A (ชุดที่ 2) - Addison's disease

Addison’s disease
Thomas Addison
(1793-1860)


         มีรายงานโรคแอดดิสันหรือโรคเปลือกต่อมหมวกไตปฐมภูมิเป็นครั้งแรกโดย โธมาส แอดดิสัน
อายุรแพทย์ชาวอังกฤษจากโรงพยาบาลกายส์ (Guy’s) เมื่อปี ค.ศ. 1855 ผู้ป่วยเป็นวัณโรคที่อวัยวะนั้น 
ปัจจุบันเชื่อว่าโรคนี้มีความชุกประมาณ 120 ต่อประชากรหนึ่งล้านคน  แต่อัตราการเกิดกำลังเพิ่มขึ้น
ร้อยละ 75 ของผู้ป่วยโรคแอดดิสันเกิดจากโรคภูมิต้านตนเอง (auto-immune) ส่วนที่เหลือมีโรคติดเชื้อชนิดต่าง ๆ
โรคมะเร็งทุติยภูมิและโรคพันธุกรรม เช่น adrenomyeloneuropathy

         ผู้เขียนจำได้ดีว่า เมื่อเมษายน ค.ศ. 1956 เริ่มขึ้นหอผู้ป่วยหรือวอร์ด (ward) เรียนชั้นคลินิกที่กายส์
ทางศัลยกรรมก็มีชื่อ วอร์ด แอสลีย์ คูเปอร์ (Astley Cooper)   ส่วนทางอายุรกรรมผู้ป่วยจะอยู่ในวอร์ดชื่อ
แอดดิสัน ไบรท์ (Bright)  กัลล์ (Gull) และวิลค์ส (Wilks) ซึ่งล้วนแต่เป็นแพทย์ของโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียง
เป็นอมตะ  ศัลยแพทย์ทั่วโลกก็ยังใช้ชื่อ Cooper’s ligament   อายุรแพทย์ปัจจุบันคงจะรู้จักโรคไตเรื้อรัง (Bright) 
ส่วนเซอร์ วิลเลียม กัลล์ ดูเหมือนจะเป็นคนแรกที่รายงานโรคเบื่ออาหารเหตุจิตใจ (anorexia nervosa) และ
โรคพร่องไทรอยด์ (myxoedema)  ทั้งนี้ยังไม่มีวอร์ดชื่อ โธมาส ฮอดจ์กิน ซึ่งเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลในยุคเดียวกัน
ชื่อวอร์ดเป็นแรงดลใจให้นักศึกษาแพทย์อยากเรียน  ยิ่งเมื่อครูพาพวกเราไป round แล้ว ดูผู้ป่วยที่เป็นโรคเหล่านี้
มิหนำซ้ำ round เสร็จยังพาพวกเราไปดู specimens ที่พิพิธภัณฑ์กอร์ดอน ที่เก็บดองไว้จากผู้ป่วยรายแรก ๆ ทำให้
ผมติดตาติดใจมาจนปัจจุบัน !   ยังจำได้ว่าลักษณะอาการโรคแอดดิสันที่สำคัญ มี 3 เอ (A) และ 2 เอช (H) คือ
asthenia (ไม่มีแรง)  anorexia (คลื่นไส้) และ abdominal pain (ปวดท้อง) ซึ่งเท่าที่ทราบ  ปัจจุบันก็ยังไม่ทราบ
แน่ว่า ทำไมผู้ป่วยถึงปวดท้อง  ส่วน 2 เอช ก็ได้แก่ ผิวคล้ำผิดปกติ (hyperpigmentation) และแรงดันเลือดต่ำ
(hypotension) ยังจำได้ว่าครูบอกว่า วินิจฉัยโรคแอดดิสันในแอฟริกาและเอเชียลำบากเพราะอาศัยเอชแรกไม่ได้ !

         ผมจะไม่กล่าวเกี่ยวกับโรคเพิ่มเติมอีก เพราะเคยกล่าวไว้แล้วและได้แนะนำเอกสารไว้อีกด้วยแต่ขอพูดถึง
ประวัติโธมาส แอดดิสัน เพิ่มเติม

         แอดดิสันเกิดที่ Long Benton เมืองนิวคาสเซิล (Newcastle-upon-Tyne)  บิดาเป็นเจ้าของร้านชำเล็ก ๆ
แอดดิสันเติบโตและเรียนหนังสือชั้นประถมและมัธยมที่นั่น  เป็นคนเรียนเก่งโดยเฉพาะภาษาละติน  เข้าเรียนแพทย์
ที่มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ เมื่อสำเร็จแล้วไปฝึกงานที่ลอนดอน บังเอิญไปเป็นศิษย์ของโธมาส เบทแมน (Bateman)
ตจแพทย์ที่มีชื่อมากในยุคนั้น แอดดิสันจึงสนใจโรคผิวหนังเรื่อยมา  แอดดิสันได้รับแต่งตั้งให้เป็นอายุรแพทย์และ
อาจารย์บรรยายวิชาทางยารักษาโรค (materia medica)  รุ่นใกล้เคียงกับริชาร์ด ไบรท์ ทั้งสองจึงสนิทสนมกันมาก
ถึงแม้นิสัยจะต่างกัน  ในขณะที่ไบรท์ซึ่งมีฐานะดีและเป็นคนร่าเริง แต่แอดดิสันเป็นคนที่ขี้อาย ขรึม แต่เป็นครูที่เก่ง
มาก  แอดดิสันรอบรู้เกี่ยวกับโรคทางอายุรกรรมหลายชนิดแต่ที่รู้จักกันนอกจากโรคต่อมหมวกไตก็คือ โรคโลหิตจาง   แอดดิสัน (Addisonian หรือ pernicious anaemia)   ด้วยความสนใจในเรื่องโรคผิวหนังดังที่กล่าวมาแล้ว แอดดิสันจึงเป็นผู้เริ่มก่อตั้งภาควิชาตจวิทยาที่กายส์  เคยเขียนเกี่ยวกับเรื่อง xanthoma planum et tuberosum ซึ่งเป็นผล
เนื่องจากโคเลสเตรอลในเลือดสูง ร่วมกับวิลเลียม กัลล์ และโรคผิวหนังอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง  ปัจจุบันภาควิชา
โรคผิวหนังที่กายส์ ยังมีหุ่นขี้ผึ้งจำลองโรคผิวหนังต่าง ๆ ที่เป็นผลงานของแอดดิสันอยู่

         แอดดิสันเป็นโรคซึมเศร้า น่าเสียดายที่สมัยนั้นไม่มียารักษาจึงจบชีวิตด้วยการโดดตึกตายที่บ้านพัก

         เซอร์ แซมวล วิลค์ส (Sir Samuel Wilks) ซึ่งเป็นอายุรแพทย์รุ่นน้อง (1824-1911) ที่กายส์   ผู้เคยรายงาน
โรค ulcerative colitis เป็นคนแรก  ชื่นชมและเคารพนับถือแอดดิสันมาก กล่าวสดุดีไว้ว่า  แอดดิสันเป็นอายุรแพทย์
ผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค


แนะนำเอกสาร
1)  อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ.  (2544).  ชายหนุ่มผิวคล้ำอ่อนเพลียง่าย แต่ขาแข็ง.  ใน หนังสือเรียนอายุรศาสตร์
     จากกรณีผู้ป่วย เล่ม 1.  กรุงเทพฯ: บริษัท ซิล์คโรดพับบลิเชอร์เอเยนซี จำกัด.  หน้า  147-157.

2)  Bleicken B, Hahner S, Ventz M, Quinkler M.  (2010).  Delayed diagnosis of adrenal insufficiency is common:
      a cross-sectional study in 216 patients.  Am J Med Sci.  339 : 525-531.

3)  Ankcorn M, Nag S.  (2012).  Addison disease masked by long term exogenous steroid treatment for presumed
      polymyalgia rheumatic.  Clinical Medicine.  12 : 89-90.

4)  Mukherjee S, Newby E, Harvey JN.  (2006).  Adrenomyeloneuropathy in patients with  'Addison’s 
     disease': genetic case analysis.  J R Soc Med.  99 : 245-249.

5)  Lourenco CM, Simao GN, Santos AC, Marcques Jr. W.  (2012).  X-linked adrenoleukodystrophy in
     heterozygous female patients: women are not just carriers.  Arq Neuropsiquiatr.  70 : 487-491. 

6)  Pearce JMS.  (2004).  Thomas Addison (1793-1860).  J R Soc Med.  97 : 297-300.

7)  Hay D.  (2004).  Addison and Bright at the St Alban’s Club.  J R Soc Med.  97 : 412.


 

 

[ back ]