J (ชุดที่ 2) - Jugular Foramen

Jugular Foramen
    (อ่าน  จั๊ก' กิวละ  ฟอ' เรเมน)
Jugular Foramen Syndrome

     
        ที่ฐานกระโหลกศีรษะมีรูหรือช่องให้อวัยวะที่สำคัญผ่านเพื่อเชื่อมต่อศีรษะกับลำตัวคือ ระบบประสาท
หลอดเลือดแดงและดำ  ช่องใหญ่ตรงกลาง (foramen magnum) มีช่องเดียวที่ประสาทไขสันหลังผ่านเข้าไปเป็น
ก้านสมอง  ช่องเล็กกว่ามีสองช่องคือ ข้างซ้ายและขวาคู่กันที่ลำคอเรียก jugular foramen (JF) ซึ่งแต่ละข้างมี
หลอดเลือดดำภายใน (internal jugular vein) ที่สำคัญนำเลือดจากสมองลงกลับเข้าหัวใจและยังมีเส้นประสาท
ศีรษะ 3 เส้นคือ เส้นที่ 9, 10 และ 11 ผ่าน  ในคนส่วนใหญ่ช่องข้างขวามีขนาดโตกว่าข้างซ้าย ไม่มีหลอดเลือดแดง
ที่สำคัญนำเลือดไปเลี้ยงสมองผ่านช่องนี้

        หลอดเลือดดำที่ลำคอที่กล่าวถึงอยู่ไม่ลึก  ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์จากการทำวิจัยเรื่องวัดการไหลเวียน
ของเลือดในสมอง (cerebral blood flow) ต้องเจาะหลอดเลือดดำภายในที่คอข้างขวาหลังใบหูเป็นประจำซึ่ง
ทำได้ง่ายและปลอดภัย  กลุ่มอาการช่องที่ลำคอ (JF syndrome) จึงมีสองกลุ่มคือ อาการจากภาวะมีลิ่มเลือด
(thrombosis) ในหลอดเลือดดำที่กล่าวกลุ่มหนึ่ง และพยาธิสภาพที่เส้นประสาท 3 เส้นอีกกลุ่มหนึ่ง

        ภาวะมีลิ่มเลือดอุดตันทำให้ความดันน้ำหล่อสมองสูงขึ้นมากได้ ผู้ป่วยปวดศีรษะ ตามัวจากจานประสาท
ตาบวม (papilloedema)  ส่วนกลุ่มอาการจากเส้นประสาทผิดปกติมักได้แก่ เนื้องอกชนิด  ต่าง ๆ เช่น neurinoma,
meningioma, epidermoid (cholesteatoma) และที่แปลกแต่ควรทราบก็คือ glomus tumour หรือ chemodectoma
ซึ่งพบได้น้อยมาก  ผู้เขียนเคยเห็นเพียงรายเดียวขณะเป็นนักศึกษาแพทย์แต่เพื่อนประสาทศัลยแพทย์คงมี
ประสบการณ์มากกว่าแน่  เนื้องอกชนิดนี้มักจะเกิดที่ carotid body แต่บางครั้งเกิดผิดที่ไปเกิดที่หูชั้นในหรือรอบ ๆ
เส้นประสาทศีรษะที่ 9 และ 10 เนื่องจากเป็นเนื้องอกที่มีเลือดหล่อเลี้ยงมากจึงทำลายกระดูกข้างเคียง เช่น
petrous temporal bone บางครั้งจึงพบเป็นก้อนเล็ก ๆ สีแดงในช่องหูชั้นนอก (external auditory canal) 
เนื้องอกชนิดต่าง ๆ ที่กล่าวรวมทั้ง glomus jugulare tumour มักแสดงออกโดยมีประสาทศีรษะเส้นที่ 9, 10 และ
11 เสีย ซึ่งรู้จักกันในชื่อกลุ่มอาการของแวร์เน่ (ชาวฝรั่งเศส) หรือ Vernet’s syndrome โดยก้อนเนื้องอกอยู่ใน
กระโหลกศีรษะ ถ้าตรวจพบประสาทศีรษะเส้นที่ 12 เสียหรือมีกลุ่มอาการฮอร์เนอร์ (Horner’s syndrome)
จากประสาทซิมพาเทติก (sympathetic) ที่คอเสียที่ข้างนั้นก้อนเนื้องอกต้องอยู่นอกกระโหลกศีรษะ  สุดท้ายผู้เขียน
เคยได้รับคำบอกเล่าจากครูซึ่งเป็นปรมาจารย์ทางประสาทวิทยาชาวอังกฤษว่า neurinoma เกิดขึ้นที่ประสาทศีรษะ
เส้นที่ 12 บ่อยที่สุดในบรรดาเส้นประสาท 4 เส้นหลังคือ 9 ถึง 12 และผู้ป่วยมักจะเป็นหญิงสาวอายุน้อยและ
เป็นที่ข้างซ้ายบ่อยกว่าข้างขวาถึง 10 เท่า ซึ่งพ้องกับตำราที่อ้างถึงที่บังเอิญเขียนโดยเพื่อนของผู้เขียนซึ่งมี
ครูเดียวกัน !


แนะนำเอกสาร
1)  Wikipedia.  (2012).  Jugular Foramen.

2)  Vejjajiva A, Kashemsant U, Chipman M, Biggers WH.  (1971).  Combined effect 
      of carbondioxide and acetazolamide on cerebral blood flow in occlusive cerebrovascular disease. 
      J Med Assoc Thai.  54 : 91-96.

3)  Vogl TJ, Bisdas S.  (2009).  Differential diagnosis of jugular foramen lesions.
      Skull Base.  19 : 3-16.

4)  Caldemeyer KS, Matthews VP, Azzarelli B, et al.  (1997).  The jugular foramen: a review of anatomy,
      masses, and imaging characteristics.  Radiographics.  17 : 1123-1139.           

5)  Patten J.  (1977).  Neurological Differential Diagnosis.  UK: Harold Stark Ltd.  pp. 53-57.    

 

[ back ]