R (ชุดที่ 1) - Romberg's sign

ในการตรวจร่างกายทางระบบประสาทนอกจากมองหาสัญญาณบาบินสกี (Babinski) แล้ว  ยังมีสัญญาณโรคอีกอย่างหนึ่งที่มีชื่อบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์การแพทย์ที่เป็นผู้ค้นพบถูกใช้เรียกเป็นชื่อคือ รอมแบร์ก (Romberg) การทดสอบนี้ให้ผู้ป่วยยืนตรง เท้าชิดกันและหลับตา ถ้าผู้ป่วยเซและล้มลงถือว่าการรับรู้อากัปกิริยา (proprioceptive sense) เสีย ซึ่งรอมแบร์กถือเป็นเอกลักษณ์ของโรคประสาทไขสันหลังส่วนหลังเสื่อมจากสิฟีลิส (syphilis เรียก tabes dorsalis)  ปัจจุบันโรคอะไรที่ทำให้ประสาทไขสันหลังส่วนหลัง (dorsal column) หรือประสาทส่วนปลายที่รับรู้อากัปกิริยาเสียก็จะมีสัญญาณโรคของรอมแบร์กเช่นกัน เช่น ภาวะขาดวิตามินบี 12 และโรคมัลติเปิล สเคอโรสิส เป็นต้น

มอริทซ์ รอมแบร์ก (Moritz Romberg) เป็นชาวเยอรมันเกิดที่เมืองไมนิงเงิน (Meiningen) หรือทือริงเงิน (Thuringen) เมื่อ ค.ศ. 1795 ศึกษาแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน  จบเป็นบัณฑิตเมื่อ ค.ศ. 1817  สนใจปฏิบัติงานรวมทั้งศึกษาค้นคว้าทางประสาทวิทยาและพยาธิวิทยา จนที่สุดได้เป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยนั้น  รอมแบร์กประทับใจในผลงานของชาร์ลส์ แบล (Charles Bell) มากถึงขนาดแปลหนังสือภาษาอังกฤษที่แบลเขียนเป็นภาษาเยอรมัน  รอมแบร์กเป็นคนแรกในโลกที่เขียนตำราประสาทวิทยาอย่างสมบูรณ์โดยใช้เวลาถึง 6 ปี และพิมพ์เป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1846 ต่อมาพิมพ์อีก 3 ครั้ง  ครั้งที่สามเมื่อ ค.ศ. 1857  ส่วนสัญญาณโรคที่กล่าวปรากฏเป็นครั้งแรกในการพิมพ์ครั้งที่สอง  อนึ่ง ควรทราบด้วยว่า โทมัส วิลลิส (Thomas Willis) แพทย์ชาวอังกฤษผู้เป็น  "เจ้าของ" circle of Willis ในสมอง เป็นคนที่บัญญัติศัพท์ "neurologie" หรือ doctrine of the nerves ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1664  ส่วนฌอง-มาร์แตง ชาร์โก (Jean-Martin Charcot) ปรมาจารย์ประสาทแพทย์ชาวฝรั่งเศส ได้รับ
แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ทางประสาทวิทยาคนแรกในโลกเมื่อ ค.ศ. 1882

นอกจากสัญญาณโรคที่โด่งดังแล้วรอมแบร์กยังเป็นคนแรกที่เขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง achondroplasia และอีกโรคที่พบได้น้อยแต่มีชื่อรอมแบร์กติดอยู่ด้วยกับแพทย์ชาวอังกฤษจากเมืองบาธ (Bath) คือ คาเล็บ ฮิลเลียร์ เพอร์รี (Caleb Hillier Parry) ซึ่งเป็นคนแรกที่เขียนเรื่องใบหน้าครึ่งซีกแฟบ (Facial hemiatrophy) และได้รับการตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1825 หลังเพอร์รีถึงแก่กรรม ส่วนเรื่องนี้ที่รอมแบร์กเขียนปรากฏในปี ค.ศ. 1846  ปัจจุบันก็ยังนิยมเรียกชื่อกลุ่มอาการเพอร์รี รอมแบร์ก  โรคนี้หายากเมื่อไม่นานมานี้มีผู้รายงานใช้อินเทอร์เน็ตทำวิจัยทางเวชกรรมลักษณะอาการผู้ป่วยถึง 205 ราย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก


เอกสารอ้างอิง
1.  Keppel-Hesselink JM, Koehler PJ.  Romberg's sign.  In: Neurological Eponyms.  
     Eds. Koehler PJ, Bruyn GW, Pearce JMS.  Oxford University Press.  Oxford  
     2000; pp.166-71.

2.  Pryse-Phillips W.  Companion to Clinical Neurology.  Little, Brown and   
     Company.  1995; pp.759-60.

3.  Stone J.  Parry-Romberg syndrome: a global survey of 205 patients using the 
     Internet.  Neurology  2003; 61: 674-76.

 

[ back ]