (atheist)  เขาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม
ค.ศ. 2004 สิริอายุได้ 88 ปี สหราชอาณาจักรสูญเสียนักวิจัยผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งประเทศโดยวิทยาลัย สถาบันและองค์กรวิจัย
สำคัญ ๆ ในประเทศได้ร่วมกันตั้งสถาบันฟรานซิสคริคก์  ซึ่งจะเป็นแหล่งสำคัญในการสร้างฐานองค์ความรู้
และการยกระดับสุขภาพของมนุษย์ในโลกในศตวรรษนี้จะได้ใช้ ปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์ทำงานอยู่ประมาณ
1,250 คน  เงินทุนเริ่มต้น 650 ล้านปอนด์ และใช้งบประมาณดำเนินการปีละประมาณ 100 ล้านปอนด์ 
อายุรแพทย์หรือประสาทแพทย์ไทยรุ่นอาวุโสในปัจจุบันเกิดไม่ทัน ฌอง มาแตง ชาโก แต่โชคดีเกิดร่วมสมัยกับคริคก์

        ผู้เขียนยังจำได้จนบัดนี้ว่าในปี ค.ศ. 1966 วันอาทิตย์เช้าวันหนึ่งผู้เขียนขับรถไปเติมน้ำมันที่ “ปั้มป์น้ำมัน”
ปากซอยบ้านพัก ถนนสุขุมวิท พบ ดร.สุเมธ ชุมสาย สถาปนิกชื่อดัง เพื่อนสนิทของน้องชายผู้เขียน วิทยา เวชชาชีวะ
อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำสหรัฐอเมริกา  อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศและศิษย์เก่าวิทยาลัยกอนวิลล์&คีส์
(Gonville & Caius College) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ไปเติมน้ำมันรถเหมือนกัน ก็ทักทายพูดคุยกัน บังเอิญ
ดร.สุเมธมีเพื่อนฝรั่งอยู่ด้วยก็เลยแนะนำให้ผู้เขียนรู้จัก เมื่อได้ยินชื่อ ผู้เขียนก็เลยถามชาวต่างประเทศท่านนั้นว่า
Are you Francis Crick of the double stranded DNA ?  ก็ได้คำตอบกลับมาว่า “I am afraid so !” ผู้เขียนจึงได้
สนทนากับ ดร.สุเมธและอาคันตุกะ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของเขามาเที่ยวเมืองไทยและพักอยู่กับเขา

        นึกไม่ถึงว่าวันนั้นจะโชคดี ได้พบกับ Sir Francis Harry Compton Crick !
 

แนะนำเอกสาร
1)  Gomes MM, Engelhardt E.  (2013).  Jean-Martin Charcot, father of modern neurology: an homage 
     120 years after his death.  Arq Neuropsiquiatr.  71 : 815-817.

2)  The New York Academy of Medicine (1962),  Lectures on the diseases of the nervous system by 
     J.M. Charcot.  Second series.  Translated and edited by G. Sigerson.  Hafner Publishing Company, 
     New York.  399 pages.

3)  Capildeo R.  (1982).  Charcot in the 80s.  In: Historical aspects of the Neurosciences.  A festschrift 
     for Macdonald Critchley.  Eds: FC Rose & WF Bynum.  Raven Press, New York, pp. 383-396.

4)  Pryse-Phillips W.  (1995).  Companion to Clinical Neurology.  First Edition.  Little Brown and 
     Company, Boston, USA.

5)  Merriam Webster’s Medical Dictionary.  (1996).  Springfield, Massachusetts, USA.
     
6)  Crick F. (with Watson JD).  (1953).  Molecular structure of nucleic acids: a structure for deoxyribose 
     nucleic acid.  Nature.  171 : 737-738.

7)  Raju TNK.  (2002).  The Nobel Chronicles.  A handbook of Nobel Prizes in 
     Physiology or Medicine 1901-2000.  1st Books Library.

8)  N Engl J Med.  (2004).  First among Equals – Francis Crick.  351 : 9.

9)  Gonville & Caius College Cambridge.  (2013).  Caius remembers Crick by Professor John Mollon 
     (1996).  Issue 13, Michaelmas.  pp. 2-5.

10) Lancet Comment.  (2012).  Offline: Celebrating the Francis Crick Institute, with questions.  
      379 : 1862.

11) Crick F.  (1994).  The Astonishing Hypothesis.  The Scientific Search for the Soul.  
      Simon & Schuster Ltd.  317 pp.

 

[ back ]