V (ชุดที่ 2) - Vagus Nerve

Vagus Nerve
Nerve stimulation for the treatment of epilepsy


        ในบรรดาเส้นประสาทสมอง (cranial nerves) 12 คู่  เส้นประสาทเวกัส (คู่ที่ 10) เป็นเส้นที่ยาวที่สุด
รับรู้ สั่งการและควบคุมการทำงานของส่วนต่าง ๆ ของร่างกายตั้งแต่กล้ามเนื้อลายที่คอและกล้ามเนื้อกล่องเสียง
กล้ามเนื้อหัวใจ ระบบหายใจและระบบทางเดินอาหารเป็นส่วนใหญ่ด้วย  สมกับชื่อ vagus ที่มาจากภาษาละตินซึ่ง
แปลว่า เร่ร่อน เดินไปมาหรือออกนอกทาง !  ใยประสาทเวกัสมีจำนวนมากที่สุด คละกัน ทั้งรับรู้ (sensory)
จากกาย (somatic) บริเวณหลังใบหูและรูหู ควบคุมสั่งการกล้ามเนื้อลายในลำคอ เพดาน ลิ้นไก่และหลอดเสียง 
นอกจากนี้ยังมีประสาทพาราซิมพาเทติก (parasympathetic nerve fibres) ควบคุมการเต้นของหัวใจ ระบบหายใจ
กระเพาะ ลำไส้เล็กและใหญ่ (สิ้นสุดที่ส่วนขวางหรือ transverse colon) และมีใยประสาทไปควบคุมการทำงาน
ของไตด้วย

        โรคลมชักเป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์  ปัจจุบันเชื่อว่าผู้ป่วยลมชักในโลกมีประมาณ 5 ถึง 10 ราย
ต่อประชากรหนึ่งพันคน  มนุษย์ได้พยายามลองใช้สิ่งต่าง ๆ กันชักมาตลอดแต่ไม่ได้ผลจน ค.ศ. 1857
เซอร์ชาร์ลส์ โลคอคก์ (Sir Charles Locock) รายงานผลการใช้โบรไมด์ได้ผลดีต่อที่ประชุม ราชสมาคมอายุรแพทย์
และศัลยแพทย์แห่งลอนดอน (Royal Medical and Chirurgical Society of London)  จากนั้นก็มีวิวัฒนาการเรื่อง
ยากันชักมาตลอดโดยฮอบ์มันน์ จากเยอรมัน นำฟีโนบาร์บิโทน (phenobarbitone) มาใช้ในปี ค.ศ. 1912 
ฮุสตัน เมอร์ริตต์ (Houston Merritt) และพัทแนม (Putnam) จากสหรัฐอเมริกา ค้นพบไดเฟนิลฮายแดนโทอิน
(diphenylhydantoin) ในปี ค.ศ. 1938 ตามด้วยการนำยาพริมิโดน (Primidone) และคาร์บามาเซพิน
(carbamazepine) ปี 1954  เอโทสัคซิไมด์ (Ethosuximide) ปี 1960  ไดอาซิแพม (Diazepam) ปี 1968
และยาอื่น ๆ อีกที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน  ที่น่าสนใจก็คือ ยาที่นำมาใช้เกือบ 100 ปีที่ผ่านมายังคงใช้กันอยู่
แต่ผู้ป่วยลมชักที่ดื้อยาตั้งแต่เด็กยังมีถึงร้อยละ 20-25 ! จึงไม่แปลกที่มีการเปลี่ยนกระบวนทัศน์
(paradigm shift) ด้านการรักษามาเป็นการใช้การกระตุ้นประสาทในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้ โดยการกระตุ้น
เซลล์ประสาทในสมองส่วนลึก (deep brain stimulation หรือ DBS) กระตุ้นเส้นประสาทเวกัสข้างซ้ายโดย
วางตัวกระตุ้นไฟฟ้าขนาด 0.25 ถึง 3.5 มิลลิแอมแปร์ ใต้ผิวหนังที่คอพบว่า ร้อยละ 50 ของผู้ป่วยที่ดื้อยากันชัก
มีอาการชักน้อยลงประมาณครึ่งหนึ่ง  วิธีนี้ยังใช้ได้ผลในผู้ป่วยที่มีอารมณ์ซึมเศร้าเรื้อรังและไม่ตอบสนองต่อยา
การกระตุ้นประสาทเวกัสรักษาลมชักทั้งเด็กและผู้ใหญ่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก ในประเทศไทยเท่าที่ผู้เขียนทราบ
ก็มีพันเอกนายแพทย์โยธิน ชินวลัญช์ ประสาทแพทย์ และพันเอกนายแพทย์ชาครินทร์ ณ บางช้าง
กุมารประสาทแพทย์ จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฏเกล้า ได้เริ่มรักษาผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่อย่างต่อเนื่อง
มาเกือบ 10 ปีแล้ว  ในผู้ป่วยเด็กมักจะใช้อาหารที่สร้างคีโทน (ketogenic diet) เช่นไขมันร่วมด้วย
ซึ่งประสาทแพทย์และแพทย์ผู้สนใจควรติดต่อสอบถามจากอาจารย์แพทย์ทั้งสองได้  ปัจจุบันความสนใจ
ได้เริ่มเปลี่ยนจากการกระตุ้นประสาทเวกัสไปกระตุ้นประสาทสมองเส้นที่ 5 (trigeminal nerve) พบว่า
ได้ผลดีเช่นกัน


แนะนำเอกสาร
1)  Ellis H.  (2006).  Clinical Anatomy.  Eleventh Edition.  Blackwell Publishing, Oxford, UK. 
     pp. 379-381.

2)  Neurology.  A Queen Square Textbook.  (2009).  Eds. Clarke C, Howard R, Rossor M, Shorvon S. 
     Wiley-Blackwell, UK.

3)  Meneses MS, Rocha SFB, Simao C, et al.  (2013).  Vagus nerve stimulation may be a sound
     therapeutic option in the treatment of refractory epilepsy.  Arq Neuropsiquiatr.  71 : 25-30.

4)  Terra VC, Nisyiama MA, Abrao J, et al.  (2012).  Epileptologists probe vagus nerve stimulation 
     in children with refractory epilepsy: a promise against sudden unexpected death in epilepsy.  
     Arq Neuropsiquiatr.  70 : 953-955.

5)  Melville ID.  (1982).  The medical treatment of epilepsy: A historical review.  In: Historical aspects
     of the neurosciences.  A Festschrift for Macdonald Critchley.  Eds. Rose FC, Bynum WE. 
     New York: Raven Press.  pp. 127-136.

6)  Bartmann AP, Sander JW.  (2013).  Epilepsy treatment: a paradigm shift is urgently needed. 
     Arq Neuropsiquiatr.  71 : 180-182.

7)  DeGiorgio CM, Soss J, Cook IA, et al.  (2013).  Randomized controlled trial of trigeminal nerve
     stimulation for drug resistant epilepsy.  Neurology.  80 : 786-791.

8)  Faught E, Tatum W.  (2013).  Trigeminal stimulation: A superhighway to the brain ? 
     Neurology.  80 : 780-781.

 

 

[ back ]