H (ชุดที่ 3) - Haemorrhoids

Haemorrhoids


        มีผู้กล่าวไว้ว่า ถ้ามนุษย์เราไม่ยืนและเดินสองเท้าก็จะไม่เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากสองโรคคือ
โรคปวดหลังจากหมอนรองกระดูกเคลื่อนและโรคริดสีดวงทวาร !

        ในคนอายุ 30 ปีขึ้นไป ชายและหญิงรวมกันประมาณร้อยละ 50 มีโรคริดสีดวงทวาร ถึงแม้ส่วนมาก
โรคจะไม่รุนแรงจนถึงขั้นต้องรับการผ่าตัดแต่ก็มีอาการที่น่ารำคาญที่ควรพบศัลยแพทย์ และอายุรแพทย์ก็ควรทราบ
เกี่ยวกับโรคนี้ไว้บ้าง

        ริดสีดวงทวารเกิดจากหลอดเลือดดำที่ทวารหนักมีเลือดคั่ง หลอดเลือดขอด ถ้าอยู่ที่รูทวารและเจ็บ
มีเลือดออกมองเห็นได้เป็นชนิดข้างนอก (external piles)  ถ้าเป็นที่อยู่ข้างใน (internal) จะไม่รู้สึกเจ็บถึงจะมี
เลือดออกเวลาถ่ายอุจจาระ  เส้นแบ่งที่สำคัญคือ เพคทิเนทไลน์ (pectinate line)  สิ่งสำคัญที่อายุรแพทย์ควรแนะนำ
ผู้ป่วยได้ก็คือ การดื่มน้ำให้เพียงพอ กินอาหารที่มีกากมาก อย่าให้ท้องผูกโดยเฉพาะในหญิงที่มีครรภ์
และที่ควรทราบอีกด้วยก็คือ พยายามเลี่ยงการนั่งที่โถส้วมนาน ๆ อ่านหนังสือพิมพ์ มีผู้เคยทำวิจัยลงตีพิมพ์
ในวารสาร The Lancet เมื่อเกือบ 30 ปีมาแล้วพบว่า การเบ่งอุจจาระขณะอ่านหนังสือเพลินเป็นสาเหตุที่สำคัญ
อย่างหนึ่ง !

        ความรู้เรื่องริดสีดวงทวารโดยเฉพาะวิธีการรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบันเริ่มเมื่อประมาณไม่ถึง 70 ปี
มาแล้ว  เวลาไล่เลี่ยกับการเกิดมีอายุรแพทย์ทางโรคทางเดินอาหารและทางโรคตับ  ทางศัลยกรรมก็มีศัลยแพทย์
โรคลำไส้ใหญ่และทวารหนักเกิดขึ้น  ผู้เขียนโชคดีที่โดยบังเอิญขณะเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นคลินิก รู้จักสนิทสนมกับ
ศัลยแพทย์หนุ่มที่เป็นครูผู้คิดค้นการผ่าตัดรักษาริดสีดวงทวารด้วยวิธี submucous resection ชื่อ อลัน พาร์คส์
(Alan Parks) ซึ่งต่อมามีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ได้รับพระราชทานจากพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 2
พระราชินีอังกฤษ เป็นเซอร์อลัน พาร์คส์  ครูแพทย์ผู้นี้มีประวัติการศึกษาที่เด่น  พาร์คส์เป็นชาวอังกฤษ
สำเร็จปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แล้วสอบชิงทุนได้เป็น Rhodes scholar ไปศึกษาแพทยศาสตร์
ที่มหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอบกินส์ (Johns Hopkins) ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อจบและฝึกงานบ้างก็กลับไปทำงานที่กายส์
สอบได้ MRCP ก่อนจบ FRCS ด้วยซ้ำ  ผู้เขียนขณะเป็นนักศึกษาแพทย์อยู่เวรทางศัลยกรรมกับเพื่อนอีก 2-3 คน
จำได้ว่าต้องผลัดกันทำ อาหารค่ำ (supper) ยังเคยทำก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ๊วเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อน ๆ และครูผู้นี้
และยังจำได้ว่ามีผู้ป่วยที่ฉุกเฉินต้องทำ electrocardiogram (ECG) หาคนอ่านไม่ได้  อลัน พาร์คส์ เห็น ECG
ชั่วอึดใจเดียวก็บอกว่ามี Wenckebach phenomenon หรือ 2° AV block !  หลังจากอยู่ที่กายส์ไม่กี่ปี อลัน พาร์คส์
ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นศัลยแพทย์ที่ปรึกษา (consultant surgeon) ประจำโรงพยาบาลเซนต์บาร์โธโลมิวส์ ซึ่งเป็น
โรงเรียนแพทย์ที่เก่าแก่มีชื่อไม่แพ้กายส์  อีกทั้งยังได้รับการแต่งตั้งเป็นศัลยแพทย์ที่ปรึกษาที่โรงพยาบาล
เซนต์มาร์คส์ ซึ่งเป็นสถาบันแพทย์เฉพาะทางสำหรับศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่มีชื่อเสียงของอังกฤษ 
น่าเสียดายที่เซอร์อลัน พาร์คส์ อายุสั้น เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจฉับพลันขณะพักร้อนที่อิตาลี  ระหว่างดำรงตำแหน่ง
นายกราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งอังกฤษ เมื่อ ค.ศ. 1982  เมื่ออายุได้ 62 ปี


แนะนำเอกสาร
1)  Sir Alan Guyatt Parks (1920-1982).  Wikipedia.

2)  Dehn TCB, Kettlewell MGW.  (1989).  Haemorrhoids and defaecatory habits.  Lancet.  333 : 54-55.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

[ back ]