O (ชุดที่ 3) - Olfaction & Odour

Olfaction & Odour


        การได้กลิ่น (olfaction หรือ olfactory perception) ถึงแม้จะมีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของชีวิตมนุษย์
น้อยกว่าการมองเห็น (vision) หรือการได้ยิน (hearing)  แต่คุณภาพชีวิตด้อยลงหากการรับรู้กลิ่นนั้นเสียไป
เราทราบดีเมื่อเราเป็นหวัด คัดจมูก บางครั้งทำให้เราไม่ได้กลิ่นอาหารที่เรากิน รสชาติก็ดูจะแปร่ง ๆ ไปจนอาหารนั้น
ก็ไม่อร่อยอย่างที่คิด !  เมื่อไม่นานมานี้ได้มีผู้ศึกษาที่สหรัฐอเมริกา พบว่าชาวอเมริกันถึงร้อยละ 1.4 เสียการรับรู้
กลิ่นเรื้อรังและร้อยละ 0.6 ไม่รู้รส แพทย์จึงควรให้ความสำคัญกับการซักถามประวัติและตรวจการได้กลิ่นและ
การรู้รสของผู้ป่วยอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะถ้าประวัติผู้ป่วยชี้บ่งในเรื่องนี้

        การไม่ได้กลิ่นจากจมูกข้างเดียว (unilateral anosmia) อาจเป็นผลจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ (head injury)
หรือจากเนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง - olfactory groove meningioma - แต่ก่อนจะทึกทักว่าเป็นเช่นนั้นต้องไม่ลืมว่า
ในคนปกติร้อยละ 80 รูจมูกเปิดทีละข้างสลับกัน (nasal cycle) ซึ่งแพทย์มักไม่ค่อยทราบกัน !

        การตรวจการรับรู้กลิ่นในผู้สูงอายุมีความสำคัญ เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคสมองเสื่อมจากโรคอัลซ์ไฮเมอร์
(Alzheimer’s disease) และที่เป็นโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) มักจะได้กลิ่นน้อยลงหรือไม่รับรู้กลิ่นเลยได้
ตั้งแต่เริ่มเป็นโรคทั้งสองที่กล่าว  และเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีผู้รายงานว่าผู้ป่วยที่มีแรงดันน้ำหล่อสมองไขสันหลังสูง
ไม่ทราบสาเหตุ (idiopathic intracranial hypertension) การรับรู้กลิ่นเสียเช่นกัน

        เป็นที่ทราบกันดีว่า ในคนและในสัตว์หลายประเภทเซลล์ประสาทที่รับรู้กลิ่นสื่อติดต่อโดยตรงกับสมอง
ระบบลิมบิค (limbic system) ที่ควบคุมพฤติกรรมและอารมณ์  ทั้งคนและสัตว์รับรู้ว่าร่างกายของตนมีกลิ่น
ที่ขับออกมาทางเหงื่อ ลมหายใจ และในปัสสาวะ  เราทราบดีว่าอาหารบางชนิด เช่น หอม กระเทียม
และสะตอ เป็นต้น เมื่อกินแล้วทำให้กลิ่นตัวมากขึ้น  มีโรคชนิดหนึ่งที่กลิ่นตัวเหม็นคล้ายกลิ่นปลาเน่า
(Primary trimethylaminuria) ซึ่งศาสตราจารย์ ดร. อำนวย ถิฐาพันธ์ จากคณะวิทยาศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งในโลกเกี่ยวกับเรื่องนี้  โรคนี้เป็นโรคทางพันธุกรรม
ที่ถ่ายทอดแบบทายกรรมลักษณะด้อย (autosomal recessive) ยีน FMO3 ไม่ทำงาน ตับของคนที่เป็นโรคนี้เปลี่ยน trimethylamine (TMA) เป็น TMA-Oxidase (TMA-O) ไม่ได้เพราะขาดเอนไซม์ที่มีเฟลวีนหรือ flavin-containing
monooxygenase, FMO3 ที่ตับ  TMA ซึ่งจุลินทรีย์ผลิตจากการย่อยอาหารในลำไส้ทั้งเล็กและใหญ่ เป็นตัวที่มี
กลิ่นเหม็นมาก ในขณะที่ TMA-O ซึ่งละลายน้ำได้ ไม่มีกลิ่นเหม็น

        กลิ่นตัวของคนปกติทั้งชายและหญิงมีความสำคัญ ในสัตว์เป็นสื่อสำคัญต่อการเลือกคู่  ในกลางคริสต์ศตวรรษ
ที่ผ่าน (ค.ศ. 1950-9) มีผู้ใช้คำฟีโรโมน (pheromone) เรียกสารประเภทที่สัตว์ผลิตแล้วมีปฏิกิริยาโดยจำเพาะ
ต่อสัตว์ประเภทเดียวกันตัวอื่น ๆ ในเรื่องดังกล่าว และ 20 ปีให้หลังการศึกษาในคนจากกลิ่นตัวบริเวณรักแร้
(axillary odour) ที่ได้จากเสื้อยืด (T-shirts) ที่สวมใส่อยู่ติด ๆ กันหลายวันของชายมีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนเพศ
ในหญิง  และก็มีผู้พบว่ากลิ่นตัวนั้นของชายกระตุ้น ventromedial hypothalamus (VMH) ของผู้หญิง  แต่ไม่มีผลต่อ
VMH ของชายด้วยกัน ซึ่ง VMH เป็นส่วนของสมองที่เกี่ยวกับการร่วมเพศ

        กลิ่นตัวคนยังขึ้นอยู่กับกลุ่มยีนที่เรียก Major Histocompatibility Complex หรือ MHC   MHC เป็นส่วนหนึ่ง
ของระบบภูมิคุ้มกันซึ่งในบุคคลแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน แต่ญาติพี่น้องจะมียีนบางตัวในกลุ่มคล้ายกันมากกว่าคนอื่น 
จากการศึกษาในหนูทดลองที่เคยพบว่าหนูจะเลือกผสมพันธุ์กับตัวที่มี MHC ต่างกัน แล้วมาศึกษาในคนพบว่าผู้ที่มี
ยีน MHC คล้ายกันเลือกใช้น้ำหอมที่มีกลิ่นเดียวกันมากกว่ากลิ่นอื่น !  และได้มีการศึกษาต่อถึงขนาดที่พบว่า
ผู้ที่มียีน HLA-A1 จะไม่ชอบน้ำหอมที่มีกลิ่นไขจากลำไส้วาฬ (ambergris) และกลิ่นชะมดเชียง (musk)
แต่ผู้ที่มียีน HLA-A2 กลับชอบกลิ่นทั้งสองนั้น !  คนเราจำกลิ่นตัวของตนเองได้  เด็กทารกจำกลิ่นแม่ได้ 
แม่ก็จำกลิ่นลูกของตนได้  คนชอบกลิ่นรักแร้ของผู้ที่มียีน MHC ต่างจากของตัวเอง และผู้หญิงจำกลิ่นตัวได้ดีกว่า
ผู้ชายมาก


แนะนำเอกสาร
1)  Hawkes CH.  (2002).  Smell and taste complaints.  Butterworth Heinmann, Elsevier Science, USA. 
     209 pp.

2)  Harvey P.  (2006).  Anosmia.  Practical Neurology.  6 : 65.

3)  Hawkes CH, Shah M.  (2006).  Practical Neurology.  6 : 200.

4)  Westermann B, Wattendorf E, Schwerdtfeger U, et al.  (2008).  Functional imaging of  the cerebral 
     olfactory system in patients with Parkinson’s disease.  J Neurol Neurosurg Psychiatry.  79 : 19-24.

5)  Kunte H, Schmidt F, Kronenberg G, et al. (2013).  Olfactory dysfunction in patients with idiopathic 
     intracranial hypertension.  Neurology.  81 : 379-382.

6)  Thithapandha A.  (1997).  A pharmacogenetic study of trimethylaminuria in orientals.  
     Pharmacogenetics.  7 : 497-501. 

7)  The Economist (1999): Science and technology.  Hook, line and stinker.  April 15th.

8)  Comfort A.  (1971).  Likelihood of human pheromones.  Nature.  230 : 432-433.

9)  Bhutta MF.  (2007).  Sex and the nose: human pheromonal responses.  J R Soc Med.
     100 : 268-274.

10) Wedekind C, Penn D.  (2000).  MHC genes, body odour and odour preferences.  
      Nephrol Dial Transplant.  15 : 1269-1271.
     

 

 

 

[ back ]