U (ชุดที่ 2) - Ulnar nerve palsy

Ulnar nerve palsy


        เส้นประสาทใหญ่ที่รับรู้ (sensory) และสั่งการ (motor) ของปลายแขนและมือของเรามีอยู่ 3 เส้น คือ
ประสาทมีเดียน (median) ตรงกลาง  ประสาทเรเดียล (radial) ด้านนอกและหลัง  และประสาทอัลนา (ulnar)
ด้านในซึ่งสั่งการกล้ามเนื้อของมือจำนวนมากที่สุด

        เส้นประสาทอัลนามาจากรากประสาทส่วนคอเส้นที่ 7, 8 และส่วนหน้าอกเส้นที่ 1 อยู่ด้านในของแขน
และที่บริเวณเหนือข้อศอกอยู่หลังปลายกระดูกต้นแขน ณ ที่นั้นอยู่ตื้นใต้ผิวหนังสามารถคลำได้ชัดเจน 
ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อแพทย์ในการวินิจฉัยโรค เช่น โรคเรื้อน  โรคอมายลอยด์ (amyloid) ที่ทำให้เส้นประสาทหนา
และโตขึ้น

        ขอแนะนำว่าการวินิจฉัยโรคอัมพาตประสาทอัลนาและตำแหน่งที่เกิดโรค ควรให้ความสำคัญของ    
พยาธิภาวะของเส้นประสาทสั่งการมากกว่าเส้นประสาทรับรู้เพราะในบางครั้งโดยเฉพาะถ้าอัมพาตเกิดช้าหรือ
ค่อย ๆ เกิดที่เรียก tardy palsy  อาการจากพยาธิภาวะเส้นประสาทรับรู้อาจมีน้อยมากจนตรวจได้ลำบาก 
นอกจากนี้การตรวจหากล้ามเนื้อที่เสียจะช่วยบอกตำแหน่งของรอยโรคได้ชัดเจน เช่น ถ้าอยู่ที่บริเวณข้อศอกต่อ
ปลายแขน (ภาษาละตินเรียก cubit) กล้ามเนื้อที่ปลายแขนที่ควบคุมด้วยประสาท  อัลนาจะไม่เสียเพราะ
แขนงที่ควบคุมกล้ามเนื้อเหล่านั้น (flexor carpi ulnaris และครึ่งในของ flexor digitorum profundus)
แยกออกเป็นแขนงไปควบคุมก่อนแล้ว แต่กล้ามเนื้อในมือทั้งหมดจะลีบอ่อนแรง ยกเว้นกล้ามเนื้อสั้นที่
กางนิ้วหัวแม่มือออก (abductor pollicis brevis) ที่เป็นปกติเพราะอยู่ในการสั่งการของประสาทมีเดียน  
สาเหตุของอัมพาตอัลนาที่บริเวณข้อศอกอาจเป็นจากการกดทับเส้นประสาทจากนั่งหรือนอนและวางแขนผิดท่า
ถ้าเพิ่งเริ่มเป็น จะมีอาการเหน็บชาที่ฝ่ามือด้านในนิ้วก้อยรวมทั้งนิ้วนางด้านในและหลังนิ้วมือเดียวกัน
ในรายที่เป็นเรื้อรังจากกระดูกข้อศอกหักตั้งแต่เด็กหรืออายุน้อยแล้ว 20-30 ปีต่อมามีอาการมืออ่อนแรง
ถ้าเป็นมือขวาก็เขียนหนังสือหรือเซ็นชื่อลำบาก ดังเช่น อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่เป็น
ปรมาจารย์และปูชนียบุคคลที่เป็นผู้ป่วยของศาสตราจารย์นายแพทย์สิระ บุณยะรัตเวช ผู้ขอให้ผู้เขียนช่วยดู
เป็น tardy ulnar palsy ที่หลังผ่าตัดย้ายที่ของเส้นประสาทที่กล่าว ไม่กี่เดือนก็หายเป็นปกติ

        ในกรณีของอัมพาตประสาทอัลนาแขนงลึกที่อยู่กลางฝ่ามือไม่มีประสาทรับรู้ มีแต่ประสาทสั่งการ
(pure motor) และกล้ามเนื้อที่อุ้งมือด้านในจะปกติมีแต่กล้ามเนื้อหุบนิ้วหัวแม่มือ (adductor pollicis)
และกล้ามเนื้อกาง (dorsal) และหุบ (palmar)  นิ้วชี้ นิ้วกลางและหลังนิ้วนาง (interossei) เท่านั้นที่ลีบเสีย 
พบในผู้มีอาชีพช่างที่ใช้กลางฝ่ามือกดไขควงเป็นประจำ ผู้เขียนเคยเห็นผู้ป่วยชาวอังกฤษที่สถาบันประสาท
ที่ลอนดอน ที่เป็นนักแสดงละครเป็นภาวะนี้จากการกำดาบนาน ๆ เป็นเดือนเป็นปีแสดงเรื่อง แมคเบธ (Macbeth)
ของ วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare)   ผลการตรวจดังกล่าวจะสามารถวินิจฉัยแยกโรคจาก
โรคเซลล์ประสาทสั่งการ (motor neuron disease) ได้โดยอาศัยความรู้ทางกายวิภาคตามที่กล่าวมา 
อนึ่ง การตรวจประสาทรับรู้ด้านในของฝ่ามือรวมนิ้วก้อยและครึ่งในของนิ้วนางและหลังมือด้านในของ
นิ้วทั้งสองแบบเดียวกันก็ช่วยได้มาก แต่การตรวจเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้าเพื่อยืนยันการวินิจฉัยเต็มที่
เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งถ้าจะส่งต่อให้ศัลยแพทย์ผ่าตัดและติดตามผลการรักษาต่อไป


แนะนำเอกสาร
1)  Ellis H.  (2006).  Clinical Anatomy.  Eleventh Edition.  Blackwell Publishing, Oxford, UK. 
     pp. 194-195.

2)  Boongird P.  (1996).  Compression and Entrapment Neuropathies.  Suvicharn Press.  Bangkok. 
     pp. 29-48.

 

 

[ back ]