C (ชุดที่ 3) - Cough (cough syncope, cough headache)

Cough
(Cough) syncope, epilepsy and headache


        อาการไอแท้ที่จริงแล้วเป็นกลไกป้องกันภัยอย่างหนึ่งของมนุษย์ เป็นรีเฟล็กซ์ (reflex) หรือ 
ปราวัตต์จากสาร (particulate matter) ไม่ว่าจะเป็นสิ่งภายนอกในอากาศหรือน้ำมูกจากเยื่อบุ หรือสารเคมีกระตุ้น
ตัวรับปลายประสาทที่เยื่อบุทางเดินหายใจ  อาการไอที่เกิดขึ้นเฉียบพลันไม่ว่าในเด็กหรือผู้ใหญ่ส่วนใหญ่เกิด
จากหวัด เยื่อบุจมูกและโพรงกระดูกข้างจมูกอักเสบ จากโรคภูมิแพ้ จากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไอกรน
ส่วนไอเรื้อรังเกิน 8 สัปดาห์เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในเวชปฏิบัติ การเข้าถึงปัญหานี้อย่างเป็นระบบ
แพทย์สามารถวินิจฉัยสาเหตุได้ในผู้ป่วยเกือบร้อยละ 90 และรักษาได้ผลดีในเกือบร้อยละ 90 เช่นกัน 
ในผู้ป่วยที่ระบบภูมิคุ้มกันปกติ สาเหตุการไอเรื้อรังในผู้ป่วยร้อยละ 95 เกิดจากน้ำมูกไหลลงคอ (post-nasal drip)
จากโรคกรดย้อนรอย (gastro-oesophageal reflux disease, GERD)  หลอดลมอักเสบเรื้อรังจากการสูบบุหรี่ 
โรคหอบหืด  โรคหลอดลมพอง (bronchiectasis) หรือจากยายับยั้งเอนไซม์เปลี่ยนแอนจิโอเทนสิน
(angiotensin converting enzyme inhibitor, ACEI) ในผู้ป่วยที่เหลือร้อยละ 5 มะเร็งปอดเป็นสาเหตุที่สำคัญ
ที่อายุรแพทย์ควรทราบก็คือสาเหตุทางระบบประสาทอย่างหนึ่งที่พบได้น้อยมาก ได้แก่ ประสาทอิสระเสื่อม
(autonomic neuropathy) เช่นที่เคยมีรายงานไว้ร่วมกับกลุ่มอาการโฮล์มส์-เอดี (Holmes-Adie syndrome)
เป็นครั้งแรกโดยศาสตราจารย์นายแพทย์คริสโตเฟอร์ แมทไทส์ และคณะจากลอนดอน เชื่อว่าอาการไอเกิดจาก
ปลายเส้นประสาทรับรู้ที่ปอด ท่อลม (trachea) และกล่องเสียง (larynx) เสื่อม ทำให้เซลล์ประสาทรับรู้ที่สอง
(second sensory neuron) ที่นิวเคลียสโสริตาเรียสไวเกิน (denervation hypersensitivity) ที่สำคัญในทางปฏิบัติ
ก็คือ ผู้ป่วยด้วยสาเหตุนี้ถ้าไอแล้วมักจะเป็นลม หมดสติ (syncope) ซึ่งถ้าแพทย์ไม่ทราบ ไม่ได้ตรวจดูม่านตาดำ
ว่าไม่เท่ากัน (anisocoria) และหน้าผากแห้งผิดปกติไม่มีเหงื่อ (anhydrosis) อาจจะไปเสียเวลาตรวจพิเศษ
เพิ่มเติมโดยไม่จำเป็นได้

        อาการเป็นลม หมดสติจากอาการไอเป็นที่รู้จักกันมานานแล้ว ฌอง มาแตง ชาโก ปรมาจารย์และ
ศาสตราจารย์ทางประสาทวิทยาคนแรกในโลกชาวฝรั่งเศสรายงานผู้ป่วย 2 รายเมื่อ ค.ศ. 1876 หลังจากนั้นก็มี
ผู้รายงานประปรายเรื่อยมา  ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชาย สูบบุหรี่และมีโรคถุงลมปอดโป่ง มีเป็นส่วนน้อยที่ผู้ป่วยหมดสติ
ชักกระตุก ที่เรียกกันว่า ลมชักกล่องเสียง (laryngeal epilepsy)

        อาการปวดศีรษะเหตุไอ (cough headache) เป็นเรื่องน่าสนใจอีกเรื่องที่ควรทราบ  แพทย์ส่วนมาก
ที่รักษาผู้ป่วยปวดศีรษะจะให้ความสนใจในเรื่องนี้เป็นพิเศษเพราะเกรงว่าผู้ป่วยอาจมีเนื้องอกที่สมอง 
เซอร์ ชาร์ลส์ สัยมอนดส์ (Sir Charles Symonds) ปรมาจารย์ทางประสาทวิทยาชาวอังกฤษ  ที่ประสาทแพทย์ทั่วโลก
รู้จักชื่อเสียงดีเมื่อเกือบ 60 ปีมาแล้วเคยเขียนบทวิจัยทางเวชกรรมเสนอประวัติผู้ป่วย 6 รายที่มีอาการปวดศีรษะ
เวลาไอจากมีเนื้องอกในสมองและโรคอื่น ๆ ที่ศีรษะ เช่น basilar impression) จากโรคแพเจ็ต (Paget’s disease)
ร่วมกับผู้ป่วยอีก 21 รายที่มีปวดศีรษะเหตุไอโดย ไม่มีโรคร้ายแรงอะไร (Primary cough headache) เกิดจาก
มีการดึงรั้ง (stretch) เส้นประสาทที่กะโหลกแอ่งหลัง (posterior fossa)  ผู้ป่วย 18 ใน 21 รายเป็นชาย
อายุอยู่ระหว่าง 37 ถึง 77 ปี  อายุเฉลี่ย 55 ปี สำหรับการรักษาอาการปวดดังกล่าว ศาสตราจารย์นายแพทย์โกดสบี
(Goadsby)  และคณะใช้ยาอินโดเมทาซินวันละ 25-150 มิลลิกรัม  ในบางรายอาจใช้ถึงขนาดวันละ 250 มิลลิกรัม
จึงจะได้ผลโดยใช้ยายับยั้งโปรตอนปั๊ม (Proton pump inhibitor) ด้วย  อินโดเมทาซินอาจช่วยลดแรงดันใน
กะโหลกศีรษะโดยนายแพทย์ราสกิน (Raskin) ได้เคยรายงานมาก่อนว่าการเจาะเอาน้ำหล่อไขสันหลังออก
ช่วยบรรเทาปวดหรือในผู้ป่วยบางรายทำให้หายปวดศีรษะ
 

แนะนำเอกสาร
1)  Irwin RS, Madison JM.  (2000).  The Diagnosis and Treatment of cough.  N Eng J Med. 
     343 : 1715-1722.

2)  Chung KF, Pavord ID.  (2008).  Chronic Cough 1.  Prevalence, pathogenesis, and causes of chronic 
     cough.  Lancet.  371 : 1364-1374.

3)  Ford PA, Barnes PA, Usmani OS.  (2007).  Chronic cough and Holmes-Adie syndrome.  Lancet. 
     369 : 342.

4)  Kimber J, Mitchell D, Mathias CJ.  (1998).  Chronic cough in the Holmes-Adie syndrome: 
     association in five cases with autonomic dysfunction.  J Neurol Neurosurg Psychiatry.  65 : 583-586.
 
5)  Whitty CWM.  (1943).  On the so-called laryngeal epilepsy.  Brain.  66 : 43-54.

6)  Rook AF.  (1946).  Coughing and unconsciousness.  The so-called laryngeal epilepsy.  Brain. 
     69 : 138-148.

7)  Symonds, Sir Charles.  (1956).  Cough headache.  Brain.  79 : 557-568.

8)  Boes CJ, Matharu MS, Goadsby PJ.  (2002).  Benign cough headache.  Cephalalgia.  22 : 772-779.

9)  Raskin NH.  (1995).  The cough headache syndrome.  Treatment.  Neurology.  45 : 1784.

10) Lance JW, Goadsby PJ.  (2005).  Mechanism and management of headache.  Seventh Edition. 
      Pensylvania: Elsevier. Butterworth Heinemann.  pp. 255-258.

 

 

[ back ]