X (ชุดที่ 2) - Xanthoastrocytoma

Xanthoastrocytoma
brain tumour


        แอสโทรไซโทมาสีเหลืองหลากรูป (pleomorphic xanthoastrocytoma, PXA) เป็นเนื้องอกที่
ประสาทส่วนกลางที่หายากเพิ่งเป็นที่รู้จักกันเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1979  และองค์การอนามัยโลกเพิ่งเพิ่ม
เนื้องอกชนิดนี้ในสารบบเมื่อปี ค.ศ. 1993  ทั้งนี้เป็นอานิสงส์จากความก้าวหน้าทางอิมมูโนเคมีถึงแม้ PXA
มีลักษณะคล้ายจะเป็นเนื้อร้ายแต่กลับไม่เป็นเช่นนั้นโดยผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ร้อยละ 75 มีชีวิตอยู่ได้ 5 ปี  
PXA พบในเด็กหรือคนหนุ่มสาวโดยผู้ป่วยร้อยละ 70 มีอายุน้อยกว่า 30 ปี  อาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์คือ
อาการลมชัก ปวดศีรษะและบางรายมีประสาทบกพร่องรวมเฉพาะที่ (focal neurological deficit)  การศึกษา
จากการถ่ายภาพพบว่า PXA เป็นเนื้องอกสมองที่อยู่ตื้นและส่วนใหญ่เป็นที่สมองกลีบขมับ (temporal lobe)
แต่ที่กลีบอื่นก็พบได้เสมอ ๆ เนื้องอกมีลักษณะคล้ายถุงน้ำ (cyst) ปะปนกับก้อนแข็งที่เวลาถ่ายภาพเห็นเด่นชัด
หลังการฉีดสารทึบรังสี (contrast material) ทางเลือกที่ดีในการรักษาเนื้องอก PXA คือ ศัลยกรรม และปัจจุบัน
การรักษาด้วยรังสีและเคมีบำบัดยังไม่ให้ผลที่แน่ชัด  เมื่อเร็ว ๆ นี้มีรายงาน PXA เกิดที่ในกระโหลกศีรษะแอ่งหลัง
(posterior fossa)  ในสันหลัง (spine) และพบร่วมกับเนื้องอกอื่น เช่น นิวโรไฟโบรมาโตสิสชนิดที่ 1
(neurofibromatosis type I)  โอลิโกเดนโดรไกลโอมา (oligodendroglioma) และแม้แต่คอร์ติคัลดิสเพลเซีย
(cortical dysplasia)

        PXA ได้รับการจัดโดยองค์การอนามัยโลกให้เป็นเนื้องอกเกรดที่ 2 แต่การแปรรูปเป็นเนื้อร้าย
(anaplastic transformation) พบได้ถึงร้อยละ 20

        ผู้เขียนขอย้อนกลับไปพูดถึงเนื้องอกสมองโดยทั่ว ๆ ไป ซึ่งในเรื่องนี้ที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป
การศึกษาเนื้องอกสมองเริ่มจากการศึกษาของประสาทศัลยแพทย์และประสาทพยาธิแพทย์ ที่เป็นที่ยอมรับ
โดยถ้วนหน้าก็คือ ผลงานของนายแพทย์ฮาร์วีย์ คุชชิง (Harvey Cushing, 1869-1939) เจ้าของกลุ่มอาการคุชชิง
(Cushing’s syndrome) ที่รู้จักกันดี ร่วมกับศิษย์คือ นายแพทย์เพอซิวัล เบลีย์ (Percival Bailey, 1892-1973)
ประสาทศัลยแพทย์และประสาทพยาธิแพทย์จากโรงพยาบาลปีเตอร์เบนท์ บริกแฮม (Peter Bent Brigham Hospital)
ที่บอสตัน (Boston) สหรัฐอเมริกา  ที่ยุโรปก็มีศาสตราจารย์เฮอร์เบิร์ต โอลิวโครนา (Herbert Olivecrona,
1891-1980) ประสาทศัลยแพทย์ชาวสวีเดน  ต่อมาประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้าใครมีศาสตราจารย์นายแพทย์
สำรวย ช่วงโชติ ประสาทพยาธิแพทย์จากจุฬาลงกรณ์  งานเหล่านั้นเสนอสถิติจำแนกเนื้องอกสมองชนิดต่าง ๆ
ตามลักษณะพยาธิสภาพ  ปัจจุบันมีการศึกษาทางวิทยาการระบาดถึงอุบัติการเนื้องอกสมองชนิดต่าง ๆ
ที่สหราชอาณาจักร อาศัยการถ่ายภาพโดย CT (computerized tomography) และ MRI (magnetic resonance
imaging) ที่ 2 จังหวัดทางภาคตะวันตกเฉียงใต้คือ เดวอน (Devon) และคอร์นวอลล์ (Cornwall) จากผู้ป่วย   
ในระยะเวลา 5 ปี ถึง 16,923 ราย พบปกติร้อยละ 52 (8,774 ราย) เป็นเนื้องอกสมองปฐมภูมิ 2,483 ราย 
ส่วน 861 รายเป็นเนื้องอกสมองที่มาจากส่วนอื่นของร่างกาย (metastases) คือ อุบัติการเนื้องอกที่สมอง
ประมาณ 21 ต่อ 1 แสนรายต่อปีหรือประมาณ 1 ใน 5,000 ราย  ตัวเลขเหล่านี้มีประโยชน์ ถ้าอุบัติการในคนไทย
คล้ายคนอังกฤษปีหนึ่ง ๆ ในประเทศเราในอำเภอที่มีประชากรหนึ่งแสนคนก็คงจะมีผู้ป่วยด้วยเนื้องอกที่สมอง
ประมาณ 20 คน !  ถ้าเรามีเมืองใหญ่ 5 แสนคนอุบัติการเนื้องอกสมองต่อปีจะมีประมาณ 100 ราย
โดยในจำนวนนั้นร้อยละ 25 จะเป็นเนื้อร้ายจากที่อื่น  ที่เหลือเป็นเนื้องอกสมองปฐมภูมิที่จำเป็นต้องใช้การตรวจ
ด้วย CT หรือ MRI เพราะรักษาหายขาดได้ เช่น เนื้องอกเมนินจิโอมา (meningioma) หรือเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง
(pituitary gland) ซึ่งบางชนิดใช้ยารักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด ได้ผลดีมาก  ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาอุบัติการมะเร็ง
ปุ่มน้ำเหลืองที่ระบบประสาทปฐมภูมิ (primary central nervous system lymphoma) ก็ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้น 
เนื้องอกสมองจึงเป็นเรื่องที่อายุรแพทย์หรือแพทย์ทั่วไปควรทราบ


แนะนำเอกสาร
1)  Lucato LT.  (2013).  Clinical, histological and imaging aspects of pleomorphic xanthoastrocytomas: 
     the key is in the name.  Arq Neuropsiquiatr.  71 : 3-4.

2)  Goncalves VT, Reis F, de Souza Queiroz L, et al.  (2013).  Pleomorphic xanthoastrocytoma: 
     magnetic resonance imaging findings in a series of cases with histopathological confirmation.  
     Arq Neuropsiquiatr.  71 : 35-39.

3)  Wikipedia.  (2013).  Harvey Cushing and Percival Bailey.
 
4)  Collins VP.  (2004).  Brain tumours: classification and genes.  J Neurol Neurosurg Psychiatry. 
     75 (Suppl 11) : ?2- ?11.

5)  Read T-A, Hegedus B, Wechsler-Reya R, Gutmann DH.  (2006).  The neurobiology of neurooncology. 
     Ann Neurol.  60 : 3-11.

6)  Louis DN, Ohgaki H, Wiestler OD, et al.  (2007).  The WHO 2007 Classification of tumours
     of the central nervous system.  Acta Neuropathol.  114 : 97-109.

7)  Pobereskin LH, Chadduck JB.  (2000).  Incidence of brain tumours in two English counties:
     a population based study.  J Neurol Neurosurg Psychiatry.  69 : 464-471.  

 

 

[ back ]