D (ชุดที่ 2) - Dementia with Lewy Bodies (DLB)

Dementia with Lewy Bodies (DLB)
F.H. Lewy  (1885-1950)


        ปัจจุบันเมื่อพูดถึงอาการหรือโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุคนส่วนใหญ่จะเหมารวมว่าเป็น “อัลไซเมอร์” 
(ที่ถูกต้องควรเขียน “อัลซ์ไฮเมอร์”) แต่โดยความเป็นจริงแล้วยังมีโรคอื่นอีกที่ควรทราบ เช่น โรคสมองเสื่อม
เลวี บอดี (Lewy Body Disease) เป็นต้น

        เมื่อไม่นานมานี้ ในประเทศฟินแลนด์มีการศึกษาวิจัยสาเหตุสมองเสื่อมในผู้สูงอายุพบว่า ชนิดที่มีเลวีบอดี
(Dementia with Lewy Bodies หรือ DLB) พบได้เป็นอันดับสอง พอ ๆ กับสมองเสื่อมเหตุหลอดเลือด
(vascular dementia)  DLB มีลักษณะอาการทางเวชกรรมที่พอจะช่วยแยกจากโรคอัลซ์ไฮเมอร์ (AD) ได้
กล่าวคือ อาการทางจิตพิสัย (affective domain) อาจเป็นอาการเริ่มแรก เช่น อาการเห็นภาพหลอน สับสน เพ้อ
อาการผิดปกติทางพละหรือจลนพิสัย (psychomotor domain) เช่น หกล้มบ่อย ๆ  ทรงตัวลำบาก  แขนขาแข็ง ๆ
เกร็ง ๆ คล้ายผู้ป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน จนบ่อยครั้งผู้ป่วยด้วยโรคนี้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคพาร์กินสันไปตลอด 
อาการซึมเศร้าและภาวะเสียการรู้กลิ่น (anosmia) เป็นอาการที่พบในผู้ป่วย DLB ได้บ่อยกว่าในผู้ป่วย AD 
อาการหมดสติเป็นครั้งคราวบางครั้งเป็นอาการนำผู้ป่วย DLB มาพบแพทย์ แต่การวินิจฉัยที่สำคัญที่สุดก็คือ 
การตรวจทางพยาธิวิทยา ลักษณะที่พบคือ อินคลูชันบอดีในซัยโตพลาสัมของเซลล์ประสาทที่มีลักษณะกลมและ
ย้อมติดสีอีโอสิน  ในเซลล์เปลือกสมองควรใช้การย้อมสีด้วยวิธีอิมมูโนเคมีโดยใช้แอนติบอดีต่อยูบิควิติน (ubiquitin)
จะทำให้เห็นได้ชัดและง่ายขึ้น  การศึกษาจากการชันสูตรศพผู้สูงอายุที่มีสมองเสื่อมร้อยละ 15 ถึง 30 เป็นโรค DLB  
ผู้ชายดูจะเป็น DLB มากกว่าผู้หญิง และการดำเนินของโรค DLB เร็วกว่า AD  ผู้เขียนขอจบด้วยการกล่าวถึงประวัติ
ของเลวีโดยสังเขป

        ฟรีดริช ไฮน์ริช เลวี (Friedrich Heinrich Lewy) เป็นชาวยิว เกิดที่นครเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
เมื่อ ค.ศ. 1885  บิดาเป็นแพทย์  ฟรีดริชศึกษาแพทย์ที่เบอร์ลินและที่ซูริค ประวัติการฝึกอบรมต่อจากนั้นไม่แน่ชัดนัก
แต่ที่แน่ ๆ ก็ดูเหมือนจะสนใจและเคยปฏิบัติงานอยู่กับอลัวส์ อัลซ์ไฮเมอร์ 2-3 ปี  เลวีรายงานเกี่ยวกับอินคลูชั่น บอดีส์ (inclusion bodies) ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ซึ่งต่อมาแพทย์ทั่วไปรู้จักกันในชื่อของเขา  เลวีทำงานที่สถาบันประสาท
วิทยาที่เริ่มเปิดทำการในปี ค.ศ. 1932 ได้เพียงปีเดียวก็ถูกเนรเทศ  เลวีไปอยู่ที่อังกฤษช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วจึงไป
อยู่ที่เพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา เปลี่ยนชื่อเป็น เฟรดเดอริค เลวีย์ (Frederick Lewey) จนถึงแก่กรรมเมื่อ
ปี ค.ศ. 1950


แนะนำเอกสาร
1)  Rahkonen T, Eloniemi-Sulkava U, Rissanen S, et al.  (2003).  Dementia with Lewy bodies according to
     the consensus criteria in a general population aged 75 years or older.  J Neurol Neurosurg 
     Psychiatry.  74 : 720-724.

2)  Schneider JA, Arvanitakis Z, Bang W, Bennett DA.  (2007).  Mixed brain pathologies account for most
     dementia cases in community-dwelling older persons.  Neurology.  69 : 2197-2204.

3)  Whitwell JL, Weigand SD, Shiung MM, et al.  (2007).  Focal atrophy in dementia with Lewy bodies
     on MRI: a distinct pattern from Alzheimer’s disease.  Brain.  130 : 708-719. 
 
4)  Kantarci K, Ferman TJ, Boeve BF, et al.  (2012).  Focal atrophy on MRI and neuropathologic
     classification of dementia with Lewy bodies.  Neurology.  79 : 553-560.

5)  Olichney JM, Murphy C, Hofstetter CR, et al.  (2005).  Anosmia is very common in the Lewy body
     variant of Alzheimer’s disease.  J Neurol Neurosurg Psychiatry.  76 : 1342-1347.

6)  Ferman TJ, Boeve BF, Smith GE, et al.  (1999).  REM sleep behavior disorder and dementia.  
     Cognitive differences when compared with AD.  Neurology.  52 : 951-957.

7)  Robinson R.  (2012).  Unraveling the mechanisms of REM sleep paralysis – with insights into other
     neurodegenerative disorders.  Neurology Today.  12 : 36-38.

8)  Holdorff B.  (2002).  Friedrich Heinrich Lewy (1885-1950) and his work.  J Hist Neurosci.  11 : 19-28.

 

[ back ]