T (ชุดที่ 3) - Thinking & Time

Thinking
   &
Time
 

การคิด
                         'Cogito ergo sum'
                                       ….. René Descartes, 1637

        คำกล่าวอมตะข้างบนนี้เป็นภาษาละติน (อ่าน โค้กิโต้ แอโก้ ซุม) ของเรอเน เดการ์ต (ค.ศ. 1596-1650)
ปราชญ์นักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส  มีความหมายว่า ฉันคิดเพราะฉะนั้นฉันจึงมีอยู่จริง (I think, therefore I am)
ซึ่งเป็นส่วนสำคัญพื้นฐานของปรัชญาตะวันตก เป็นรากฐานของความรู้ทั้งหลายเพราะในขณะที่ความรู้อื่น ๆ อาจเป็น
จินตนาการ (imagination)  เป็นภาพลวง  การสงสัยว่า ผู้คิดมีอยู่จริงหรือไม่หมดปัญหาไปเมื่อผู้นั้นแน่ใจว่านั่นเป็น
ความคิดของตน ตนก็ต้องมีอยู่จริงด้วย !

        เราทุกคนคงเคยได้ยินได้ฟังครูบาอาจารย์ของเราพูดถึง สุ จิ ปุ ลิ  ซึ่ง  สุ (ย่อจาก สุตะ, สุดตะ หรือสุติ
หมายถึง การได้ยินได้ฟัง)  จิ (ย่อจาก จินต หมายถึง คิด)  ปุ จาก ปุจฉาหรือถาม  และ ลิ จาก ลิขิตหรือจด จำ
(สุดแท้แต่บุคคลผู้นั้นถนัด !) ซึ่งเป็นรากฐานของการเรียนรู้

        สิ่งที่แพทย์โดยเฉพาะประสาทแพทย์สนใจเป็นพิเศษก็คือ การคิด (thinking) ของมนุษย์เราเริ่มที่ส่วนไหน
ในสมอง  ทำไมคนบางคนช่างคิดในขณะที่เพื่อนร่วมรุ่นหรือเพื่อนร่วมโลกของเขาไม่ค่อยคิดหรือไม่คิดเอาเสียเลย ! 
เราจะหัดเด็กให้เป็นคนช่างคิดได้หรือไม่  ผู้เขียนจะพยายามตอบคำถาม ที่กล่าวโดยจะเริ่มจากคำถามหลัง ๆ ก่อน
แล้วจะพยายามตอบปัญหาทางประสาทกายวิภาคศาสตร์ (neuroanatomy)

        คนเราเกิดมาไม่เหมือนกัน ยีน ดีเอ็นเอและสมองบางคน เช่นอัจฉริยะอย่างอัลเบิร์ต  ไอน์สไตน์ ผิดกับ
ของคนทั่วไป  ตั้งแต่เด็กวิธีให้การดูแล สั่งสอน ให้เรียนรู้ต้องให้ถูกวิธี  สอนให้เรียนรู้เองตั้งแต่เด็กลองทำ
ผิดแล้วแก้ไข (trial and error)  ชี้แนะให้ศึกษาจากธรรมชาติ กระตุ้นให้เด็กสนใจ อยากรู้อยากเห็น หัดให้อยู่แต่
ลำพังในบรรยากาศที่สงบมีความสำคัญ  นั่นคือให้ความสำคัญในการฝึกจิตพิสัย (affective domain) ควบคู่ไปกับ
ประชานพิสัย (cognitive domain) ในขณะที่พละหรือจุลนพิสัย (psychomotor domain) ก็มีความจำเป็นต้องฝึกฝน
ในผู้ที่ศึกษาดนตรี กีฬา ฯลฯ นักกีฬาอัจฉริยะ เช่น เปเล (Pele)  ลีโอ เมสซี (Lionel Messi) (ฟุตบอล)  หรือ
รอนนี โอซูลลิแวน (Ronnie O’Sullivan) (สนุกเกอร์) ก็คงมียีนและดีเอ็นเอที่พิเศษกว่านักกีฬาอื่น ๆ ในกีฬา
ประเภทเดียวกับเขา  นักดนตรี & นักกีฬาก็ต้องใช้ความคิดแน่แต่คงไม่มากเท่าบุคคลประเภทอื่น เช่น จินตกวี
นักเขียน นักวิทยาศาสตร์ ฯลฯ

        เวลาเราคิด เราจะรู้ตัว (conscious) ถ้าเราคิดขณะหลับก็เท่ากับเราฝันไป  สิ่งที่เราคิดส่วนมากมักจะ
เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราพบเราเห็นหรือเราประสพมา จึงเกี่ยวกับความทรงจำซึ่งในช่วงตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษนี้
(ศตวรรษที่ 21) ความรู้เกี่ยวกับความจำโดยเฉพาะประสาทกายวิภาคมีความก้าวหน้ามาก เวลาเราคิดเรามักจะ
อาศัยความจำเรื่องราว สถานที่ เหตุการณ์และบุคคลต่าง ๆ (semantic memory) ซึ่งใช้สมองกลีบขมับส่วนข้างและ
ล่างทั้งสองด้าน (bilateral infero-lateral temporal lobes) มากกว่าความจำเฉพาะคราว (episodic memory) 
ความจำกรรมวิธีปฏิบัติ (procedural memory) และความจำให้บังเกิดผล (working memory)  นอกจากนี้ถ้าผู้คิด
ตั้งใจ (attentive)  มีสมาธิ (concentration) ก็จะช่วยให้เกิดการสร้างสรรค์ (creativity) ในเรื่องที่คิดอยู่ด้วย 
ในช่วง 40 กว่าปีที่ผ่านมา นอกจากความก้าวหน้าในความรู้ทางประสาทกายวิภาคที่กล่าวมา ความพยายามและ
ผลงานที่ผ่าน ๆ มาที่ควรแก่การศึกษาไว้เป็นพื้นฐานบ้างก็ได้แก่ ผลงานของศาสตราจารย์นายแพทย์ดี แฟรงค์
เบนสัน (D Frank Benson) (1928-1996) ผู้เป็นผู้บุกเบิกงานประสาทวิทยาด้านพฤติกรรม (Behavioral)
และศาสตราจารย์คาร์ล พริบรัม (Karl Pribram) จิตแพทย์และนักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงในโลก  พริบรัมเกิดที่
เมืองเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อ ค.ศ. 1919  ศึกษาที่มหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา ก่อนไปดำรงตำแหน่ง
ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยยอร์ชทาวน์ และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด  ที่จริงพริบรัมเป็นประสาทศัลยแพทย์
(Board Certified !)  ผู้ริเริ่มศึกษาสมองระบบลิมบิกผู้หนึ่ง  และมีภรรยาเป็นนักเขียนอเมริกันที่มีชื่อเสียงมากคือ
แคทรีน เนวิลล์ (Katherine Neville)

        ความก้าวหน้าในปัจจุบันเกี่ยวกับการนึกคิดของคนเน้นไปถึงวิธีถ่ายภาพสมองโดยวิธีพิเศษที่เรียก
diffusion spectrum imaging ที่ทดลองทำกับหนูและคนเช่นที่นายแพทย์แวนเวดีน (van Wedeen) ภาควิชารังสีวิทยา
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ศึกษาอยู่  ดูเหมือนกับว่าขณะที่คนเราคิด ความคิดทั้งหลายวิ่งไปมาใน white matter tracks
เหมือนสัญญาณวิ่งจากส่วนหนึ่งของสมองไปยังอีกส่วนหนึ่งเหมือนรถยนต์ในถนนวิ่งไปมา  นับได้ว่าความรู้ในเรื่อง
ดังกล่าวได้รุดหน้าไปมากจากศตวรรษที่ 17 ที่นายแพทย์โทมัส วิลลิส (Thomas Willis) เป็นผู้ระบุว่าจิตใจมนุษย์
เกิดที่สมอง


แนะนำเอกสารเกี่ยวกับ “การคิด”
1)  Pribram K.  (1959).  On the neurology of thinking.  Behavioral Science.  4 : 265-287.

2)  Benson DF.  (1994).  The Neurology of Thinking.  OUP, Oxford.  USA.  319 pages.
 
3)  Budson AE, Price BH.  (2005).  Memory dysfunction.  N Engl J Med.  352 : 692-699.

4)  The National Geographic.  (2014).  Secrets of the brain.  225 : 28-57. 

 

เวลา
         “We know how dangerous it is to overestimate intuition.  Let us ask a simple question. 
          What is a clock?”
                                                               Einstein and Infeld (1947)


        คำกล่าวข้างบนของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และอินเฟลด์  เมื่อ 67 ปีที่แล้ว คงทำให้พวกเราฉุกคิดเกี่ยวกับ
เรื่องเวลาแน่ !

        Time and tide wait for no man  และไม่มีปัจจุบัน คงมีแต่อดีตและอนาคต !  ที่รู้ ๆ กันอยู่ ยิ่งกระตุ้น
ให้หลายคนคิดเรื่องเวลามากขึ้น

        นาฬิกาไม่ว่าชนิดใดเป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้วัดเวลา (chronometry)  ได้เชิงวัตถุวิสัย (objective)
ซึ่งมีประโยชน์มหาศาลในชีวิตมนุษย์ปัจจุบัน แต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์และแพทย์อยากเรียนรู้อีกมากก็คือ
เวลาภายในร่างกายเรา เพราะทุกคนพอจะทราบแล้วถึงสรีรวิทยาช่วงจังหวะวัน  (circadian rhythm, จากภาษาละติน
circa = ประมาณ, diem = วัน)  และเราเชื่อกันว่า “นาฬิกา” ของร่างกายเราคงจะเป็นกลุ่มเซลล์ประสาทในสมอง
แต่ความรู้ใหม่ทางประสาทสรีรวิทยาชี้ว่าเซลล์ทุกเซลล์ของร่างกายมี “นาฬิกา” ประจำตัว  ผลงานจากกลุ่มวิจัย
ในเรื่องนี้ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร  นำโดย นายแพทย์ ดร. อคีเลช เรดดี (Akhilesh Reddy)
ถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญที่จะเป็นกุญแจ ไม่เฉพาะในการศึกษาเมตะบอลิสม์ภายในเซลล์ในโรคนานาชนิด
แต่อาจเฉลยคำตอบว่าทำไมเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายเราจึงมีนาฬิกาของตน !

        แพทย์และนักศึกษาที่สนใจเรื่องนี้อาจหาความรู้เพิ่มเติมได้จากเอกสารอ้างอิงที่ผู้เขียนแนะนำ
ในขณะที่ผู้อ่านที่เหนื่อยล้าจากงานแล้ว  และอาจจะสนุกสนาน เพลิดเพลินได้กับภาพยนตร์เรื่อง  About Time
(เกี่ยวกับเวลา หรือได้เวลาแล้ว) ที่นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เพิ่งวิจารณ์ใน “ดูหนังหาความหมาย”
ในนิตยสารหมอชาวบ้านได้ โดยเฉพาะผู้ที่ติดใจภาพยนตร์เรื่อง Love Actually & Notting Hill ในอดีตเพราะ
ผู้สร้างภาพยนตร์คนเดียวกัน !


แนะนำเอกสาร
1)  Gooddy W.  (1958).  Time and the nervous system.  The Brain as a clock.  Lancet. 
      271 : 1139-1144.

2)  Wikipedia.  (2014).  Akhilesh Reddy MDPhD.
 
3)  Lancet Comment.  (2014).  Biomedicine: a word of two halves.  Geoff Watts.  383 : 2-3.

4)  สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์.  (2557).  ดูหนังหาความหมาย / เวลาคืออะไร.  หมอชาวบ้าน.  35 : 78-80. 
    

 

 

 

[ back ]