L (ชุดที่ 2) - Lacunar stroke

Lacunar stroke
Leukoaraiosis

               
        คำ “stroke (สฺโทรคฺ)” ในภาษาอังกฤษมีความหมายได้หลายอย่าง เช่น การตี/จำนวนครั้งที่ตีหรือเล่นลูก 
การฟันหรือการกรรเชียงเรือพร้อมกัน เป็นต้น  ในทางการแพทย์นำคำมาใช้หมายถึง หลอดเลือดสมองแตก ตีบหรือ
อุดตัน เดิมดึกดำบรรพ์เชื่อกันว่า stroke หรือ apoplexy (แอ๊บ' เพอเพล็กสิ) เกิดจากฝีพระหัตถ์ของพระเจ้า !

        เมื่อเกือบ 60 ปีมาแล้ว ดาลส์การ์ด-นีลเซน (Dalsgaard-Nielsen) แพทย์ชาวเดนมาร์กศึกษาผู้ป่วยด้วย
apoplexy ถึง 1,000 รายไปจนถึงการตรวจศพ (autopsy) เพื่อเปรียบเทียบสาเหตุว่าหลอดเลือดแดงในสมองแตก
หรือตีบตันกับการวินิจฉัยทางเวชกรรมที่ให้ไว้พบว่า การให้การวินิจฉัยว่าหลอดเลือดแดงแตกถูกต้องเพียง
ร้อยละ 65  ในขณะที่วินิจฉัยสมองตาย (infarction) เพราะหลอดเลือดอุดตันถูกต้องเพียงร้อยละ 58 นอกจากนี้ยัง
พบว่าใน 16 รายสาเหตุของ apoplexy เป็นจากโรคอื่น ๆ อาทิ เลือดออกในเนื้องอกสมองโดยเฉพาะมะเร็งแพร่
กระจาย (metastasis) และก้อนเลือดขังใต้เยื่อดูรา (subdural haematoma) ปัจจุบันปัญหาการวินิจฉัยทางเวชกรรม
หมดไปจากการใช้การตรวจด้วย CT (computerized tomography) หรือ MRI (magnetic resonance imaging)
ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในทุกกรณี

        คำ “lacune” มาจากคำภาษาละติน “lacuna” แปลว่า รูหรือโพรงเล็ก ๆ ซึ่งดูรองด์-ฟาร์เดล (Durant-Fardel)
แพทย์ชาวฝรั่งเศสเป็นคนแรกที่ใช้คำนี้เมื่อ ค.ศ. 1843   ในปี ค.ศ. 1901 ปิแอร์-มารี (Pierre Marie) สานุศิษย์
คนโปรดของฌอง มาร์แตง ชาร์โก (Jean-Martin Charcot)  นำคำ état lacunaire (เอต้า ลากูแนร์) มาใช้ หมายถึง
สภาวะเรื้อรังของผู้ป่วยจากมีโพรงเล็ก ๆ ในสมองเป็นจำนวนมาก และในปีถัดมาเฟอร์รองด์ (Ferrand) ซึ่งเป็นแพทย์
ทำงานอยู่กับปิแอร์-มารีเป็นคนแรกที่ได้บรรยายลักษณะอาการทางเวชกรรมของผู้ป่วยด้วยสมองตายเป็นโพรงเล็ก ๆ
(lacunar infarction) ไว้  แต่บุคคลที่ควรได้รับการยกย่องเป็นอย่างยิ่งในเรื่องนี้คือ มิลเลอร์ ฟิเชอร์ ประสาทแพทย์
ผู้ยิ่งใหญ่ชาวแคนาดา ที่บอสตัน สหรัฐอเมริกา  คนเดียวกับกลุ่มอาการมิลเลอร์ ฟิเชอร์ ที่ผู้เขียนเคยกล่าวถึงแล้ว
ซึ่งเป็นผู้บุกเบิก ปฏิรูปความคิดความเข้าใจของแพทย์เกี่ยวกับหลอดเลือดเล็ก ๆ ในสมองพิการยังความก้าวหน้า
มาจนปัจจุบัน

        โพรงเล็ก ๆ ซึ่งเป็นผลจากสมองตายมักมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ถึง 10 มิลลิเมตร (มม.)
มีเพียงไม่ถึงร้อยละ 20 ที่ขนาดโตกว่าแต่ไม่เกิน 20 มม. และประมาณ 2 ใน 3  ถึง 3 ใน 4 รายมีความดันโลหิตสูง
ประสาทแพทย์ผู้สนใจเรื่องสโทรคควรศึกษาและเข้าใจพยาธิสภาพที่หลอดเลือดแดงเล็ก ๆ ที่อยู่ลึกในสมองและ
ลักษณะอาการต่าง ๆ ที่ขึ้นอยู่กับตำแหน่งรอยโรคซึ่งมิลเลอร์ ฟิเชอร์ เคยรายงานไว้ถึงกว่าสิบกลุ่มอาการหรือ
ซินโดรม (syndrome) เช่น pure motor hemiplegia, pure sensory hemiplegia และ homolateral ataxia with
crural paresis เป็นต้น  ปัจจุบันมีผู้สนใจโพรงเล็ก ๆ จากสมองตายเกี่ยวกับหน้าที่ของสมองด้านประชาน
(cognition) และศึกษาการเกิดรอยโรคแบบนี้ในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดในสมองแตกเฉียบพลัน

        คำ “Leukoaraiosis” เป็นคำใหม่ที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปนับตั้งแต่วลาดิเมียร์ ฮาชินสกี (Vladimir Hachinski) ศาสตราจารย์ทางประสาทวิทยาที่มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออนแทรีโอ แคนาดา เป็นผู้เสนอใช้เมื่อปี ค.ศ. 1987 ซึ่งเป็น
คำที่มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคือ leuko (ลูโค) แปลว่า ขาว  + aria (อ่าน อะริ) แปลว่า บาง (rarified) และ
- osis แปลว่า มากเกิน ซึ่งเป็นคำที่ฮิปโปเครติส (Hippocrates) เคยใช้เรียกภาวะปอดมีรูพรุนมากเกิน

        การถ่ายภาพสมองด้วย CT และ MRI ในปัจจุบันนอกจากช่วยในการวินิจฉัยเนื้อสมองตายเพราะขาดเลือดเป็น
รอยโรคแบบโพรงเล็ก ๆ แล้วยังช่วยให้แพทย์เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เนื้อสมองสีขาว (cerebral white matter)
ที่มักพบในผู้สูงอายุและผู้มีความดันเลือดสูงมานาน  การศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้พบความสัมพันธ์โดยตรงระหว่าง
ความดันเลือดตัวบน (systolic) และ myelin เสียซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่จะพบการเปลี่ยนแปลงในผนังของหลอดเลือด
แดงสมองโดยการถ่ายภาพสมองด้วยวิธี diffusion tensor imaging (DTI)


แนะนำเอกสาร
1)  สฤษดิคุณ กิติยากร.  (2550).  พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย.  พิมพ์ครั้งที่ 4 ฉบับปรับปรุงใหม่.
     สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.  หน้า 683.

2)  Dalsgaard-Nielsen T.  (1956).  Some clinical experience in the treatment of cerebral apoplexy
     (1000 cases).  Acta Psychiatrica Scandinavica.  Suppl 108 : 101. 
     
3)  Gautier JC.  (1976).  Cerebral ischaemia in hypertension.  In: Cerebral Arterial Disease.  
     Ed. RW Ross Russell.  Edinburgh: Churchill Livingstone.  pp. 181-209.

4)  Fisher CM.  (1965).  Lacunes, small deep cerebral infarcts.  Neurology.  15 : 774-784.

5)  Caplan LR.  (2000).  Penetrating and branch artery disease.  In: Caplan’s Stroke.  A clinical
     approach.  Third Edition.  Boston: Butterworth Heinemann.  pp. 229-245.

6)  Jacova C, Pearce LA, Costello R, et al.  (2012).  Cognitive impairment in lacunar strokes: 
     The SPS 3 Trial.  Ann Neurol.  72 : 351-362.

7)  Kang DW, Han MK, Kim HJ, et al.  (2012).  New ischemic lesions coexisting with acute intracerebral
     hemorrhage.  Neurology.  79 : 848-855.

8)  Hachinski VC, Potter P, Merskey H.  (1986).  Leuko-araiosis: an ancient term for a new problem. 
     Can J Neurol Sci.  13 (4 Suppl) : 533-534.

9)  Hachinski V, Potter P, Merskey H.  (1987).  Leuko-araiosis.  Arch Neurol.  44 : 21-23.

10) Maillard P, Seshadri S, De Carli C, et al.  (2012).  Effects of systolic blood pressure on white matter
      integrity in young adults in the Framingham Heart Study: A cross-sectional study.  Lancet Neurol. 
      11 : 1039-1047.

 

 

[ back ]