E (ชุดที่ 2) - Essential Tremor

Essential Tremor
    (อ่าน  อิเซ็น' เชิล  เทรม' เมอ)


        Essential  แปลว่า จำเป็น ซึ่งขาดเสียมิได้ สำคัญที่สุด หรือเป็นพื้นฐาน  แต่ศัพท์แพทย์ หมายถึง
ไม่ทราบสาเหตุ เท่าที่ใช้กันอยู่ดูเหมือนจะมีอยู่ 2 โรค คือ Essential Hypertension (EH) และ Essential Tremor
(ET) ในที่นี้จะว่าถึง ET ส่วน EH จะได้เขียนถึงในโอกาสอื่น

         ET หรือโรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ เป็นโรคระบบประสาทที่พบได้บ่อยมากและเป็นที่รู้จักกันมานานแล้ว 
อาการเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุน้อยไม่ถึง 20 ปี หรือเริ่มเมื่ออายุมากแล้ว มักเป็นที่มือ  อาการสั่นเป็นมากขึ้นเมื่องอแขน
และใช้มือจับของ เช่น ยกถ้วยน้ำหรือใช้ช้อนตักน้ำแกงหรือข้าวเข้าปาก เป็นทั้ง 2 ข้าง ผิดกับอาการสั่นที่พบในผู้ป่วย
โรคพาร์กินสันที่อยู่เฉย ๆ ก็สั่นและอัตรามือสั่นช้ากว่าใน ET ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการสั่นที่คอและเสียงที่พูด
ก็สั่นด้วย  อาการสั่นมักปรากฏชัดมากขึ้นตามวัยแต่ผู้ที่เป็นโรคนี้มีอายุยืนไม่ต่างกับคนปกติในวัยเดียวกัน 
ประวัติพันธุกรรมดูจะมีผลบ้างส่วนปัจจัยเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม เช่น สารตะกั่ว สารฮาร์เมน (harmane) และฮาร์มีน
(harmine) ก็มีผู้ศึกษาแต่ยังสรุปไม่ได้แน่ชัด

         ผู้ป่วย ET เป็นจำนวนมากไม่ต้องการยารักษาและปล่อยให้เป็นไปตามวัย  ผู้ป่วยเป็นจำนวนไม่น้อยทราบดีว่า
หลังจากดื่มเหล้าองุ่น (ไวน์) หรือเบียร์สักแก้วอาการจะดีขึ้นมาก  ส่วนผู้ป่วยที่เดือดร้อนเพราะ ET แพทย์ควรใช้ยา Propranolol ซึ่งเป็น beta-adrenergic blocker ที่ได้ผลดีพอสมควรและดีกว่ายาในกลุ่มนี้ตัวอื่นเพราะ Propranolol
ออกฤทธิ์ที่เซลล์ประสาทส่วนกลางด้วย   ยาอีกตัวที่ได้ผลก็คือ Primidone ซึ่งเป็นยากันชักที่พบโดยบังเอิญโดย
นายแพทย์ไมเคิล โอไบรน์ (Dr. Michael D. O'Brien) ประสาทแพทย์ชาวอังกฤษที่โรงพยาบาลกายส์เมื่อ 30 ปี
มาแล้ว  Primidone เมื่อเข้าไปในร่างกายจะถูกแปรรูป (metabolized) เป็น phenylethyl malonamide และ phenobarbital  สารตัวแรกเป็นสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งอาการสั่นไม่ใช่ phenobarbital เพราะฉะนั้นแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยอย่า
ไปใช้ phenobarbital แทน Primidone

         ผู้ป่วย ET ที่มีอาการสั่นรุนแรงมีน้อยมากและการรักษาด้วยการกระตุ้นสมอง (Deep Brain Stimulation)
ที่ทาลามัส (thalamus) โดยการฝังอิเล็คโทรดในบริเวณ ventral intermediate nucleus ได้ผลดี

         ก่อนจบผู้เขียนขอถือโอกาสเล่าถึงนายแพทย์โอไบรน์และหน่วยประสาทวิทยาที่กายส์ ซึ่งนายแพทย์
เซอร์ ชาลส์ ซัยมอนดส์ (Sir Charles Symonds) ปรมาจารย์ทางวิชานี้ที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก และเป็นอาจารย์แพทย์
ที่ปรึกษาที่สถาบันประสาทวิทยาควีนสแควร์ด้วยเป็นประสาทแพทย์คนแรก  เมื่อผู้เขียนเป็นนักศึกษาแพทย์ปีที่ 4
ยังมีโอกาสได้เรียนที่ ward round ของท่านเดือนละครั้งเพราะท่านเกษียณอายุแล้ว คงมีแต่นายแพทย์ไมเคิล
แมคคาร์เดิล (Dr. Michael McArdle) และนายแพทย์เอียน แมคเคนซี (Dr. Ian McKenzie) 2 ท่านเป็นอาจารย์  
ผู้ที่มาแทน 2 ท่านหลังก็คือ นายแพทย์ริชาร์ด ฮิวจส์ (Richard Hughes) และนายแพทย์ไมเคิล โอไบรน์
(Michael D. O'Brien) ซึ่งทั้งคู่เป็นเพื่อนกัน จบที่กายส์หลังผู้เขียน 6-7 ปี และได้เคยแวะมาเยี่ยมที่รามาธิบดี
เมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว  ส่วนผู้เขียนก็เคยไปเยี่ยมหน่วยประสาทวิทยาที่กายส์เมื่อ 4 ปีก่อน  ริชาร์ดมีชื่อเสียงมาก
เรื่อง AIDP (acute inflammatory demyelinating polyneuropathy) ส่วนไมเคิลมีชื่อทางการไหลเวียนของเลือด
ในสมอง  ทั้งคู่เป็นนักวิจัยระดับโลกแต่เป็น clinician และครูแพทย์ที่ดีมาก  ปัจจุบันทั้งสองคนเกษียณอายุแล้วเช่นกัน


แนะนำเอกสาร
1)  Essential.  พจนานุกรม อังกฤษ-ไทย.  พิมพ์ครั้งที่ 4 ฉบับปรับปรุงใหม่ (พ.ศ. 2550). 
     ม.ร.ว. สฤษดิคุณ  กิติยากร.  หน้า 200.

2)  Essential.  Merriam Webster’s Medical Desk Dictionary (1996).  Merriam-Webster Inc., U.S.A.  p. 255.

3)  Essential.  ศัพท์แพทย์ศาสตร์ อังกฤษ-ไทย  ไทย-อังกฤษ.  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (แก้ไขเพิ่มเติม).
     พิมพ์ครั้งที่ 3.  (พ.ศ. 2547).  หน้า 126.

4)  Louis ED.  (2005).  Essential tremor.  Lancet Neurol.  4 : 100-110.           

5)  O’Brien MD, Upton AR, Toseland PA.  (1981).  Benign familial tremor treated with primidone. 
     BMJ.  282 : 178-180.

 

[ back ]